วันพฤหัสบดีที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2565

หลักคิด 26

นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 จนถึงศตวรรษที่ 1990 กำไรของบริษัทในสหรัฐเพิ่มขึ้นมา 50 เท่า ดัชนีตลาดหุ้นขึ้นมา 60 เท่า สงคราม 4 ครั้ง เศรษฐกิจถดถอย 4 ครั้ง ประธานาธิบดี 8 คน การถอดถอนประธานาธิบดี 1 ครั้ง ก็ไม่ได้เปลี่ยนสิ่งนั้น

ทุกคนน่าจะได้สังเกตเห็นยอดขายที่แข็งแกร่งของ Dell Computer คนที่ซื้อหุ้น Dell ตั้งแต่ครั้งแรกจะได้รับผลตอบแทนถึง 889 เด้ง

(บทความนี้แสดงให้เห็นว่า แม้จะมีอุปสรรคใหญ่ขนาดไหนและมากมายขนาดไหน ก็ยังคงมีบริษัทที่เติบโต และตลาดหุ้นก็ยังมีหุ้นที่เติบโตฝ่าฟันอุปสรรคเหล่านั้นไปได้เสมอ)

*****
แม้ว่าในระยะสั้นตลาดมักจะผิด แต่น่าแปลกที่ในระยะยาวตลาดมักจะถูก 

เหมือนที่ ปีเตอร์ ลินซ์ มองเห็นอนาคตของอเมซอน แต่กลับไม่ให้ความสนใจมากพอ ทำให้เขาไม่ได้ซื้อเอาไว้ ภายในเวลาไม่ถึงปี ตลาดก็แสดงถึงสิ่งที่ถูกต้องให้เห็น

มันสะท้อนให้เห็นว่าในระยะยาวแล้วราคาจะวิ่งเข้าหามูลค่าเสมอ

*****

เมื่อคุณขายหุ้นในช่วงเวลาแห่งความสิ้นหวัง คุณจะขายไปในราคาถูกสุดเสมอ
**********

เวลาตลาดหุ้นตกลงหนักกว่าปกติ บรรดากองทุนต่างๆจะต้องเตรียมเงินเผื่อไว้สำหรับลูกค้าขายหน่วยลงทุนออกมา ซึ่งการเตรียมเงินในยามปกตินั้นมันมีเพียงพออยู่แล้ว แต่หากเป็นกรณีที่ตลาดหุ้นร่วงแรงเป็นพิเศษ บรรดากองทุนจะต้องขายหุ้นออกมาเพื่อเตรียมเงินไว้จ่ายให้กับลูกค้าที่ต้องการขายหน่วยลงทุนที่มีแรงขายมากเป็นพิเศษด้วย 

ดังนั้นดัชนีก็จะถูกแรงขายจากกองทุน เสริมเข้าไปอีก นั่นคือหนึ่งในสาเหตุว่าทำไมหุ้นดีๆบางตัว ราคาร่วงแรงในยามที่ดัชนีร่วงมากเป็นพิเศษ

*****

ความรู้และหลักการต่างๆ เกี่ยวกับการลงทุนมีให้ศึกษาอยู่มากมาย ความรู้สามารถเรียนรู้กันทันได้

แต่สิ่งที่จะทำให้เป็นผู้ชนะได้ โดยหลักการแล้วมันคือวินัย วินัยเป็นอะไรที่เลียนแบบกันยาก 

เป็นเรื่องที่น่าแปลกอีกอย่าง ในตลาดหุ้นแล้ว คนที่มีวินัยมากพอที่จะเป็นผู้ชนะ ก็มักจะชนะต่อไปเรื่อยๆ ในขณะที่คนที่ขาดวินัยก็มักจะเป็นผู้แพ้ที่แพ้ต่อไปเรื่อยๆเช่นกัน

******

ในตลาดหุ้นการรอให้ทุกอย่างชัดเจนก็มักจะสายเกินไปเสมอ ดังนั้นนักลงทุนที่อยู่ในตลาดหุ้นจึงต้องสามารถที่จะตัดสินใจและมีวิธีการในการตัดสินใจ บนข้อมูลที่ได้มานั้นยังไม่สมบูรณ์

*****

ถ้าคุณคาดการณ์โมเดลธุรกิจในระยะยาวได้แม่นยำ นั่นเท่ากับคุณสามารถคาดการณ์เป้าหมายของกราฟในระยะยาวได้อย่างแน่นอน
*****
การลงทุนด้วยปัจจัยพื้นฐาน ทำให้ซื้อหุ้นตั้งแต่ต้นเทรนด์ ซื้อหุ้นตั้งแต่ยังไม่มีใครสนใจ กราฟก็ยังไม่มีสัญญาณซื้อ หลายครั้งต้องรอนาน แต่ชดเชยด้วยการได้มาในราคาที่ต่ำมาก  

เมื่อต้นทุนต่ำก็จะส่งผลต่อ mindset ทำให้สามารถถือหุ้นได้ยาวนานขึ้น เนื่องจาก mdd จะน้อยกว่าการซื้อที่ราคาสูง เมื่อสามารถถือได้ทนกว่า การรันเทรนด์ยาวๆจึงทำได้ดีกว่า จึงสามารถทำกำไรเป็นกอบเป็นกำได้มากกว่า (แต่อาจไม่เร็วกว่า)

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อมี mdd ที่ต่ำกว่า โอกาศในการขาดทุนมากๆ จึงน้อยกว่าเช่นกัน

******
การดูว่าหุ้นตัวนั้นมีราคาถูกหรือแพง ไม่ใช่ดูเทียบกับราคาในอดีต แต่ต้องเทียบกับมูลค่าของบริษัทที่มีในปัจจุบันและความสามารถที่จะทำกำไรได้ในอนาคต

เช่น 
ราคาหุ้นในปัจจุบันที่เคยต่ำกว่าในอดีตอย่างมาก ไม่ได้แปลว่ามันราคาถูก ถ้าฐานะบริษัทแย่ลงมาก และ/หรือ ความสามารถในการทำกำไรในอนาคตตกต่ำ

รวมถึงราคาหุ้นที่สูงอย่างมากในปัจจุบันเมื่อเทียบกับอดีต ไม่ได้แปลว่ามันจะราคาแพงเสมอไป ถ้าฐานะทางการเงินของบริษัทดีขึ้นมาก และ/หรือ ความสามารถในการดำเนินงานในอนาคตมีแนวโน้มที่จะดีขึ้นมากๆ 

การประเมินมูลค่า ต้องใช้ร่วมกันทั้งฐานะทางการเงินของบริษัทในปัจจุบันประกอบกับความสามารถในการทำกำไรในอนาคตเข้ามาร่วมกัน ดังนั้นการประเมินมูลค่ามันจึงเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ มันจึงแตกต่างตามมุมมองของนักลงทุนแต่ละคนที่มีต่ออนาคตของบริษัท

ปล. พอร์ตหุ้นของสมาชิกในครอบครัว ที่ไม่เทรด ไม่เก็งกำไร เน้นการซื้อหุ้นเพื่อการลงทุนตั้งแต่ปัจจุบันโดยมุ่งหวังให้เป็นพอร์ตเพื่อการเกษียณในอีกหลายสิบปีข้างหน้า อายุพอร์ตประมาณ 2.5 ปี ปันผลประมาณปีละ 4-5% โดยเพิ่มขึ้นทุกปี

มีการขายหุ้นออกไปบ้าง 2-3 ตัวเพื่อสวิทช์ตัว ที่มีกำไรนอกเหนือจากแสดงอยู่ในรูป 

หุ้นที่ทั้งสองพอร์ตมีไม่เหมือนกัน คือตัวที่ซื้อน้อยๆติดพอร์ตเพื่อติดตามราคา 

หุ้นบางตัวในพอร์ตที่เห็นว่าราคาขึ้นมาแล้วนั้น ล้วนยังมีราคาต่ำกว่ามูลค่าอยู่มาก (ในมุมมองของเจ้าของพอร์ต) ถึงได้ยังถืออยู่ในพอร์ตต่อ 

การลงทุนโดยไม่เทรด ผลตอบแทนไม่ได้แย่เลย แต่สิ่งที่ได้คือ มีเวลาในการคิดอย่างสุขุมมากขึ้น มีเวลาในการใช้ชีวิตมากขึ้น คนไม่น้อยเข้าใจผิดคิดว่าการสร้างพอร์ตให้โตอย่างรวดเร็วนั้นจะต้องอาศัยการเทรดแต่เพียงอย่างเดียว 


******

มีอยู่ปีนึงที่ไปประชุมผู้ถือหุ้น จำได้ว่าคุณอนุพงษ์ ตอบคำถามนักลงทุนว่า การทำคอนโด (High rise building) มีความเสี่ยงหลายด้าน เราควรจะกระจายความเสี่ยง เราจึงต้องการ partner ร่วมลงทุน ซึ่ง partner ของเราก็เป็นบริษัทอสังหาเจ้าใหญ่ในญี่ปุ่น 

เรามาคิดดูมันจริงมาก
- การสร้างคอนโดจะต้องลงเงินทั้งก้อน เช่นถ้าโครงการ 2 พันล้าน ก็ต้องใส่เงินทั้ง 2 พันล้าน สร้างเสร็จแล้วถึงจะโอนได้ ต่างจากแนวราบ ที่สามารถทยอยสร้างเป็นเฟสและทยอยขาย ทยอยโอนได้ ความเสี่ยงจึงต่ำกว่า 

- มีตัวอย่างที่เราเห็นจากพฤกษา ซื้อที่ดินมา 2-3 แปลงแล้วไม่สามารถขึ้นคอนโดได้ ต้องพับโครงการประกาศขายที่ดิน 

- มีตัวอย่างจากศุภาลัย ที่ขนาดผ่าน EIA แล้ว ยังมีการโดนร้องเรียนระงับ EIA ชั่วคราวย้อนหลัง (อันนี้คือ งง มาก) 

- ยังดีที่ว่า ทั้งพฤกษาและศุภาลัยเป็นบริษัทใหญ่มีโครงการจำนวนมาก และฐานะการเงินแข็งแกร่ง ก็นับว่าเป็นการกระจายความเสี่ยงในตัวเองอย่างนึง 

- ยังมีตัวอย่างที่หนักหนา เช่น ‘แอชตัน อโศก’ ถูกฟ้อง เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้าง กับแนวทาง ‘อนันดา-กทม.’ ยื่นอุทธรณ์สู้ต่อ https://www.brandbuffet.in.th/2021/08/ashton-asoke-will-appeal-to-the-supreme-administrative-court/

ถ้าเป็นบริษัทเล็กๆทำซัก 3-4 โครงการโดนไป หนึ่งโครงการแบบนี้อาจถึงขั้นล้มละลายได้  

นี่คืออีกเหตุผลหนึ่งที่ไม่ควรลงทุนในบริษัทที่เล็กจนเกินไป เพราะเวลาโดนอะไรมากระทบบางครั้งอาจล้มหายตายจากได้ง่ายๆ

********

คนที่ซื้อบ้านเพื่ออยู่อาศัย ส่วนมากจะคิดมารอบคอบ ทั้งการเงินและทำเล รวมถึงสิ่งแวดล้อม นั่นทำให้ส่วนมากเมื่อเวลาขาย มักจะได้กำไร และที่แน่ๆคือโอกาสหมดตัวจากการลงทุนในบ้านนั้นไม่มีเลย

ที่สำคัญ การซื้อบ้านมักจะวางเงินดาวน์ 10-20% ที่เหลือสามารถกู้ธนาคารได้ (กรมที่ดินประกาศราคาประเมินที่ดินขึ้นเกือบ 9% สำหรับสามปี) สมมติ ราคาบ้านขึ้นปีละ 3%

สมมติ บ้านราคา 5 ลบ วางดาวน์ 20% (สมมติราคาบ้านขึ้นปีละ 3%) สามปี บ้านราคา 5.45 ลบ แต่เงินลงทุน วางดาวน์ 20% คือ 1 ลบ สามปีผ่อนไปอีกประมาณ 1 ลบ

กำไร 4.5 แสน จากราคาบ้านที่ขี้น บนต้นทุน 1 ลบ (ดาวน์) + 1 ลบ (ผ่อนสามปี)
คิดเป็นผลตอบแทนคร่าวๆ 22.5% ต่อสามปี หากคำนวณละเอียดจะได้มากกว่าเพราะล้านที่ผ่อนนั้นทยอยจ่าย (ทยอยรับรู้เป็นต้นทุน)

ดังนั้นการซื้อบ้านเพื่ออยู่เอง บนทำเลที่ดี และผ่อนไหว มักจะมีกำไร จะมากจะน้อยขึ้นอยู่กับความพิถีพิถันในการเลือก หมายถึงบ้านแนวราบโดยวัตถุประสงค์เพื่อการอยู่อาศัยจริงๆเท่านั้นนะครับ (ส่วนคอนโดจะมีความหวือหวากว่า)

อีกอย่างคือ ดอกเบี้ยจากการซื้ออสังหาเพื่ออยู่อาศัย ลดหย่อนภาษีได้ (ถ้าจำไม่ผิด ไม่เกินปีละหนึ่งแสน)

รวมถึงบ้านยังเป็นทรัพย์สินที่ดีที่สุดในการป้องกันเงินเฟ้อ ยิ่งเงินเฟ้อมากขึ้นราคาบ้านและที่ดินก็มักจะยิ่งขยับสูงขึ้นตาม

*****

หุ้นที่พีอีสูงลิ่ว จะต้องการกำไรที่เติบโตอย่างเหลือเชื่อเพื่อมาสนับสนุนราคาหุ้น

*********นลท ที่ตกใจง่ายเกินไปจะออกจากตลาดหุ้นในขณะที่ตลาดเต็มไปด้วยข่าวร้าย ไม่ว่าเขาจะฉลาดแค่ไหนก็ตาม

******

อาคารตามหลัก บช แล้วมักถูกตัดค่าเสื่อมเป็นเวลา 30 ปี แต่โครงสร้างของอาคารจริง ตามการใช้งานจริง มักจะสามารถใช้งานได้มากกว่า 50 ปี ดังนั้นเมื่อครบ 30 ปี ของการตัดค่าเสื่อม กำไรก็จะเพิ่มขึ้นอย่างมาก เนื่องจากไม่มีค่าใช้จ่ายเรื่องค่าเสื่อม 

หากจะต้องมีการปรับปรุงอาคาร แล้วตัดเป็นค่าเสื่อม โดยมากค่าเสื่อมของการปรับปรุงอาคาร มักจะน้อยกว่าค่าเสื่อมจากการสร้างอาคารค่อนข้างมาก พูดง่ายๆก็คือ ค่าใช้จ่ายด้านค่าเสื่อมจะลดลงค่อนข้างมากแม้จะมีการรีโนเวทก็ตาม ส่งผลให้มีโอกาสที่ NET profit margin จะเพิ่มมากขึ้น 

ธุรกิจที่ต้องใช้อาคารเป็นทรัพย์สิน เช่นโรงแรม โรงพยาบาล (การรีโนเวทโรงแรม อาจมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าการรีโนเวทโรงพยาบาล) เมื่อเปิดมานานพอ จนค่าเสื่อมอาคารถูกตัดจนหมด โดยเฉพาะอาคารที่ค่าใช้จ่ายในการรีโนเวทไม่สูงมากนัก มีความน่าสนใจว่า ผลกำไรจะแข็งแกร่งขึ้นมากได้

**********

ความอดทนที่จะไม่ทำตามใจ เป็นหนึ่งในหลักการที่สำคัญของนักลงทุน

*****

ตัวอย่างการเปรียบเทียบบริษัทกับผลงานของตัวเองในอดีต 

BAFS 
3 มค 2018 ณ ราคา 44 บ.
P/B 4.5 เท่า , ROE 15.8% , IBD/E 0.52 

13 มค 2023 ณ ราคา 33.25 บ.
P/B 4.65 เท่า , ROE -9.73% , IBD/E 3.31

ปัจจุบัน
ราคาแพงกว่าดูจาก P/B (ถูกแพงไม่ใช่ดูจากราคา)
ความสามารถในการทำกำไรต่ำกว่าจาก ROE
งบการเงินอ่อนแอกว่าจาก IBD/E

*****

อย่าฝากชีวิตไว้กับเงินเดือน แม้จะต้องใช้เงินเดือนเพื่อสร้างหลักประกันในอนาคตก็ตาม

หลักประกันในอนาคตต้องสร้างด้วยตนเองจากความคิดของตนเอง เช่น คิดที่จะมีรายได้ปันผล คิดที่จะมีรายได้จากค่าเช่า 

คิดแล้วลงมือทำ

******

อย่าพยายามออกนอกหลักการลงทุนของตนเอง เพราะโอกาสผิดพลาดจะมีมากกว่า และถ้าหากไม่จำเป็นก็อย่าแก้ไขหลักการ ยกเว้นบางครั้งที่ราคาหุ้นถูกมากๆ แต่ต้องระลึกไว้เสมอ ว่าการออกนอกหลักการ โอกาสพลาดจะเพิ่มขึ้นสูงมาก

*****

พยายามคิดอยู่เสมอ ว่าตนเองไม่ใช่คนที่กล้าหาญ ที่พร้อมจะรับความทุกความเสี่ยงเพื่อไล่ล่ากำไร แต่ควรคิดอยู่เสมอว่า ข้างหน้านั้นมีความเสี่ยงอะไรอยู่บ้าง และการป้องกันความเสี่ยงเป็นสิ่งสำคัญ

*****
อย่างน้อยมีหนึ่งสิ่งที่เรารู้อย่างแน่ชัด นั่นคือ ไม่ว่าจะตลาดหมีหรือตลาดกระทิง มันจะไม่คงอยู่ตลอดไปอย่างแน่นอน

*********

เมื่อนักลงทุนมีแนวคิดในการลงทุนที่ยอมรับความเสี่ยงมากขึ้นเพื่อผลตอบแทนที่สูงขึ้น ความจริงอย่างหนึ่งก็คือ เมื่อได้ผลตอบแทนสูงขึ้นในบางครั้งที่ลงทุนในหุ้นบางตัว ด้วยแนวคิดนั้นจะทำให้มีหุ้นตัวอื่นที่ fail เข้ามาในพอร์ตหุ้นด้วยเช่นกัน และมันจะเข้ามาหักล้าง กับการลงทุนที่ได้ผลตอบแทนสูง 

แนวคิดที่เปิดกว้างเพื่อรับผลตอบแทนที่สูง แนวคิดนั้นย่อมจะเปิดรับความเสี่ยงที่สูงติดเข้ามาด้วยเสมอ 

ถ้าสังเกต ในระยะยาวแล้วแนวทางลงทุนที่ได้ผลตอบแทนสูง(ในระยะสั้น) เมื่อลงทุนเป็นเวลานานเพียงพอ กลับได้ผลตอบแทนค่าเฉลี่ยไม่มากไปกว่านักลงทุนระดับโลก ที่มีผลตอบแทนเฉลี่ยประมาณ 20 กว่าเปอร์เซ็นต์เท่านั้น 

นั่นหมายถึงว่าไม่ว่าคุณจะพยายามมากแค่ไหนก็ตาม สุดท้ายแล้วในระยะยาว ก็จะโดนดึงกลับลงมา ต่ำกว่าผลตอบแทนของนักลงทุนระดับโลกเสมอ

ยกเว้นแต่เพียงว่า คุณจะใช้วิธีที่ไม่แฟร์ เช่นใช้อินไซด์ หรือใช้การคอนเนอร์หุ้น หรือใช้ชื่อเสียงเพื่อให้คนหมู่มากแห่ตาม หรือแม้กระทั่งการใช้ connection ตีซี้กับ ผบห ซึ่งวิธีการเหล่านั้น เจ้าตัวย่อมรู้อยู่แก่ใจ ผลตอบแทนที่ได้มาเกิน มันไม่โอเค

******

หลายครั้งเจอคำถาม ว่าเมื่อไรจะขายหุ้น xxxx 

คำตอบ คือ ไม่รู้จริงๆ เมื่อไรที่มีสัญญาณขายก็เมื่อนั้น ระหว่างนั้นทำได้แค่ติดตามตัวธุรกิจ และถ้าธุรกิจยังดีอยู่ ก็ยังไม่มีเหตุให้ขาย ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ธุรกิจจะแย่แบบพื้นฐานเปลี่ยนไปจริงๆ ทำให้เราไม่สามารถรู้ล่วงหน้าได้ว่า จะขายหุ้นเมื่อไหร่

วันเสาร์ที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2565

หลักคิด 25

กำหนดเป้าหมาย สร้างขั้นตอนที่จะไปสู่เป้าหมาย แบ่งขั้นตอนเหล่านั้นให้เป็นขั้นตอนเล็กๆ ทำแต่ละขั้นตอนให้สำเร็จ ทำอย่างมีวินัย และมุ่งมั่น จนสำเร็จที่ละขั้นทีละขั้น สุดท้ายก็จะพิชิตเป้าหมายได้

******
จุดอ่อนของ dca คือไม่สนราคาที่ซื้อ ซึ่งจุดแข็งของ vi คือราคาที่ซื้อครับ

******

เวลาเราเทียบราคาหุ้นกับความสามารถในการทำกำไรของบริษัท แล้วมักจะใช้ค่า P/E ในการดูเพื่อเปรียบเทียบ

แต่จุดอ่อนของค่า P/E คือ earning ที่เป็นตัวหาร บริษัทที่ใช้เงินกู้สูง มีโอกาสที่จะมีกำไรมากกว่าบริษัทที่ใช้เงินกู้ต่ำ แต่ความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจก็จะสูงตามไปด้วย 

การที่เราจะดูแต่ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทโดยมองข้ามความเสี่ยงที่บริษัทต้องแบกรับเอาไว้ มันไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้องสักทีเดียว 

มันเหมือนกับพอร์ตหุ้น ที่มุ่งแต่จะทำกำไรแล้วใช้เงินกู้สูงๆ พอร์ตหุ้นก็จะพังได้ง่ายๆ 

ดังนั้นการดูความสามารถในการทำกำไร จึงควรรวมความเสี่ยงจากเงินกู้เอาไว้ด้วย 

P/E นั้น มันก็คือ Mkt Cap / Net Profit 
เมื่อจะเอาความเสี่ยงจากเงินกู้มารวมเข้าไปด้วยสูตรก็จะเป็น 

{Mkt Cap + (Debt - Cash)} / EBIT

ก็คือเป็นการรวมเอาเงินกู้โดยการหักด้วยเงินสด แทนการใช้ market cap แต่เพียงอย่างเดียว (ซึ่งมาร์เก็ตแคปเมื่อหารด้วยจำนวนหุ้นแล้วมันก็คือ P ในสูตร P/E นั่นเอง)

ส่วนที่ใช้ ebit แทน earning หรือ net profit ก็เนื่องจาก EBIT เป็นตัวแทนของผลกำไรจากการดำเนินงานโดยตรง 

ซึ่งสูตร {Mkt Cap + (Debt - Cash)} / EBIT ก็คือ EV/EBIT (enterprise value / ebit) นั่นเอง 

การเปรียบเทียบหุ้นที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันด้วย EV/EBIT จะทำให้เห็นภาพได้ชัดกว่า P/E เพราะจะไม่โดนหลอกด้วยบริษัทที่ใช้ leverage สูงๆ
โดยการใช้ค่า EV/EBIT ก็จะมีหลักการเหมือนกับค่า P/E คือ ค่าที่ต่ำจะเป็นที่ Prefer มากกว่าค่าที่สูง

ตัวอย่าง การเปรียบเทียบค่า EV/EBIT ในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน 

ณ 2/12/2022
TICKER P/E EV/EBIT ค่าแตกต่าง
AP 5.72 8.51 48.7%
PSH 10.40 12.29 18.2%
SC 8.25 13.80 67.3%
LH 13.55 25.40 87.5%  
BRI 7.06 9.52 34.8%
ORI 7.33 15.44 110.6%  

การใช้ค่า EV/EBIT คือ ค่าที่ต่ำจะเป็นที่ชื่นชอบมากกว่า เหมือนค่า P/E โดยการดูเปรียบเทียบกับตัวอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกัน

ส่วน "ค่าแตกต่าง" คือ ค่าที่แตกต่างระหว่าง EV/EBIT กับ P/E 

เนื่องจาก P กับ EV ต่างกันเพียง Debt ที่บวกเข้ามา
ดังนั้น ค่า P/E ที่แตกต่างกับ EV/EBIT มากๆ จะหมายถึง บ.นั้นมีการใช้ leverage ที่สูง (มี debt ในสัดส่วนที่สูงกว่าบริษัทที่มีค่าที่แตกต่างกันน้อยนั่นเอง)

อนึ่ง หากจะใช้ค่า EV/NET PROFIT หรือ EV/EBITDA เพื่อเปรียบเทียบกับแต่ละบริษัทในอุตสาหกรรมเดียวกันก็สามารถทำได้เช่นกัน

******
แต่ละธุรกิจต้องหาจุดตายที่เป็น "ปัจจัยหลัก" ของตัวเองให้เจอ ส่วนปัจจัยอื่นเป็นเพียงปัจจัยรอบด้านจะมีทั้งลูกค้าที่ยอมรับได้และรับไม่ได้กับปัจจัยข้างเคียง แต่ลูกค้าทั้งหมดจะยอมรับไม่ได้ถ้าปัจจัยหลักไม่ตอบโจทย์

ตัวอย่างเช่น ร้านอาหาร ปัจจัยหลักคือความอร่อยและสะอาดถูกอนามัย ส่วนเรื่องให้ปริมาณมากหรือน้อย ราคาถูกหรือแพง  จะมี "ลูกค้าบางกลุ่ม" ยอมรับได้และยอมรับไม่ได้ 

แต่ถ้าปัจจัยหลักคือไม่อร่อยและไม่สะอาด "ลูกค้าทุกกลุ่ม" จะยอมรับไม่ได้อย่างแน่นอน ซึ่งนั่นจะทำให้ตัวธุรกิจไปไม่รอด

********

จุดอ่อนของการสะสมหุ้นแบบ dca คือไม่สนราคาที่ซื้อ ซึ่งราคาที่ซื้อเป็นจุดแข็งของการลงทุนแบบ vi

*******

ให้ ❤️ แทนเงินปันผลของบ.ที่มีการเติบโต

A
การลงทุนในบริษัทที่มีการเติบโต ตัวอย่างเช่น การเติบโต 4-8% แบบต่อเนื่อง บริษัทก็จะมีปันผลที่จ่ายค่อยๆเติบโตขึ้นทุกปี สังเกตที่รูป A 
เงินปันผล ❤️ จะค่อยๆเติบโต รวมทั้งมูลค่าของบริษัทก็จะค่อยๆเติบโตเพิ่มขึ้น 

มูลค่าของบริษัท เหมือนรูปสามเหลี่ยมสีน้ำเงิน จากปัจจุบันไปอนาคต คือค่อยๆมีค่ามากขึ้นในระยะยาว  

B
แต่หากลงทุนในกอง Reit ที่เป็น Lease Hold เช่นลงทุนในสิทธิการเช่าระยะยาว แล้วนำมาปล่อยเช่าต่อ ภาพรวมที่ได้จะเป็นแบบรูป B
คือเงินปันผล ❤️ ดูเหมือนจะได้มาก แต่เงินปันผลจะได้ประมาณใกล้เคียงเดิม รวมทั้งมูลค่าของบริษัทจะค่อยๆลดลงตามสัญญาเช่าระยะยาวที่หมดอายุลงไปเรื่อยๆ
มูลค่าของบริษัทจะเหมือนในรูปสามเหลี่ยมสีแดง จากปัจจุบันไปอนาคต มูลค่าก็จะมีแต่ลดลง ตามระยะเวลาสัญญาที่ได้มา ที่ค่อยๆหมดลง

นักลงทุนระยะยาวควรที่จะถือทรัพย์สินที่มีค่าเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆเมื่อเวลาผ่านไปยิ่งนานยิ่งมีค่ามากขึ้น ไม่ใช่ถือทรัพย์สินที่มีค่าลดลงเมื่อเวลาผ่านไป 

ยิ่งถ้าหากคำนวณ IRR ตลอดอายุสัญญาไม่เป็นแล้วไปซื้อทรัพย์สินที่ในอนาคตมีมูลค่าลดลงเข้าพอร์ต โอกาสที่จะเสียเงิน หรือได้ผลตอบแทนไม่คุ้มค่าจับเวลาที่เสียไปนั้นมีสูงมาก 

********

ความยุ่ง ความวุ่นวาย ความเร่งรีบ ในกิจกรรมที่ทำอยู่ตลอดเวลานั้น ทำให้ไม่มีเวลามากพอที่จะคิด เพื่อกำหนดเป้าหมาย เพื่อวางแผนขั้นตอนไปสู่เป้าหมาย เพราะมัววุ่นวายอยู่กับกิจกรรมระยะสั้นตลอดเวลาจนหมดวัน

******
ความเข้าใจเรื่อง DCF แบบง่ายๆ

สมมติ โต๊ะตัวนึงราคาปัจจุบัน $172 
ด้วยอัตราเงินเฟ้อ 3% โต๊ะตัวเดียวกันอีก 5 ปีข้างหน้าจะขายอยู่ที่ราคา $200

ถ้าในอีก 5 ปีข้างหน้า คุณมีความจำเป็นต้องใช้โต๊ะตัวนั้น คุณคงไม่อยากซื้อโต๊ะตัวนั้นในตอนนี้ที่ราคา $172 เพราะราคามันไม่ดึงดูดใจมากนัก

แต่ถ้าร้านค้าเสนอว่าให้ส่วนลด 30% จากราคาปัจจุบัน เหลือ $120 เพื่อให้คุณตัดสินใจซื้อได้ง่าย

คุณก็จะเกิดความเปรียบเทียบแล้วว่า ต้องใช้โต๊ะตัวนี้ในอนาคตอีก 5 ปีข้างหน้า ราคาโต๊ะจะอยู่ที่ $200 แต่ถ้าซื้อตอนนี้ $120
มันน่าจะคุ้มค่าที่จะซื้อตอนนี้เลย

ราคา $200 ในอนาคต 5ปีข้างน้า เราเรียก Future value

เงินเฟ้อ 3% มันคือ "อัตราคิดลด" 

ส่วนราคาปัจจุบัน $172 เรียก Present value

ส่วนลดที่ร้านค้าเสนอให้ 30% มันคือ Margin of safety (ส่วนเผื่อความปลอดภัย) นั่นเอง

เป็นไอเดียง่ายๆที่จะเข้าใจ DCF และ MOS

********"

ค่า PE ที่เป็นปัจจุบัน หรือ Trailing P/E เปรียบเทียบถึงราคากับกำไรของบริษัทที่ผ่านไปแล้วเท่านั้น 

ส่วนค่า PE ที่ใช้ forward earning นั้นได้สะท้อนการคาดการณ์ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทในอนาคตเข้ามาไว้ ซึ่งการคาดการณ์นั้นอาจจะมี bias ในทางบวกหรือทางลบมากกว่าความเป็นจริงก็ได้

สิ่งที่ไม่ได้สะท้อนไว้ในค่า P/E ก็คือความแข็งแกร่งและความเสี่ยงต่างๆของบริษัท

*****

ถ้าบาทแข็งค่าขึ้น ส่งออกจะเสียประโยชน์ 

สมมติ ในบ.ที่ส่งออกล้วนไม่มีนำเข้าเลย ถ้าบาทแข็งขึ้น 5% รายรับของ บ.ลดลง 5% แต่ คชจ ของ บ.มักจะมีต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่ไม่ลดตามค่าเงิน นั่นทำให้รายรับที่ลดลงเป็น amount ส่งโดยตรงลงมาที่กำไร พอคิดเทียบการเติบโตเป็น % จะพบว่ากำไรจะลดลงมากกว่าค่าเงินที่ลดลง 

สมมติ รายได้ 100,000 (ส่งออกล้วน) 
ต้นทุนและ คชจ เป็นเงิน 80,000 
EBIT 20,000 

พอค่าเงินลด 5% รายได้เหลือ 95,000 
ต้นทุนและคชจ เท่าเดิม 80,000
EBIT 15,000 

EBIT จากเดิม 20,000 เหลือ 15,000
อัตราการเติบโตของ EBIT ลดลง -25% ทั้งที่ค่าเงินลดลงแค่ 5%

********

หาหุ้นยอดเยี่ยมในอุตสาหกรรมยอดแย่ : Peter Lynch

อุตสาหกรรมยอดแย่โดยรวมอาจไม่ค่อยโต พอมีวิกฤตเข้ามา บริษัทที่มีหนี้สินมากมีโอกาสที่จะล้มหายตายจาก 

มีบางบริษัทในอุตสาหกรรมที่เจ็บตัวหนักและฟื้นตัวได้ช้า 

บริษัทขนาดเล็กในอุตสาหกรรมที่ย่ำแย่อยู่นั้น ธนาคารไม่ปล่อยสภาพคล่องเพิ่มให้ ทำให้เสีย market share ออกไป 

ผู้แข่งรายใหม่เข้ามาแล้วไม่น่ากลัว เพราะความน่าเชื่อถือของชื่อเสียงมีน้อย 

บริษัทที่รอดเจ็บตัวน้อย หรืออาจไม่เจ็บตัวเลยถ้าวางกลยุทธ์ไว้ดีพอ หนี้สินต่ำ ฟื้นตัวไว ได้ market share เพิ่ม และยิ่งถ้าหากมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆที่โดนใจลูกค้า จะยิ่งกิน market share เพิ่มเข้าไปอีก

บริษัทลักษณะนี้ คือบริษัทที่น่าลงทุนและยิ่งหากมีเงินปันผลสูงด้วยแล้วล่ะก็จะสามารถทำให้ถือหุ้นรอวิกฤตนั้นผ่านไปได้

นึกถึงหุ้นตัวไหนกันครับ ที่ผ่านวิกฤติโควิดมาได้และ Gain mkt share ได้จนวิกฤติกลายเป็นโอกาสของ บ. 😊

*********

หลายๆครั้ง ข่าวแค่หาเหตุเพื่อมาอธิบายราคาหุ้นที่ขยับขึ้นลง

*******
คนไม่น้อยติดกับดักหุ้นตัวเล็ก
สิ่งที่เป็นข้อด้อยของหุ้นตัวเล็ก

- มักไม่มี economy of scale หรือมีน้อย สู้บ.ใหญ่ไม่ได้
- ต้นทุนเงินทุนของ บ.สูง ต้นทุนเงินกู้สูง 
- ความเชื่อถือที่ลูกค้ามีให้ ต่ำกว่า บ.ใหญ่
- ทรัพยากรต่างๆไม่พร้อม
- พนง ที่เก่งๆมักไปทำงานประเภทเดียวกัน อุตสาหกรรมเดียวกัน ใน บ.ที่ใหญ่กว่า 
- บ.ใหญ่กว่า offer สิ่งจูงใจในการคัดคนระดับครีมเข้าทำงานได้มากกว่า
- เมื่อเจอวิกฤติ บ.เล็กมีโอกาสล้มได้ง่ายกว่า

**********
เวลาคุณคัดเลือกหุ้นเข้าพอร์ต คุณแค่คัดเลือกหุ้นที่ปัจจัยพื้นฐานดี มีปันผลที่พอใช้ได้ มีผู้บริหารที่มีแนวโน้มที่ดี 

เริ่มแรกอาจจะเอาเข้ามาหลายๆตัวที่มีปัจจัยแบบนั้น หลังจากนั้นติดตามผลงาน ติดตามการดำเนินงาน ถ้าหากบริษัทไหนที่ไม่ได้เป็นอย่างที่เราคาดว่าจะเป็นหรือควรจะเป็น ก็แค่ตัดออก 

เป็นธรรมดา หุ้นที่คุณเลือกเข้ามาย่อมไม่มีทางถูกต้องทั้ง 100% ขอเพียงแค่ถูกสักครึ่งหนึ่ง ส่วนที่ผิดคุณไม่เจ็บตัวมากเพราะมีพื้นฐานที่ดี มีปันผลที่สูงรองรับ การตัดขาดทุนนั้น ขาดทุนจะเป็นสัดส่วนที่น้อย ในขณะที่ตัวที่เป็นผู้ชนะในพอร์ตจะสร้างกำไรครอบคลุมผลขาดทุนรวมถึงสร้างกำไรที่เกินไปอีกมากให้กับคุณ

จุดสำคัญอยู่ที่การคัดเลือกหุ้นเข้ามา โดยหุ้นทุกตัวจะต้องมีปัจจัยที่ดีเป็นตัวหนุน มีปันผลที่ดีเป็นตัวหนุน 

จะว่าไปแล้วหลักการแบบนี้ มีความคล้ายกับ การเทรดโดยใช้วิธีแบบโมเมนตัม ต่างกันตรงที่ว่า แทนที่จะใช้ในด้านของราคา ก็ใช้ในด้านของปัจจัยพื้นฐาน ซึ่งมันจับต้องและเป็นสินทรัพย์ได้มากกว่า
*******
หนึ่งในข้อผิดพลาดที่นักลงทุนจำนวนไม่น้อยมักจะทำผิด คือการคิดว่าหุ้นวัฏจักรคือหุ้น growth แล้วซื้อในช่วงที่ดีของธุรกิจเพื่อลงทุนระยะยาว