วันอังคารที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2565

หลักคิด 19

การลงทุนใดๆก็แล้วแต่ ลงทุนด้วยตัวเอง ซื้อหุ้นบริษัทไหน หาความรู้บริษัทนั้นให้มากก่อนซื้อหุ้น 

อย่าหวังรวยทางลัดโดยการฝากคนอื่นลงทุน อย่าโลภผิดทาง ไม่มีใครหาเงินให้เราหรอก มีแต่เราต้องหาเอง ศึกษาเอง เงินเรา เราต้องดูแลเอง มันไม่มีหรอกหาเงินทางลัด ทางลัดมีแต่ทางเสียเงินเท่านั้น

**********

ก่อนซื้อหุ้น ลองถามตัวเอง 

ถ้าเลือกหุ้นได้ไม่เกิน 10 ตัว และหลังจากซื้อมันแล้วตลาดปิดไปอีก 5-10 ปี จะเลือกหุ้นตัวไหนกันบ้าง

ที่แน่ๆคือควรซื้อหุ้นที่ถือแล้วมีความสบายใจ รู้สึกสุขใจที่ได้ร่วมเป็นเจ้าของกิจการ

************

1H65 อสังหา
ตัวเลขที่น่าสนใจคือ One time Gain ต่อ EBIT (ช่องขวาสุด) % มากคือ ส่วนตัวไม่ชอบ เพราะมันคือกำไรพิเศษไม่ใช่กำไรปกติจากการดำเนินงาน หากมีจำนวนมากเมื่อเทียบกับ EBIT จะหมายถึง กำไรจากการดำเนินงานปกติมีน้อยกว่าที่เห็น

***********

ดอกเบี้ยขึ้นแล้ว ผมขายหุ้นไหม
- ที่ผ่านมาถึงปัจจุบัน เราไม่เคยขายหุ้นเพราะตัวเลขทางเศรษฐกิจเลยนะ การจะขายหุ้นของเรา เราจะดูที่ตัวบริษัทเป็นหลัก 

ถ้าเราเป็นเจ้าของเรือที่ดี แล้วน้ำลด เราคงไม่ขายเรือเพราะน้ำลดใช่ไหม น้ำลด เรือทุกลำก็ลอยลำต่ำลงเหมือนกันหมด   

แต่ถ้าน้ำขึ้น แล้วเรือที่เราเป็นเจ้าของ ชนหินโสโครก จนมีรอยรั่วขนาดใหญ่ จนอุดไม่ได้ ต่อให้น้ำขึ้น เราก็ต้องขายเรือ 

ปัจจัยหลัก คือตัว บริษัท ไม่ใช่ตัวเลขเศรษฐกิจ

***********
เรียงตามหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยจากมากไปน้อย

การดูหนี้สิน ต้องดูเทียบกับส่วนผู้ถือหุ้นด้วย (ดูได้จากช่อง Net IBD/E)

หุ้นกู้ที่มีลักษณะคล้ายทุน มีภาระดอกเบี้ยจ่าย (จ่ายแพงกว่าหุ้นกู้ปกติด้วย) แต่ดันโดนเอาไปรวมกับ ส่วนผู้ถือหุ้น 

เราจึงจัดรายการใหม่ ให้หุ้นกู้คล้ายทุนเป็นหนี้สิน เมื่อดึงหุ้นกู้คล้ายทุนเป็นหนี้สินก็ต้องไปหักออกจากส่วนผู้ถือหุ้นด้วย

หลายครั้งมีการถามผมถึง Noble ผมบอกว่าไม่ได้ติดตาม สาเหตุแรก คือดู NET IBD/E ผมเห็นแล้วก็ขี้เกียจเสียเวลาติดตาม เพราะเข้าเงื่อนไขส่วนตัวในการคัดทิ้งครับ

**********
วิธีการลงทุนที่ถูกต้อง มันจะมาจากหลักการที่เหมาะสม + mindset ที่ถูกต้อง

*********

ราคาคือสิ่งที่คุณจ่าย มูลค่าคือสิ่งที่คุณได้รับ  เวลาจะเป็นตัวปรับราคาให้สะท้อนมูลค่า

**********หลายคนอาจจะไม่คุ้นเคยกับโปรแกรมหรือระบบ หรือการอ่านค่าของระบบ ผมสรุปให้เลยแล้วกัน 

สรุป ผลการทดสอบย้อนหลัง ของระบบจากการซื้อหุ้นโดยคัดเลือกจากค่า

P/E ต่ำ + P/B ต่ำ + Dividend Yield (%) สูง

โดยทดสอบย้อนหลังในช่วงเวลา 1/1/2007 ถึง 1/1/2017 และถือหุ้นมากที่สุดไม่เกิน 33 ตัว ระบบจะมีการซื้อทุกวันแรกที่มีการเทรดของปีและทำการขายในวันสุดท้ายที่มีการเทรดของปี (ระบบหมุนเวียนหุ้นตามเกณฑ์)

ผลที่ได้
ในช่วง 10 ปีนั้น SET +134.04% ในขณะที่ระบบคำนวณรวมเงินปันผล +639.55% 

ในช่วง 10 ปีนั้น SET มีช่วงที่ติดลบจากจุดสูงสุด -58.02% ส่วนระบบนั้นติดลบสูงสุด -46.67%

ช่วงระยะเวลาที่ติดลบนั้น SET มีช่วงเวลาติดลบนานสุด 44.15 เดือน ในขณะที่ระบบมีช่วงเวลาติดลบสูงสุด 25.65 เดือน


ประเด็นที่อยากให้สังเกตคือ 
- ตัวเลขติดลบที่ยาวนานที่สุดของระบบคือประมาณ 26 เดือนนั่นคือประมาณ 2 ปีนิดๆ นี่จึงเป็นเหตุที่ผมบอกเสมอว่าหากลงทุนระยะยาวเมื่อซื้อหุ้นครั้งแรกแล้วควรรอ 3 ปีค่อยดูผลตอบแทนครั้งแรกหลังจากนั้นค่อยดูทุกปี
- ระบบติดลบสูงสุดได้ถึง 46.67% ซึ่งก็ตรงกับตอนที่เราซื้อหุ้น AP ครั้งแรก ที่ราคาประมาณ 5.90 บาท ตอนที่ซื้อนั้นก็ซื้อในราคาที่ต่ำมากแล้วเพราะ PB ประมาณ 0.70-0.80 เท่า แต่สุดท้ายแล้วราคาก็ยังไหลลงไปแถวๆ 3.40 บาท เท่ากับราคาลงไปประมาณ 42% 

ข้อสรุปที่เป็นข้อคิดก็คือ
หาซื้อหุ้นที่ราคาต่ำกว่ามูลค่า และมีส่วนเผื่อความปลอดภัยที่มากพอสมควร ถึงแม้จะซื้อได้ตามนี้แล้วก็ต้องรู้ว่ามีโอกาสที่ราคาหุ้นจะลดลงไปอีกประมาณ 45% ได้ โดยอาจต้องรอเป็นเวลาถึง 2 ปีกว่าที่ราคาจะกลับขึ้นมาได้  หากรู้เช่นนี้แล้วก่อนจะซื้อจะได้ทำใจไม่ขายขาดทุนก่อน 2 ปี


https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=pfbid02HvbZGUykfd4eT99J9rqyxa3ctreCw6s2C3XvwVB4mRkksGusJGRkiKr35Th16SMtl&id=100000554563052&sfnsn=mo

*********
ซื้อหุ้นที่ไม่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน + คาดว่าจะเป็นที่นิยมในอนาคต และเป็นหุ้นที่เราสามารถเข้าใจธุรกิจนั้นมากพอที่จะคาดการณ์ถึงอนาคตได้ ซึ่งหมายความว่าจะต้องมีความอดทนสูงในการรอคอยด้วย สิ่งหนึ่งซึ่งช่วยชูใจในการรอคอยได้คือเงินปันผลระหว่างทางที่รอ

**********

ผู้จัดการกองทุนต้องเทรดระยะสั้นเพื่อทำผลงานไว้อวดลูกค้า ซึ่งทำให้เกิดความผันผวนในระยะสั้น และนี่คือโอกาส

***********
ผู้บริหารที่ออกข่าวบ่อยๆเพื่อราคาหุ้น อาจมีแรงจูงใจอย่างอื่นมากกว่าการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ถือหุ้นให้มากที่สุด

**********

P/E ความหมาย
บนสมมติฐานว่า กำไรเท่าเดิมทุกปี
- พีอี หมายถึงจำนวนปีที่คืนทุน โดยได้จากกำไรของ บ.
- พีอี หมายถึงจำนวนปีที่ได้กำไร 100% โดยคำนวนจากกำไรที่ บ.หาได้
- พีอี ยังหมายถึงจำนวนทุนต่อกำไร 1 บาทอีกด้วย

เช่น พีอี 5.9 เท่า ถ้ากำไรเท่าเดิมทุกปี 
- หมายถึงถือหุ้นตัวนี้ประมาณ 6 ปี จะได้ทุนคืนมาจากกำไรที่ บ.หาได้
- หมายถึง กำไรสุทธิของ บ. บนเวลาประมาณ 6 ปี รวมแล้วมีค่าเท่าราคาหุ้นที่จ่ายไป 
- หมายถึง ทุกๆกำไร 1 บาท ที่ บ.หาได้ เรายอมซื้อที่ราคา 5.90 บาท

แต่หาก บ. มีกำไรเพิ่มขึ้นทุกปี พีอี 5.90 
- หมายถึงถือหุ้นตัวนี้นานสุดไม่เกิน 6 ปี จะได้ทุนคืนมาจากกำไรที่บริษัทหาได้ 
- หมายถึงกำไรสุทธิของบริษัทบนเวลาไม่เกิน 6 ปีรวมแล้วจะมีค่ามากกว่าหรือเท่ากับราคาหุ้นที่จ่ายไป
- หมายถึงกำไรทุกๆ 1 บาทหรือมากกว่า ที่บริษัทหาได้ เรายอมซื้อที่ราคา 5.90 บาท 

ปล. ส่วนกลับของพีอียังคือ Earning Yield อีกด้วย
*********

"ขนาดในการซื้อ" (position sizing) มีผลต่อการถือหุ้นในการลงทุน ไม่ต่างจากผละกระทบในการเทรด

ถ้าจิตใจทนความผันผวนได้ 5 แต่ซื้อ 1 คุณจะไม่ได้เรียนรู้ด้าน mindset ในการถือหุ้น เพราะตัวเลขบวกลบในพอร์ตน้อยนิด ไม่ได้ส่งผลอะไรต่อจิตใจให้เรียนรู้เลย แต่พอร์ตจะไม่โดนกระทบมาก ทั้งทางบวกและลบ (อาจเรียนรู้ด้านอื่น เช่น ทดสอบความคิดว่ามาถูกทางไหม)

ถ้าจิตใจทนความผันผวนได้ 5 แต่ซื้อ 4-6 คุณจะได้เรียนรู้ด้าน mindset ในการถือหุ้น ค้นหาจิตใจตัวเองพบ และปริมาณที่ถือก็ส่งผลต่อพอร์ต

ถ้าจิตใจทนความผันผวนได้ 5 แต่ซื้อ 8-10 (เทียบได้กับ Overtrade) คุณจะได้เรียนรู้ด้าน mindset ในการถือหุ้นอย่างมาก แต่พอร์ตจะโดนกระทบมาก ทั้งทางบวกและลบ โดยมากทางลบ เพราะทนถือผ่านความผันผวนแม้เล็กน้อยไม่ได้ เนื่องจากขนาดตัวเลขของพอร์ตที่ผันผวนจะกระทบจิตใจอย่างหนัก

**********

การหาชื่อหุ้น จากข้อมูลที่ได้มาก็เป็นทักษะอย่างหนึ่งสำหรับนักลงทุน 

เช่นในกรณีที่ไปเจอหุ้นตัวหนึ่งที่มีงบการเงินที่ดี โดยที่อาจจะรู้ตัวเลขกำไรสุทธิ หรือส่วนผู้ถือหุ้น หรือแม้แต่หนี้สินที่เป็นตัวเลขที่ exacly สักตัวเลขนึง เราก็ควรจะใช้ข้อมูลนั้นหาชื่อหุ้นได้  

********
ถ้าสังเกต นลท ที่เก่งๆ ที่ประสบความสำเร็จทุกคน จะมีอะไรบางอย่างที่แตกต่างจาก นลท ทั่วไป สิ่งนึงที่เห็นได้ชัด ที่มีใน นลท ที่ประสบความสำเร็จทุกคน คือ มีวินัยและความอดทนสูงกว่าคนทั่วไปมากๆ 

ความมีวินัยและความอดทน พูดง่ายแต่ทำยาก คนทั่วไปมักคิดว่าง่าย แค่อดทนถือหุ้น แกล้งลืมๆไป  

ถ้ามันง่ายจริง ทุกคนคงเป็นนักลงทุนที่ร่ำรวยกันหมด แต่บนความเป็นจริงก็คือ นลท ที่ประสบความสำเร็จมีเพียงน้อยนิด เพราะพูดว่าทำได้มันง่าย แต่ทำจริงมันยาก ยากมากๆ

ความอดทนต่อการถือหุ้น
ความอดทนต่อความผันผวน 
ล้วนแต่เป็นคุณสมบัติที่สำคัญ ที่ทำได้ยากทั้งสิ้น 

ตัวอย่าง

https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=pfbid05A9tC649RsK6a4MHAH1tNGnquWiPhxqm3RV4HFQ148JSXedgBfnfFNQb3ADwZHHKl&id=100000554563052&sfnsn=mo

https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=pfbid0qo66xXoTMsk63Dd8tAqMtacDddaWW9mJZ6ZS8uHp5HJSBoG8GzqSf4QTsAPzFuJwl&id=100000554563052&sfnsn=mo

***********

ว่าด้วยเรื่อง "ส่วนเผื่อความปลอดภัย" (MOS) บ้าง

ถ้าอ่านประวัติการซื้อหุ้นของปู่บัฟ จะพบว่า ช่วงแรกการซื้อของปู่ ใช้หลักการของ อ.เกรแฮม คือ มี MOS เต็มที่ แต่ต่อมาโดยเฉพาะช่วงหลังจากที่รู้จักกับ ปู่ชาร์ลี แล้ว 

ปู่บัฟเริ่มซื้อ บ.ต่างๆ โดยเน้นที่คุณภาพมากขึ้น ยอมซื้อที่ราคาสมเหตุสมผล (หมายถึง ราคาที่ต่ำกว่ามูลค่า แต่มี MOS น้อยลง)

สังเกตว่า สิ่งที่ทำให้ปู่ยอมลด MOS ลง คือ คุณภาพของ บ. 

คราวนี้ การดูคุณภาพของ บ.นั้น มันเหมือนเป็นนามธรรม คือ คุณภาพเป็นสิ่งที่มองไม่เห็น แต่สามารถวัดได้ โดยวัดจากตัวเลขที่สะท้อนออกมาทางงบการเงิน 

สิ่งนึงที่สามารถสะท้อนคุณภาพให้เห็นได้ แม้จะไม่ใช่ทั้งหมด และใช้ดูเบื้องต้นได้อย่างรวดเร็ว คือ ตัวเลข รายได้และกำไรสุทธิย้อนหลังหลายๆปี

แต่การใช้ตัวเลขเพียงสองบรรทัดนั้นดูได้เพียงเบื้องต้นเท่านั้น การดูให้ละเอียดสุดท้ายหนีไม่พ้นงบการเงินที่ช่วยดูการดำเนินงานที่ผ่านมา และโมเดล บ.ที่จะเป็นการมองไปข้างหน้า

การดูงบการเงินแม้จะเป็นการมองย้อนหลัง แต่มันได้แสดงให้เห็นถึงความสม่ำเสมอของการดำเนินงานที่ผ่านมา 

คล้ายๆกับที่เรามองเด็กคนหนึ่งเรียนดีตั้งแต่ประถมจนถึงมัธยมปลาย แล้วเราคาดหวังว่าเข้ามหาลัยก็น่าจะเป็นเด็กที่เรียนดี 

แต่ไม่ได้หมายถึงเด็กที่เรียนแย่แล้วพอเข้ามหาลัยจะกลายเป็นเด็กที่เรียนดีไม่ได้ คล้ายๆกับบริษัทที่ในอดีตมีผลการดำเนินงานไม่ดี แต่อาจมีเหตุให้เกิดการเปลี่ยนแปลง (เปลี่ยนโมเดลการดำเนินงาน หรือเปลี่ยนผู้บริหาร) จากเด็กที่เรียนด้อยกลายเป็นเด็กที่เรียนดีก็เป็นไปได้

สรุป MOS ยิ่งมากยิ่งดี แต่ขั้นต่ำที่ต้องการ ขึ้นอยู่กับคุณภาพของบริษัท ที่สะท้อนออกมาเป็นตัวเลข รายได้และกำไรย้อนหลังหลายๆปี บ.คุณภาพสูง เราอาจต้องการ MOS ลดลง หรือยอมซื้อที่ราคาสมเหตุสมผลได้

บริษัทที่มีคุณภาพที่ยอดเยี่ยม จะมีรายได้และกำไรย้อนหลังที่เพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอ 

แต่บริษัทที่มีกำไรเพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอ ไม่ใช่ทุกบริษัทที่จะเป็นบริษัทที่ยอดเยี่ยม เนื่องจากหลายบริษัทใช้กำไรพิเศษมาช่วยดันงบการเงิน หลายบริษัทก็ใช้วิธีการปรับปรุงมูลค่าทรัพย์สินทางบัญชี ซึ่งมันไม่ได้เป็นกำไรที่มาจากกิจกรรมดำเนินงาน

***********

ต้องรู้ว่าอะไรสำคัญ และอะไรไม่สำคัญ
ไม่มีเวลามากพอสำหรับการรู้ทุกสิ่งอย่างลึกซึ้ง
ต้องเลือกให้เป็น

*********

มีระบบความเชื่อที่ถูกต้องที่ผ่านการพิสูจน์แล้วเป็นของตนเอง แล้วมั่นคงยึดมั่นต่อความเชื่อนั้น 

อย่าซื้อหุ้นด้วยความคิดแบบหนึ่ง แล้วขายหุ้นด้วยอีกชุดความคิดที่ตรงข้ามกัน

********

บริษัทเติบโตที่มีเงินทุนเหลือ การจ่ายเงินปันผลที่เพิ่มมากขึ้น แสดงให้เห็นถึงความใส่ใจผู้ถือหุ้นของผู้บริหาร 
*********
ส่วนตัวลงทุน ไม่เคยซื้อตามเซียนเลยนะ ไม่ได้แปลว่าจะไม่สนใจหุ้นที่เซียนเขาถือ แต่มันก็เหมือนกับหุ้นตัวอื่นๆที่เราเจอ คือต้องเอามาทำการบ้านก่อนว่าเข้ากับหลักการลงทุนของเราหรือเปล่า ถ้ามันไปกันได้กับหลักการลงทุนของเรา แล้วราคายังถูกหรือสมเหตุสมผล รวมทั้งเราสามารถทำความเข้าใจธุรกิจมันได้ เราถึงค่อยลงทุน 

แต่ถ้าลำพังแค่บอกว่าเซียนถือหุ้นตัวนั้นตัวนี้แล้วให้เราซื้อตาม คงไม่ใช่แน่ๆ เคยมีเหมือนกันเพื่อนชวนซื้อหุ้นตัวนั้นตัวนี้บอกว่าเซียนคนนั้นถือ เซียนคนนี้ถือ เราได้แต่ยิ้มแห้ง 

ทำการบ้านด้วยตัวเองก่อนที่จะซื้อหุ้น อย่าหลับหูหลับตาซื้อตามอย่างเดียว เวลาเสียหายขึ้นมาจะได้ไม่ต้องโทษเซียนหุ้น ถ้าหลับถูหลับตาซื้อตาม แล้วเสียหายขึ้นมาไปโทษเขาก็คงไม่ได้ เพราะเขาคงไม่ได้มาจับมือเรากดซื้อ 

อย่าโลภเกินความรู้ที่มี ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน

**********

การเรียนรู้เพื่อรู้จักตัวเอง การฝึกวินัยทางความคิด  และเรียนรู้สิ่งใดๆก็ตามที่จำเป็นต้องรู้ ล้วนเป็นเรื่องสำคัญ แม้มันจะน่าเบื่อบ้างก็ตาม

**********
ธีมการลงทุนใหม่ ถ้าจะดีต้องมาพร้อมการซื้อหุ้นในราคาสมเหตุสมผลด้วย ถึงจะเรียกว่าการลงทุน

คราวนี้ราคาที่สมเหตุสมผล บางทีมันก็ฟังดูคลุมเครือ ว่าราคาไหนจะเรียกว่าราคาสมเหตุสมผล  

มันจึงเป็นช่องว่าง ให้มีการปั่นหุ้นกันเป็นทีม ยิ่งหากได้นักวิเคราะห์ที่ไม่มีจรรยาบรรณมาเป็นทีมด้วยแล้วละก็ การออกบทวิเคราะห์เพื่อปั่นหุ้นจะยิ่งง่ายขึ้นมาก "มันไม่ใช่การลงทุน" แต่มัน คือ การวางแผนกินรวบ 

เกือบทุกครั้งการปั่นหุ้น แทบไม่สนใจเรื่องกำไร เรื่องพีอีใดๆทั้งสิ้น สิ่งเดียวที่สนใจ คือเล่นให้ใหญ่ที่สุดเพื่อให้เม่าเล่นตามให้มากที่สุด

ยิ่งธีมใหม่ยิ่งดีเล่นได้นาน ปั่นได้มาก วงเงินที่เข้ามาเล่นก็จะยิ่งมาก ขาใหญ่รอทำกำไรก็ยิ่งมีโอกาสกินเงินเม่าที่หลงเข้ามาได้ก้อนใหญ่

สร้างสตอรี่เพื่อเรียกเม่าให้เข้ามาให้มากที่สุด และเมื่อขาใหญ่กวาดเงิน กวาดกำไรได้มาก นั่นคือ เม่ายิ่งเจ็บหนักมากตาม เพราะมันคือ zero sum game ทุกครั้งที่ขาใหญ่ได้เงิน จะต้องมีเม่าเสียเงินหนักเสมอจากเกมแบบนี้

การป้องกันนั้นง่ายมาก ยึดมั่นในหลักการลงทุน ไม่หวังเก็งกำไร ซื้อหุ้นที่มีราคาต่ำกว่ามูลค่า ที่สามารถประเมินเองได้ อุตสาหกรรมไหนประเมินเองไม่ได้ ก็รอก่อน ศึกษาหาความรู้ก่อน ไม่โลภเกินความรู้ที่มี
***********
การลงทุนให้ประสบความสำเร็จต้องใช้ทั้งเวลาและความอดทน ไม่มีระบบการลงทุนใดที่เพอร์เฟคไม่มีความผิดพลาดในการคัดเลือกหุ้น และไม่จำเป็นจะต้องถูกทุกครั้งเพื่อที่จะประสบความสำเร็จในการลงทุน

**********
ถ้าหากทนความผันผวนระยะสั้นไม่ได้ จะไม่มีทางเก็บเกี่ยวผลตอบแทนระยะยาวที่ตลาดจะมอบให้ได้

********
การลงทุนระยะยาว ต้องมีความมุ่งมั่น ความอดทนสูง รวมถึงต้องใช้เวลาอย่างมาก 

ทั้งอดทนต่อความผันผวน อดทนต่อจิตใจตัวเอง

สถานการณ์นึงที่จะแยกแยะนักลงทุนระยะยาว ออกจาก Player อื่นๆในตลาด คือ ช่วงสถานการณ์ตลาดหมีที่ยืดเยื้อยาวนาน

*********
ถ้าคุณจะเร่งผลตอบแทนพอร์ต คุณต้องรู้ว่ามันเพิ่มความเสี่ยงเข้ามาด้วยไหม และเท่าไร ซึ่งปกติแล้วทุกการเล่นผลตอบแทนใดๆก็ตาม มักเพิ่มความเสี่ยงเข้ามาเสมอ ยิ่งพยายามเร่งเร็วเท่าไร ความเสี่ยงจะยิ่งเพิ่มมาในอัตราเร่งกว่าผลตอบแทนที่จะได้

ซึ่งแน่นอนว่า หากไม่ควบคุมความเสี่ยงที่เพิ่มเข้ามาให้ดี มันอาจจะทำให้พอร์ตของคุณระเบิดได้

อย่างไรก็ตามพยายามจัดพอร์ต โดนคำนึงถึงว่า แม้ว่าพอร์ตจะระเบิดก็จะยังมีทุนเหลือพอที่สามารถลงทุนต่อได้

นักลงทุนหากไม่มีทุน ก็หมดสิทธิ์ที่จะเป็นนักลงทุน
************

นลท ส่วนมากเลือกหุ้นถูกตัว และส่วนมากเคยมีหุ้นที่ราคาขึ้นหลายเด้งอยู่ในพอร์ตบนช่วงเวลานึง 

แต่น้อยคนนักที่จะมีกำไรหลายเด้งเหมือนที่ราคาหุ้นขึ้นไป น้อยคนนักที่จะถือหุ้นได้ยาวนานพอที่จะได้กำไรมากมายหลายเด้ง 

เป็นเพราะ การอยู่เฉยๆเป็นเวลานานๆมันเป็นเรื่องยากมากสำหรับการลงทุนในตลาดหุ้น 

ส่วนมากมักคิดว่า ต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อที่จะได้กำไรจากตลาดหุ้น ทั้งที่ความจริงแล้วหากเลือกหุ้นถูกตัว การทำอะไรบางอย่างที่ว่า คือการนั่งอยู่เฉยๆ

********

ถ้าลงทุนระยะยาว ทำประมาณการไว้ สมมติ 7 ปี งบการเงินออกมาเป็นไปตามคาด หรือดีกว่าคาดมาตลอด กรณีแบบนี้ ถ้า ศก จะโตช้าลงจนทำให้ผลประกอบการในอนาคตชะลอลงบ้างก็ไม่เป็นไร (เพราะทำดีเกินมารอชดเชยไว้แล้ว) แต่แน่นอนว่าตลาดจะไม่ชอบ นั่นทำให้เกิดความผันผวนระยะสั้น

สิ่งที่ นลท ต้องทำจริงๆแล้ว คือ ดูว่าบริษัทยังสามารถสร้างผลประกอบการระยะยาวได้ตามแผนที่คาดไว้หรือไม่ หากใช่ ก็ไม่ต้องทำอะไร แทบจะไม่ต้องดูราคาหุ้นก็ยังได้ รอเพียงงบออก มาดูครั้งนึง หรืออาจจะดูราคาหุ้นเพื่อเช็คว่า มันขึ้นแรงเกินมูลค่าที่ประมาณไว้หรือไม่ ถ้าเป็นแบบนั้น ค่อยคิดขาย

โดยหากราคาหุ้นเต็มมูลค่าหรือเกินมูลค่าขึ้นมาแล้ว การจะขาย อาจใช้กราฟช่วย หรือแบ่งขายบางส่วนก็ได้

แต่ในกรณีที่เป็นตลาดหมี อันนี้คือสบายเลย เพราะราคาหุ้นคงไม่ขึ้นมาเกินมูลค่าในช่วงเวลานั้น นั่นแปลว่า แทบไม่ต้องดูราคาหุ้น รอดูแค่งบรายไตรมาสเท่านั้น

เวลาที่เหลือคือทำกิจกรรมอื่น ^^

*********
On twt

ช่วงจังหวะงานดี หาเงินได้มากให้สะสมทรัพย์สินเพิ่มขึ้นก่อน อย่าเพิ่งรีบขยับฐานะการใช้จ่ายเพิ่ม

ถ้าจะขยับการใช้จ่ายเพิ่ม(เพื่อความสุขสบาย) ให้ขยับตาม "ฐานะทรัพย์สินสุทธิ" ที่มี 

ไม่ใช่ขยับตามรายได้ เพราะรายได้ที่ดูมั่นคง แท้จริงแล้วอาจหดหายได้ทุกเมื่อ แต่ทรัพย์สินสุทธิที่มีนั้นไม่หดหาย

******
ถ้าคุณจะเร่งผลตอบแทนพอร์ต คุณต้องรู้ว่ามันเพิ่มความเสี่ยงเข้ามาด้วยไหม และเท่าไร ซึ่งปกติแล้วทุกการเร่งผลตอบแทนใดๆก็ตาม มักเพิ่มความเสี่ยงเข้ามาเสมอ ยิ่งพยายามเร่งเร็วเท่าไร ความเสี่ยงจะยิ่งเพิ่มมาในอัตราเร่งกว่าผลตอบแทนที่จะได้

ซึ่งแน่นอนว่า หากไม่ควบคุมความเสี่ยงที่เพิ่มเข้ามาให้ดี มันอาจจะทำให้พอร์ตของคุณระเบิดได้

อย่างไรก็ตาม พยายามจัดพอร์ตโดนคำนึงถึงว่า แม้ว่าพอร์ตจะระเบิดก็จะยังมีทุนเหลือพอที่สามารถลงทุนต่อได้

นักลงทุนหากไม่มีทุน ก็หมดสิทธิ์ที่จะเป็นนักลงทุน

*********
มูลค่าของบริษัทใดบริษัทหนึ่ง คือผลรวมของกระแสเงินสดที่จะได้รับในอนาคตตลอดทุกช่วงอายุแล้วนำมาคิดลดให้เป็นปัจจุบัน 

จะเห็นว่าตัวแปรหลักๆ
- กระแสเงินสดที่จะได้รับในอนาคต อยู่ที่การคาดการณ์ของแต่ละคน
- อัตราที่ใช้ "คิดลด" ให้เป็นมูลค่าปัจจุบัน อยู่ที่จะเลือกใช้ตัวเลขไหนในการคิดลด

*********

ถ้าอยากรู้ว่ากองทุนรวมไหนเป็นกองทุนที่ลงทุนระยะยาวไม่ใช่เทรดดิ้งให้ขอดู มูลค่าการซื้อขายหุ้นตลอดทั้งปี เอามาเทียบกับมูลค่ากองทุนเฉลี่ยทั้งปี หากเกิน 100% แสดงว่าระยะเวลาในการถือหุ้นเฉลี่ยตัวละไม่ถึง 1 ปี 

หากมูลค่าการซื้อขายหุ้นตลอดทั้งปีเทียบกับมูลค่ากองทุนเฉลี่ยทั้งปีแล้วเกิน 200% แสดงว่าระยะเวลาในการถือหุ้นเฉลี่ยตัวละไม่ถึง 6 เดือน 

โดยปกติการลงทุนใดๆก็ตาม จะต้องมีระยะเวลาในการถือหุ้นพอสมควร ไม่สั้นจนเกินไป 

และหากหนังสือชี้ชวนกองทุนบอกว่าเป็นการลงทุนระยะยาว เช่น Long term xxx  หนังสือชี้ชวนเหล่านั้นเสมือนเป็นคำมั่นสัญญา ว่าจะลงทุนระยะยาว

ปล. การหามูลค่าสัญญาของฟิวเจอร์และออฟชั่นแบบคร่าวๆ 

option และฟิวเจอร์ได้เสียกันจุดละ 200 บาท วิธีการหามูลค่าของ 1 สัญญา เช่นฟิวเจอร์ของเซต 50 ให้เอาดัชนี set50 * ด้วย 200 บาท  ไม่ใช่การดูที่เงินวางหลักประกัน  (margin) 

กองทุนต่างๆมักจะมีการป้องกันความเสี่ยงด้วยตราสารอนุพันธ์หรือตราสารสัญญาล่วงหน้า ก็คือฟิวเจอร์และ option นั่นแหละ 

และหลายๆครั้งมูลค่าการเทรดก็ไปซ่อนอยู่ในตราสารเหล่านี้

ส่วนมูลค่าการซื้อขายให้นับไป - กลับนับหนึ่ง หรือพูดง่ายๆคือเอามูลค่าการซื้อบวกกับมูลค่าการขายแล้วหาร 2

********
การตัดสินใจจำนวนมาก ที่ไม่ตั้งใจคิดจริงจังมักจะมาจาก การตัดสินใจด้วยความเคยชิน , สัญชาตญาณ, หรือเป็นการคิดแบบรวบรัด (บนพื้นฐานของความพึงใจ) ไม่ได้เป็นการตัดสินใจจากการใช้ตรรกะหรือเหตุผล 

การลงทุนระยะยาว จำเป็นต้องฝึกคิดแบบใช้ตรรกะให้เป็นอัติโนมัติ เนื่องจากการลงทุนระยะยาวเป็นการลงทุนที่จะต้องใช้เหตุผลค่อนข้างมาก ทั้งการประเมินมูลค่าหุ้น ทั้งการไม่คล้อยตามตลาด ทั้งต้องมีความอดทนสูง ซึ่งทั้งหมดล้วนฝืนกับอารมณ์ ที่เป็นพื้นฐานของการตัดสินใจด้วยความพึงพอใจและความเคยชิน 

โดยปกติแล้วการคิดอย่างมีตรรกะเป็นวิธีคิดที่มีกระบวนการที่มีลำดับเป็นขั้นตอนต่อเนื่อง ซึ่งต้องใช้ความพยายามในการคิด (หลายคนจะบอกว่าคิดแล้วเหนื่อย ใช่ แนวๆนั้นเลย) 

สมองคนเราจึงชอบที่จะคิดเร็วโดยอัตโนมัติ การคิดเร็วมักจะใช้ความพึงพอใจและสัญชาตญาณหรือความเคยชินเป็นหลัก มันสามารถคิดแบบรวบรัดได้ ไม่ต้องใช้ความพยายามมากทำให้ไม่เหนื่อยมาก จึงมักจะเป็นวิธีแรกที่สมองเลือกใช้ คิดได้เร็วแต่ถูกต้องหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

การจะเพิ่มโอกาสในการประสบความสำเร็จจากการลงทุนได้ ต้องฝึกวิธีคิดอย่างมีตรรกะให้เคยชิน เพื่อที่จะได้ดึงวิธีคิดด้านนั้นขึ้นมาใช้ทุกครั้งที่จะลงทุน

*********