วันศุกร์ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ซีพีออลล์ย้ำไม่เพิ่มทุน


ซีพีออลล์ย้ำไม่เพิ่มทุน
10 พฤษภาคม 2556
KTB-BBL’ร่วมปล่อยกู้ โชว์กำไรไตรมาส 1/56 กว่า 3.18 พันล้าน “ก่อศักดิ์” ยันในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า “ซีพี ออลล์” ไม่ต้องเพิ่มทุน การันตียังจ่ายปันผลต่อเนื่อง และจะเพิ่มขึ้นในทุกๆ ปี ส่วนสถาบันการเงินที่ร่วมปล่อยสินเชื่อมีเพิ่มอีก 2 แห่ง คือ “กรุงไทย” (KTB) และ “กรุงเทพ” (BBL) พร้อมมีระยะเวลาชำระคืนเงินกู้มากขึ้น ดอกเบี้ยต่ำ ด้าน “ดร.นิเวศน์” ย้ำถือเป็นดีลสุดคุ้ม ส่วนไตรมาส 1/56 มีกำไรสุทธิกว่า 3.18 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 15% นายก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธาน เจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ซีพี ออลล์ (CPALL) กล่าวย้ำว่า หลังการซื้อกิจการสยามแม็คโคร (MAKRO) บริษัทยังมีนโยบายการจ่ายเงินปันผลต่อเนื่องอย่างน้อยต้องไม่ต่ำกว่าเดิม ซึ่งมีแต่จะเพิ่มขึ้น ล่าสุดประกาศจ่ายปันผลที่ 90 สตางค์ และจ่ายปีละ 1 ครั้งเช่นเดิม "ยืนยันแล้วว่าจะไม่มีการเพิ่มทุน และจ่ายปันผลไม่ต่ำกว่าที่ผ่านมา โดยเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า การซื้อแม็คโครก็เหมือนกับการลงทุนที่จ่ายแพงในช่วงแรก แต่ถือว่าถ้าโตแล้วก็คุ้ม" นายก่อศักดิ์ กล่าวหลังผู้สื่อข่าวถามว่าในช่วง 1-2 ปีข้างหน้าจะมีการเพิ่มทุนหรือไม่ นายก่อศักดิ์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ได้ครบ 7 ธนาคารที่จะปล่อยสินเชื่อให้กับบริษัท ซึ่งยังมีอีกหลายแห่งที่เสนอตัวเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยเสนอระยะเวลาการกู้มากขึ้นกว่าเดิมจาก 1 ปี เป็น 5 ปี 8 ปี ซึ่งมองว่ายังอยู่ในช่วงดอกเบี้ยไม่ได้แพง อย่างไรก็ดี บริษัทมีทางเลือกอื่นอีก เช่น การออกหุ้นกู้ ซึ่งได้ศึกษาเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง “เราไม่ได้มองว่าการซื้อครั้งนี้เพื่อหวังที่ดิน เราไม่หวังน้ำบ่อหน้า ซึ่งเราจะพิสูจน์ให้เห็นว่าภายใน 1-2 ปีนี้จะได้เห็น และเราไม่ได้มองว่าที่ดินที่ได้มามันคุ้มหรือไม่คุ้ม ประกอบกับเราต้องการขยายเพื่อรองรับ AEC ที่จะเกิดขึ้น” นายก่อศักดิ์ กล่าว นอกจากนี้ ช่วงที่ผ่านมาได้เดินสายชี้แจงกับผู้ถือหุ้นในต่างประเทศ ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี โดยขอให้ผู้ถือหุ้นเข้าร่วมประชุมวิสามัญในวันที่ 12 มิ.ย. เพื่อลงมติอนุมัติให้บริษัทดำเนินการซื้อหุ้นแม็คโคร เนื่องจากเป็นโอกาสที่ดีของบริษัทและคนไทยที่จะซื้อกิจการต่างประเทศให้มาเป็นของคนไทย และเป็นแฟรนไชส์ของคนไทยที่จะขยายออกไปทั่วโลก ขอให้มั่นใจว่าแม็คโครเป็นกิจการที่ดีเห็นได้จากสถาบันการเงินที่พร้อมสนับสนุน และได้อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำที่สุด นายอาทิตย์ นันทวิทยา รองผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่  ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า สรุปดีลที่จะให้วงเงินสินเชื่อร่วมประมาณ 1.65 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นแหล่งเงินลงทุนหลักในการใช้ซื้อหุ้น MAKRO โดยมาจากสถาบันการเงินรวม 7 แห่ง จากเดิมที่ประกาศก่อนหน้านี้มีจำนวน 5 แห่ง ซึ่งแต่ละแห่งปล่อยสินเชื่อในสัดส่วนเท่ากันทุกราย โดยมีธนาคารพาณิชย์ของไทยเข้าร่วมปล่อยสินเชื่อเพิ่มอีก 2 รายใหม่ คือ ธนาคารกรุงไทย และธนาคารกรุงเทพ ส่งผลให้มีธนาคารพาณิชย์ไทย 3 ราย และอีก 4 รายเป็นธนาคารพาณิชย์ต่างชาติ คือ ธนาคารเอชเอสบีซี, ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด, ธนาคารยูบีเอส เอจี และธนาคารซูมิโตโม มิตซุย แบงกิ้ง ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุน Value Investor รายใหญ่ เผยว่า ดีลซื้อหุ้น บมจ.สยามแม็คโคร หรือ MAKRO ที่ราคาหุ้นละ 787 บาท ของ บมจ.ซีพี ออลล์ หรือ CPALL ถือว่าเป็นดีลที่ซีพีได้ประโยชน์เกินคุ้ม โดยคาดว่าภายใน 1-2 ปีนี้กำไรของแม็คโครจะสูงกว่าดอกเบี้ยเงินกู้ที่ซีพีต้องจ่ายให้สถาบันการเงินในแต่ละปี ขณะที่กำไรของ CPALL ก็ไม่ลด แต่กลับจะเพิ่มขึ้นทุกปี เฉลี่ยเป็นปีละ 30% จากปกติที่เฉลี่ยโต 20% สามารถปันผลได้เพิ่มขึ้น หลังจากได้กิจการของแม็คโครมา สินทรัพย์ก็เพิ่ม ยอดขายก็จะเพิ่มขึ้น จากการขยายการลงทุนไปยังต่างประเทศ เช่น จีน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ด้านที่ปรึกษาทางการเงิน เผยว่า ในการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น CPALL  วันที่ 12 มิ.ย.นี้ หากอนุมัติให้บริษัทเข้าซื้อหุ้น MAKRO  ซีพีก็จะไม่ต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ และค่าซอฟต์แวร์ระหว่างบริษัทลูกและบริษัทแม่แม็คโครที่ต่างประเทศ ปีละกว่า 400 ล้านบาท หลังจากซื้อสิทธิ์ขาดมาแล้ว ด้านซิตี้ รีเสิร์ชปรับเพิ่มอันดับความน่าลงทุนของหุ้นบมจ.ซีพี ออลล์  จาก "neutral" เป็น "buy" และปรับเพิ่มข้อตกลงระหว่าง CPALL-MAKRO จะพลิกโฉมตลาดค้าปลีกของไทยโดยเอื้อต่อระบบค้าปลีกสมัยใหม่ ขณะที่สามารถครองส่วนแบ่ง 18%  ของตลาดทั้งหมด และครองตลาดค้าปลีกสมัยใหม่ 40% ส่วนวานนี้ CPALL แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ถึงผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/56 มีกำไรสุทธิ 3,185.74 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1/55 ที่มีกำไรสุทธิ 2,756.84 เปลี่ยนแปลง 15.56%


เก็บข่าวนี้ไว้ก่อน ไว้ดูคำพูดของ ผบห (ที่ผ่านมาก็มีความน่าเชื่อถือสูงมาตลอด)


เพิ่มเติมข่าวของ cpram บ.ลูกของ cpall 

“ซีพีแรม” ลั่นแนวรบโปรดักต์ใหม่ พร้อมรับผลิต OEM ขยายตลาดโลก 


โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 9 พฤษภาคม 2556 20:00 น. 


เตรียมแผน 2 ปีเปิดตลาด “Functional Food” เจาะกลุ่มเด็ก ผู้สูงวัย และผู้ป่วย เน้นทำตลาดในประเทศ 90% ส่วนตลาดต่างประเทศมุ่งพัฒนาโปรดักต์เพื่อเพิ่มมาร์จิ้น ล่าสุดรับจ้างผลิต OEM ให้ห้างฯ ดังในอังกฤษแล้ว ด้านยอดขายปี 56 ตั้งเป้า 1 หมื่นล้านบาท

นายวิเศษ วิศิษฎ์วิญญู รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท ซีพีแรม จำกัด เปิดเผยว่า ปัจจุบันบริษัทมีโรงงานแปรรูปอาหารสำเร็จรูปแช่เยือกแข็ง 1 โรงงาน โรงงานเบเกอรีขนาดใหญ่ 1 โรงงาน และโรงงานขนาดย่อยอีก 4 โรงงาน เพื่อดำเนินการผู้ผลิตอาหารพร้อมรับประทานติ่มซำ “เจด ดราก้อน” อาหารกล่อง “เดลี่ไทย” ข้าวปั้น “โอ! อาโรจัง” อาหารจัดเลี้ยง “มายมีล” เบเกอรีอบสดตรา “เลอแปง” ตรา “เบเกอร์แลนด์” และตรา “มิสแมรี่”

ขณะนี้บริษัทกำลังอยู่ในช่วงศึกษาและวิจัยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่คือ “Functional Food” สำหรับเด็ก ผู้สูงวัย และผู้ป่วยโรคต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคความดันสูง และอื่นๆ โดยมั่นใจว่าจะประสบความสำเร็จในการทำตลาดในเวลาอันเร็วกว่าอาหารเจพร้อมรับประทาน เนื่องจากฐานจำนวนประชากรไทยเริ่มมีจำนวนผู้สูงวัยที่ใส่ใจในสุขภาพเพิ่มมากขึ้น

“การพัฒนาผลิตภัณฑ์ Functional Food มีรายละเอียดที่เราจำเป็นต้องให้ความสำคัญในทุกขั้นตอน ทั้งยังต้องมีการทดสอบเพื่อให้ผ่านมาตรฐานการรับรองจากหน่วยงานในด้านที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นการพิสูจน์ถึงคุณภาพและมาตรฐานให้ผู้บริโภคได้เห็นอย่างชัดเจน โดยคาดว่าจะสามารถเริ่มผลิตสู่ตลาดได้ภายใน 2 ปี”

นายวิเศษกล่าวด้วยว่า หลังจากที่บริษัทเปิดดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2521 จนถึงปัจจุบันถือได้ว่าบริษัทกำลังเริ่มเข้าสู่ยุคที่ 7 คือยุคครบเครื่องด้วยนวัตกรรมทุกๆ ด้าน ทั้งเทคโนโลยีสารสนเทศ ทรัพยากรมนุษย์ ตลอดจนวัฒนธรรมองค์กร ซึ่งถือเป็นรากแก้วสำคัญที่จะขับเคลื่อนให้องค์กรก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง

“ในสภาวการณ์ค่าเงินบาทแข็งตัวที่เป็นอยู่ในขณะนี้หากเราอยู่นิ่งเฉยก็ย่อมมีโอกาสที่จะประสบกับภาวะการขาดทุนได้ ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นต้องมุ่งพัฒนาสินค้าให้อยู่ในระดับพรีเมียมจับตลาดไฮเอนด์เพิ่มมากขึ้น เพื่อเป็นการเพิ่มมาร์จิ้น หรือกำไรส่วนเพิ่มให้สูงขึ้น”

ล่าสุดบริษัทได้รับจ้างผลิตอาหารพร้อมรับประทานในลักษณะ OEM ให้ห้างสรรพสินค้ามอริสัน และเทสโก้ โลตัส ประเทศอังกฤษ โดยขณะนี้กำลังมีการเจรจาที่จะผลิตให้ห้างสรรพสินค้าอื่นๆ เพิ่มเติมอีก หลังจากที่วางจำหน่ายอาหารพร้อมรับประทาน “เจด ดราก้อน” และ “เดลี่ไทย” ในทุกๆ ห้างสรรพสินค้าของประเทศอังกฤษแล้ว

“ในปี 2555 บริษัทมียอดขาย 9.8 พันล้านบาท ส่วนในปี 2556 คาดว่าจะเติบโตขึ้น 15% หรือมีมูลค่ารวมประมาณ 1.1 หมื่นล้านบาท โดยตลาดส่งออกส่วนใหญ่คือประเทศอังกฤษ แคนาดา และออสเตรเลีย โดยอาหารส่วนใหญ่เป็นสแน็กประเภทของทอดและเปาะเปี๊ยะทั้งในส่วนของเจด ดราก้อน และเดลี่ไทย”

ผลการดำเนินงานของบริษัทในช่วง 3 ปึที่ผ่านมามีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 15% โดยตลาดภายในประเทศมีการเติบโตสูงกว่าเล็กน้อยคือประมาณ 20% โดยปัจจัยเสริมที่ทำให้มูลค่าตลาดอาหารพร้อมรับประทานเติบโตขึ้นคือไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่เริ่มหันมาต้องการควาสะดวกสบายรวดเร็วในการดำรงชีวิตประจำวันเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันอาหารพร้อมรับประทานส่วนใหญ่เริ่มมีการพัฒนาด้านคุณภาพและรสชาติให้มีความอร่อยและถูกสุขลักษณะมากขึ้นด้วย

ปัจจุบันบริษัทยังคงเน้นจำหน่ายผลิตภัณฑ์ภายในประเทศเป็นหลักด้วยสัดส่วน 90% โดยเน้นจำหน่ายภายในร้านเซเว่นอีเลฟเว่น 80% ส่วนที่เหลือเป็นการจำหน่ายผ่านช่องทางทั่วไป โดยในอนาคตอาจเพิ่มช่องทางการตลาดในลักษณะ Food Van ซึ่งสามารถเคลื่อนย้ายไปจำหน่ายตามสถานที่จัดงานต่างๆ ได้ โดยเฉพาะในการแข่งขันกีฬา คอนเสิร์ต ตลอดจนงานอีเวนต์ต่างๆ


7-11 เท 3 พันล. ปูพรมศูนย์ DCทั่วไทย รับตลาดโตขยายอาณาจักรหมื่นสาขา
 “เซเว่น อีเลฟเว่น” เปิดศูนย์กระจายสินค้าส่วนภูมิภาคแห่งใหม่ที่ จ.ลำพูน มุ่งกระจายสินค้าสู่สาขาทางภาคเหนือกว่า 600 แห่ง เผยพร้อมทุ่มอีกกว่า 3,000 ล้านบาท เดินหน้าขยายศูนย์ฯ เพิ่มอีก 4 แห่งทั้งในส่วน กทม.และภูมิภาค รอบรับตลาดโต สาขาเพิ่มถึง 10,000 แห่งในอีก 5 ปีข้างหน้า แจงเสริมบริการรวดเร็ว และเสริมโอกาสขายสินค้าเอสเอ็มอี
นายพิทยา เจียรวิสิฐกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารร้านสะดวกซื้อเซเว่น อีเลฟเว่น (7-11) เปิดเผยว่า เพื่อเสริมงานบริการส่งสินค้าให้แก่ร้านสาขาของ 7-11 ได้รวดเร็วและครอบคลุมยิ่งขึ้น ทางบริษัทฯ ได้เปิดศูนย์กระจายสินค้าส่วนภูมิภาค (Regional Distribution Center:RDC) แห่งใหม่ที่จังหวัดลำพูน ด้วยพื้นที่รวม 38 ไร่ พื้นที่คลังสินค้า 17,000 ตารางเมตร ใช้งบลงทุน 550 ล้านบาท สำหรับกระจายสินค้าสู่สาขาในเขตภาคเหนือ 14 จังหวัด จำนวน 643 สาขา
       
       ทั้งนี้ ศูนย์ฯ ดังกล่าวถือเป็นศูนย์กระจายสินค้า ลำดับที่ 6 ต่อจากศูนย์ส่วนกลางที่ ศูนย์ฯ บางบัวทอง และศูนย์ฯ สุวรรณภูมิ กับศูนย์ฯส่วนภูมิภาคที่ จ.สุราษฎร์ธานี ขอนแก่น และชลบุรี ขณะที่ทางภาคเหนือเดิมเช่าพื้นที่เปิดศูนย์ฯ ที่ จ.เชียงใหม่ แต่ด้วยการเติบโตอย่างสูงของสาขา 7-11 ทางภาคเหนือ บริษัทฯ จึงลงทุนเปิดศูนย์ RDC ที่ จ.ลำพูน โดยเริ่มเปิดใช้งานตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา (2556) และเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมนี้
       
       รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารฯ เผยต่อว่า ปัจจุบัน 7-11 มีสาขาอยู่ทั่วประเทศ 7,111 แห่ง โดยเป็นสาขาแฟรนไชส์ประมาณ 4,000 สาขา และของบริษัทฯ 3,000 สาขา (ข้อมูลถึงสิ้นเดือนเมษายน2556) ส่วนเป้าหมายที่ตั้งไว้ในอีก 5 ปีข้างหน้า จะขยายให้ถึง 10,000 สาขา ดังนั้น ทางบริษัทฯ เตรียมเพิ่มศูนย์กระจายสินค้ารองรับการเติบโตของสาขาดังกล่าว โดยต้นปีหน้า (2557) จะเปิดเพิ่มศูนย์ส่วนกลาง ที่แถวมหาชัย เนื้อที่ 20,000 ตรม. รองรับกระจายสินค้าสู่สาขาในเขตกทม.ตะวันตก และภาคใต้ตอนบน รวม 10 จังหวัด จำนวน 2,000 สาขา เงินลงทุนประมาณ 1,000 ล้านบาท นอกจากนั้น ใน 5 ปีข้างหน้าเตรียมขยายศูนย์ฯภูมิภาคเพิ่มอีก 3แห่ง ในพื้นที่ภาคกลาง ภาคอีสานใต้ และภาคใต้ตอนล่าง แต่ละแห่งใช้เงินลงทุนประมาณ 500-700 ล้านบาท รวมงบลงทุนในการขยายศูนย์กระจายสินค้าเพิ่มกว่า 3,000 ล้านบาท
       
       นายพิทยา ระบุด้วยว่า ปัจจุบัน ศูนย์กระจายสินค้าของ 7-11 สามารถส่งสินค้าได้ครอบคลุมอยู่แล้ว แต่การเปิดศูนย์ฯ เพิ่ม จะช่วยให้ส่งมอบสินค้าได้รวดเร็วยิ่งขึ้น เพิ่มรอบขนส่งถี่ยิ่งขึ้น ต้นทุนขนส่งลดลง รวมถึง สามารถปรับส่งสินค้าให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าในท้องถิ่นต่างๆ อีกทั้ง ยังเพิ่มความหลากหลายของสินค้า ซึ่งจะเกิดประโยชน์แก่ผู้บริโภคมีทางเลือกซื้อสินค้าจากท้องถิ่นต่างๆ และยังเป็นโอกาสของผู้ประกอบการระดับเอสเอ็มอี เพิ่มช่องทางกระจายสินค้าไปสู่ผู้บริโภคทั้งในท้องถิ่นตัวเอง และต่างท้องถิ่น คาดปีนี้ยอดขายสินค้าของเอสเอ็มอีจะเติบโตกว่า 23% นอกจากนั้น ยังช่วยสร้างงานในท้องถิ่น และเตรียมพร้อมเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในอนาคตด้วย
       
       “หัวใจของธุรกิจค้าปลีก คือ การให้ความสะดวก เพราะเมื่อสะดวกจะทำให้เกิดความต้องการซื้อสินค้ามากยิ่งขึ้น ซึ่งการกระจายสินค้าได้ดีขึ้น ความสะดวกก็จะมากขึ้นตามไปด้วย และทำให้สินค้าขายได้ดียิ่งขึ้น ช่วยให้ 7-11 สามารถขยายสาขาถึงหมื่นแห่งตามเป้าที่วางไว้” นายพิทยา กล่าว

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์

12 พฤษภาคม 2556