วันเสาร์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2566

หลักคิด 29

บริษัทที่บริหารกระแสเงินสดผิดพลาด (เช่นการใช้หนี้ระยะสั้นไปลงทุนในทรัพย์สินระยะยาว หรือใช้หนี้ที่มีอัตราดอกเบี้ยลอยตัวไปลงทุนในสินทรัพย์ที่กระแสเงินสดมีแนวโน้มได้รับผลกระทบเชิงลบจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น) จะทำให้ โอกาสของความเสี่ยงในการล้มละลายสูงขึ้น 

ความผิดพลาดในการบริหารกระแสเงินสดผิดพลาด (mismatch duration) เป็นกรณีคลาสสิคมาก พบได้บ่อย เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยเดิมบ่อย มีบทเรียนมากมายแต่ ผบห หลายๆ บ.มักจะละเลย ความเสี่ยงด้านนี้ เพราะมันเป็นช่องทางที่เห็นโอกาสการทำกำไรได้ง่ายที่สุด (กินส่วนต่างของผลตอบแทนแบบไม่เหนื่อย ไม่ต้องลงแรงมาก)

ยกตัวอย่างล่าสุด SVB เอาเงินฝาก เงินออม ที่มาฝากระยะสั้น (เงินฝาก ระยะเวลาในการฝากยาวสุด เช่นฝากประจำ มักจะอยู่ในช่วง 1-3 ปีเท่านั้น ในขณะที่เงินฝากออมทรัพย์สามารถถอนออกได้ทุกเวลา) ไปลงทุนในพันธบัตรระยะยาว เช่น 10 ปีถึง 30 ปี 

และตัวพันธบัตรระยะยาว ได้รับผลกระทบในทางลบจากเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นทำให้ธนาคารกลางสหรัฐต้องขึ้นดอกเบี้ย ทำให้มูลค่าพันธบัตรลดลง จากราคาหน้าตั๋ว 

สุดท้าย SVB ก็ไปต่อไม่ไหว ต้องให้ธนาคารกลางเข้ามาอุ้ม ในมุมของผู้ถือหุ้นเดิมนั้นไม่ต่างอะไรกับล้มละลายไปแล้ว เพียงแต่เป็นการล้มละลายที่ไม่กระทบกับฝั่งลูกค้าที่มาฝากเงิน จากการค้ำประกันให้ของธนาคารกลาง แต่ในด้านของผู้ถือหุ้นถูกบังคับขายในราคาขาดทุนมหาศาลให้กับ UBS ไปแล้ว (เพราะ SVB ขาดสภาพคล่องในการดำเนินกิจการ)

อาจกล่าวได้ว่า ความผิดพลาดในการบริหารเงินสด เป็นตัวลดมูลค่าของบริษัท หรือพูดอีกนัยยะหนึ่งก็คือ หากบริษัทสามารถลดความผิดพลาดของการบริหารเงินสด (เช่น mismatch duration) ลงได้ ก็จะเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับบริษัท 

********

พอร์ตเราค่อนข้างโฟกัสและมีหุ้นในพอร์ตเกือบ 100% แทบตลอดเวลา ดังนั้นเมื่อเจอหุ้นตัวใหม่ที่มีอัพไซด์มากๆ ที่เราทำได้คือการสับเปลี่ยนหุ้น ลดสัดส่วนหุ้นเดิมที่มีอัพไซด์น้อยสุดในพอร์ตลง เพื่อเอาตัวใหม่ที่มีอัพไซด์มากเข้าพอร์ต

ผลจากการลดสัดส่วน ส่งผลให้หุ้นบางตัวในพอร์ตมีสถานะ(เกือบ)เป็น Alpha ทั้งๆที่ยังมีสัดส่วนที่มากของพอร์ต 

เพราะตอนที่หุ้นตัวนั้นแม้ราคาขึ้นมา แต่มีอัพไซด์มาก เราก็ซื้อเติมตลอดทาง ทำให้มีจำนวนหุ้นมากกว่าที่กำหนดไว้ พอขายลดสัดส่วนลงเหลือเท่าที่ต้องการ เลยกลายสถานะเป็นหุ้น Alpha ได้

หุ้นราคา Laggards ซื้อตามจำนวนที่ต้องการ --> งบออกดีตามคาด แต่ราคายัง Laggards --> ซื้อเพิ่มเกินจำนวนที่ต้องการ --> ราคาหุ้นขึ้นมา+เจอตัวใหม่ที่ราคา Laggards มาก --> ลด "ส่วนเกิน" ตัวเก่าซื้อตัวใหม่ที่มีอัพไซด์มาก --> ได้ตัวเก่าในสัดส่วนที่ต้องการและกลายเป็นหุ้น Alpha ในพอร์ต

Asset ที่เป็น Alpha ในความหมายของเรา คือ asset ที่ต้นทุนเป็นศูนย์ แต่ยังสามารถสร้างกระแสเงินสดให้เราได้เรื่อยๆ เช่น

หุ้นเทรด หมายถึงเทรดจนเอาต้นทุนออกมาหมดแล้ว และเหลือหุ้นที่เป็นกำไรไว้เทรดสร้างกระแสเงินสดเข้าพอร์ต

หุ้นลงทุนระยะยาว หมายถึงต้นทุนเป็นศูนย์แต่รับปันผลเรื่อยๆ

*****

แนวคิดที่เราใช้มาตลอดหลายปีที่ผ่านมา จนถึงวันนี้มาดูผลตอบแทนย้อนหลังทุกปีที่ผ่านมาของการใช้แนวคิดนี้ เป็นบวกทุกปีในระดับที่น่าพอใจมากทั้งจาก div และ Cap gain

แนวคิดที่เราใช้

- หุ้นไทยที่น่าลงทุน คือ หุ้นที่เป็นหุ้น มั่นคง แนว value+ปันผล และ มีการเติบโตบ้าง แต่ต้องเป็นการทยอยซื้อตามจุดต่างๆ หลายๆไม้

- สิบกว่าปีที่ผ่านมา เงินง่ายไม่ได้ไหลเข้าตลาดหุ้นไทย มีแต่ไหลออก เพิ่งมีปลายปี 2021 ที่เริ่มมีกลับมาซื้อตลาดไทย

- หุ้นมั่นคงแนว value บ.จะไม่ล้มหายตายจากอีกอย่างน้อยสิบปี นานพอที่กระทิงตัวใหม่จะมา

- เงินปันผล สำคัญมาก ถ้าให้รอเป็นสิบปี แล้วไม่มีเงินปันผลมาช่วยเป็นกำลังใจ จิตใจคงห่อเหี่ยวน่าดู แต่ถ้ามีปันผล ที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยธนาคาร ก็ยังสบายใจ ว่าลงทุนแล้วยังได้ปันผลดีกว่าฝากธนาคาร

ไอเดียอาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน แต่เราเน้นจำกัด ความเสี่ยงเป็นหลัก ส่วนกำไรจะตามมาเองถ้าคุมการขาดทุนไว้ได้

หุ้นปันผลดีที่มีการเติบโตคู่กัน ราคาไม่แพง และไม่เป็นหุ้นที่มี "รอบวัฎจักรสูงมาก" จนเกินไปนัก 

ส่วนตัวมองหาได้ง่ายจากกลุ่มพัฒนาอสังหาและธนาคาร

หุ้นที่มีรอบวัฏจักรสูงมาก ที่เราไม่สนใจ เพราะติดตามได้ยากและต้องติดตามข้อมูลลึกมาก เช่น กลุ่มพลังงาน(น้ำมัน) ปิโตรเคมี กลุ่มเดินเรือ และอื่นๆ ซึ่งมันต้องติดตามข้อมูลระดับลึก+เป็นข่าวสารที่ทันต่อเหตุการณ์ ฉับไวและถูกต้อง

ซึ่งเรารู้ตัวว่าเราไม่สามารถติดตามได้ขนาดนั้น
(การรู้ว่าไม่รู้อะไร ทำให้เลี่ยงในสิ่งไม่รู้)

หุ้นที่มีรอบวัฏจักรสูงมาก เหมาะสำหรับคนที่เก่งมากๆเท่านั้น ซึ่งไม่ใช่เรา ดังนั้นเราจึงขอเป็นคนนั่งดูคนเก่งเขาเล่นกันในหุ้นกลุ่มเหล่านั้น 😊

การเน้นไปที่ "คุมการขาดทุน" เปรียบเสมือนการเตะฟุตบอล โดยปิดประตูโกลให้แคบที่สุดเท่าที่จะทำได้ มีมือประตูคอยดูและประตูแคบๆนั้นไม่ให้ลูกบอลเข้า แล้วปล่อยให้ Player คนอื่นๆที่เหนื่อยยาก หาทางยิงประตูฝั่งตรงข้ามไปเรื่อยๆ แม้จะเป็น player ที่วิ่งช้า แต่เน้นไม่เหนื่อย หาทางเรื่อยๆ


ถ้าเตะบอลในลักษณะนี้ได้ ยิ่งเตะนานมากเท่าไหร่ยิ่งมีโอกาสชนะมากขึ้นเท่านั้น "เวลาจะอยู่ข้างเดียวกับเรา" และการลงทุนมีข้อแตกต่างจากการเกมฟุตบอลคือ การลงทุนสามารถทำได้ตลอดชีวิต ไม่มีข้อจำกัดด้านเวลา

******

จากสถิติถึงแม้ว่าคุณจะประเมินมูลค่าหุ้นถูกต้อง ถึงแม้ว่าคุณจะซื้อหุ้นได้ในราคาที่ถูกมากแล้วก็ตาม คุณก็ยังมีโอกาสที่จะขาดทุนได้ 30-40% เป็นเรื่องปกติมากหากมีวิกฤตเกิดขึ้น 

แต่นักลงทุนส่วนมากทนความผันผวนได้แค่เพียง 5-7% เท่านั้น
******

การเฝ้ารอโอกาสการลงทุนที่ดีให้มาถึง บางครั้งใช้เวลาในการรอค่อนข้างนาน 

และเมื่อโอกาสมาถึงแล้ว ถ้าเราปล่อยให้โอกาสการลงทุนที่ดีหลุดมือไป หรือลงทุนน้อยเกินไปในจังหวะนั้น นับได้ว่าเป็นความผิดพลาดอย่างหนึ่ง

******

การลงทุนทำได้ทันทีเมื่อพบเจอธุรกิจที่ดีมีงบการเงินแข็งแรงมั่นคง มีสินค้าและบริการที่มียอดขายแข็งแรงเพียงพอ บ.ที่มีความทนทานต่อทุกภาวะเศรษฐกิจ บนราคาที่สมเหตุสมผล 

ไม่ต้องมัวรอภาวะตลาด ว่าจะรอเศรษฐกิจดี ปัญหาไม่มี เพราะปัญหาไม่เคยหายไปจากระบบเศรษฐกิจไม่ว่าจะอยู่ในสภาวะไหนก็ตาม

สารพัดปัญหาที่มี 
เศรษฐกิจซบเซา การค้าไม่ดี ผลประกอบการตกต่ำ คนตกงาน โดนกดค่าแรง สินค้าราคาตกต่ำ ดอกเบี้ยเงินฝากลดลง พอมีนักท่องเที่ยวคนจีนเยอะ ก็ว่าเสียงดังน่ารำคาญไม่มีมารยาท

หรือจะปัญหาแบบ ดอกเบี้ยขึ้น เงินเฟ้อ สินค้าราคาแพง ค่าแรงขั้นต่ำขึ้น ต้นทุนผลิตสินค้าสูง นักท่องเที่ยวจีนไม่มีก็บอกว่าทำให้เศรษฐกิจไม่ดี  

จะเห็นว่า ไม่ว่าเศรษฐกิจอยู่ในภาวะไหนมันก็มีปัญหาตลอด ปัญหาไม่เคยหายไป แค่เปลี่ยนรูปแบบไปเรื่อยๆ

ถ้าจะรอให้ปัญหาหายไปแล้วค่อยลงทุน คงไม่มีวันได้ลงทุน 

เพียงหาบริษัทที่มั่นคง หนี้สินต่ำ สามารถเอาตัวรอดและฝ่าฟันเศรษฐกิจในสภาพต่างๆได้ ในราคาสมเหตุสม แล้วลงทุนไปเรื่อยๆ ทำทุกปัจจัยและทุกเงื่อนไขให้เวลาอยู่ข้างเรา แล้วผลลัพธ์ที่ดีจะเกิดขึ้นเอง

******

เมื่อการท่องเที่ยวมา หลายคนชอบหุ้นการบิน เพราะจะฟื้นตัวได้ แต่การเล่นหุ้นฟื้นตัวนั้น จะเล่นเพราะ

- บ.อาจพลิกฟื้นจากขาดทุนมาเป็นกำไร

- ซื้อได้บนราคา (Market Cap) ที่ต่ำมาก ที่สะท้อนการขาดทุน

- หวังกำไรจาก ราคาหุ้นเพราะราคาซื้อมาได้ในราคาที่ต่ำมาก

- เน้นต้องซื้อราคาที่ต่ำมากๆเพราะหนี้สินสูงมหาศาลเมื่อเทียบกับส่วนผู้ถือหุ้น และเพราะขาดทุนมหาศาลต่อเนื่อง

- หุ้นฟื้นตัวยังมีความเสี่ยงในการล้มละลายสูง ต้องชดเชยด้วยราคาที่ถูกมากๆโดยดูจากมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Cap)

*** หาก Market Cap ไม่ถูกมากพอ คือเงื่อนไขหลักที่ไม่คุ้มค่าที่จะเล่นหุ้นฟื้นตัว เพราะจะทำให้มี Risk/Rewards ไม่คุ้มค่าอย่างมาก

ตัวอย่าง 

- AAV หนี้สินมหาศาลเมื่อเทียบกับส่วนผูถือหุ้น

- ปี2561 กำไรเป็นบวก M.cap ช่วงปกติ 10,864 ลบ แต่ ปัจจุบัน 34,303 ลบ (ราคาแพงกว่าช่วงปกติ)

ถ้าจะลงทุนหุ้นที่มีโอกาสล้มละลายสูงบนราคาที่แพงมากๆ โดยอ้างว่าเป็นหุ้นฟื้นตัว ก็เสมือนเป็นการหลอกตัวเอง ที่แท้จริงแล้วมันคือการพนัน แบบไม่มีหลักการลงทุนนั่นเอง

ระวังแรงเชียร์ให้คุณไปเล่นพนัน โดยที่ทำให้คุณหลงคิดว่าเป็นการลงทุนที่ดี 

มันจะทำให้คุณแบกรับความเสี่ยงที่สูงโดยไม่รู้ตัว แต่หากรู้ตัวว่ากำลังจะเล่นพนันก็ไม่ใช่ปัญหาเพราะแปลว่าคุณพร้อมที่จะเสียหายตั้งแต่แรกแล้วเพื่อให้ได้มาซึ่งความตื่นเต้น

จากตัวอย่างลองคิดอีกแบบ
ถ้ามีเพื่อนของคุณเปิด บ. โดยลงทุนไป 7,900 บาท แล้วบริษัทของเขามีหนี้ 56,000 บาท โดยที่ปีที่แล้วบริษัทขาดทุน 8,000 บาท 

แล้วเพื่อนบอกว่าปีหน้ามีกำไรแน่ๆ(หรือเปล่า) แล้วจะขายบริษัทให้คุณที่ราคา 34,000 บาท คุณจะซื้อไหม ?

ถ้าคุณบอกว่าซื้อ สิ่งที่คุณต้องจ่ายคือ 34,000 บ. สิ่งที่คุณได้มาคือบริษัทที่ขาดทุนปีนี้ 8,000 บ.และหนี้สินอีก 56,000 บ.ที่คุณจ่ายให้กับเจ้าหนี้

นั่นหมายถึงคุณจะต้องจ่ายเงินในปัจจุบัน 34,000 บ.และต้องจ่ายเงินในอนาคตอีก 56,000 บ. รวมจ่าย 90,000 บ. เพื่อให้ได้บริษัทที่ปีนี้ขาดทุน 8,000 บาท

มีคำพูดอยู่ประโยคหนึ่งว่า "ตลาดให้ในสิ่งที่คุณต้องการเสมอ" 

ถ้าคุณเข้าตลาดมาเพื่อความตื่นเต้น คุณก็จะได้ความตื่นเต้น (ส่วนกำไรนั้น..) 

แต่ถ้าคุณเข้าตลาดมาเพื่อทำกำไร ตลาดจะบีบให้คุณไปหาความรู้ที่ถูกต้องจนกว่าจะมีกำไร (แต่อาจเป็นการลงทุนที่น่าเบื่อและไม่ตื่นเต้น)


*****

ดอลลาร์สหรัฐ ถูกหนุนหลังด้วยระบบเศรษฐกิจของอเมริกาทั้งประเทศ ที่ประกอบไปด้วยบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของโลก และ บริษัทมั่นคงรุ่นเก่า เช่น เบอร์เกอร์แมคโดนัล, coca cola , PepsiCo , microsoft, intel , facebook, instagram , twitter , google , amazon , Walt disney, zoom , Tesla , Apple , Hienz , Campbell , Yahoo , Visa , Master Card, Netflix, J&J , Pfizer , Hewlett Packard , WD-40 , COMPAQ , IBM , SBUX, Warner Bros Discovery , Pixar และอื่นๆอีกมากมาย

ต้องอย่าลืมอย่างหนึ่งว่าบริษัทเหล่านี้หารายได้จากทั่วโลก สินค้าและบริการที่ส่งไปขายทั่วโลก นำเงินเข้าประเทศอเมริกา หนุนหลังเศรษฐกิจ หนุนหลังค่าเงินดอลลาร์ 

คำถามคือ ประเทศอื่นๆในโลก มีบริษัทที่สามารถขายสินค้าและบริการไปทั่วโลกได้มากเหมือนอเมริกาไหม พอจะมีแต่น้อย ประเทศอื่นๆจึงต้องหนุนหลังค่าเงินของประเทศตัวเองด้วย "ทองคำ"

ทองคำไม่สามารถออกลูกออกหลานเพิ่มได้ ต่างจากบริษัทที่สามารถเติบโต ขยายใหญ่ เพิ่มขอบเขตขยายขอบเขตในการหาเงินเข้าประเทศได้ 

ดังนั้นถ้าใครจะบอกคุณว่า ดอลลาร์เป็นแบงค์กงเต็กเพราะไม่ได้หนุนด้วยทองคำ หากคุณเข้าใจในสิ่งที่เล่ามาข้างต้นอย่างทะลุปรุโปร่ง คุณจะพบว่า คนที่บอกว่าดอลลาร์จะเป็นแบงค์กงเต็กเพียงเพราะไม่ได้หนุนด้วยทองคำ เป็นคนที่ไม่ได้เข้าใจระบบเศรษฐกิจอะไรเลย 

เป็นคำพูดที่พูดด้วยความไม่รู้ งมงายเป็นอย่างมาก 

ถ้าคุณลงทุนในทองคำ กับคุณลงทุนในบริษัทระดับโลกในราคาสมเหตุสมผลหรือราคาถูก คุณต้องคิดออกว่าอะไรที่จะทำให้คุณมั่งคั่งมากกว่ากัน

*******
ปีเตอร์ ลินซ์ เป็นผู้บริหารกองทุนแมคเจลเลน สามารถทำผลตอบแทนทบต้นอยู่ที่ 29.2% ต่อปี ติดต่อกัน 13 ปี 

วอร์เรน บัฟเฟตต์ เป็นผู้บริหาร Berkshire สามารถทำผลตอบแทนทบต้นอยู่ที่ 18.8% ต่อปี ติดต่อกันประมาณ 43 ปี คำนวนจาก ราคา BRK.A (ยังไม่ได้รวมกำไรจาก BRK.B) , 3/7/1979 - 23/6/2022

และทั้งคู่ไม่ได้ลงทุนในทองคำ

*********

ถึงเราจะชอบลงทุนใน บ.ที่จ่ายปันผลสูง (เมื่อเทียบกับราคาที่เราซื้อ) แต่เราไม่ชอบบริษัทที่จ่ายปันผลในอัตราที่สูงเมื่อเทียบกับกำไร (div payout ratio) แบบต่อเนื่อง เพราะมันแสดงให้เห็นว่าบริษัทมีการลงทุนเพิ่มต่ำ ส่งผลให้การเติบโตต่ำได้

*******

การซื้อหุ้น ดูๆไปมีความคล้ายการ long call option เพราะราคาหุ้นไม่มีต่ำกว่าศูนย์ เงินที่จ่ายค่าหุ้นคล้ายจ่ายค่า premium ในการเปิด long call ที่ขาดทุนมากสุดแค่ค่า premium

แต่หากถูกทางกำไรจะ unlimited แตกต่างตรงที่หุ้นไม่มีหมดอายุสัญญาเหมือน option

******

เราควรสร้างระบบหรือแนวคิดในการลงทุนที่ลดโอกาสการขาดทุนแบบถาวรให้เหลือน้อยที่สุดและเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทนแบบสม่ำเสมอให้สูงขึ้น

******
ที่คุณต้องพยายามเก่งกว่าให้ได้ คือตัวเอง เก่งกว่าเดิมวันละนิดก็พอ แต่ต้องพยายามทำให้ได้ต่อเนื่องทุกวันเป็นปีๆ หลายๆปี

พยายามหาความรู้เพิ่มเติมทุกวันเพื่อให้มีทรัพยากรในการคิดวิเคราะห์ สะสมความรู้เพิ่มเติมทุกวัน เพื่อเป็นเครื่องมือในการสร้างความเก่งให้กับตนเอง

*****
ในเกมการลงทุน คนที่รอไม่ได้คือผู้แพ้

******

"ถ้าเราอ่านบทวิเคราะห์แล้วเรารู้ท่ากับบทวิเคราะห์ ผมจะไม่กล้าลงทุน เพราะเราจะรู้เท่ากับตลาด เราต้องทำการบ้านจนรู้ให้มากกว่าบทวิเคราะห์" พี่หมอพงศ์ศักดิ์

******

ถ้ามี mindset ในการลงทุนว่าซื้อหุ้นในราคาสมเหตุสมผลแล้วถือยาวให้ได้ 4-5 ปีเป็นอย่างน้อย จะพบว่ามีโอกาสอยู่มากมายในตลาดหุ้นไทย

บริษัทจำนวนไม่น้อยที่สามารถเติบโตได้ใน 4-5 ปีข้างหน้า

หากสามารถซื้อหุ้นในราคาที่สมเหตุสมผล นักลงทุนก็จะได้รับการเติบโตจากบริษัทส่งผ่านเข้ามาในพอร์ตหุ้นของตนเองไปด้วย

******
โอกาสอยู่ที่คนส่วนใหญ่คิดว่าไม่มีโอกาส 
หุ้นแข็งแกร่งก็เช่นกัน

*****
การลงทุนในตลาดหุ้นไม่ควรใช้ leverage หรือถ้าจะใช้ก็ควรใช้ในสัดส่วนที่ต่ำมากๆ เพราะว่าบริษัทต่างๆที่เราลงทุนมีการใช้ leverage อยู่แล้ว 

หากเราใช้ leverage ไปลงทุนในบริษัทที่มีการใช้ leverage ความเสี่ยงมันก็จะเป็น 2 เด้งโดยที่เราไม่รู้ตัว

เป็นแค่ความเห็นส่วนตัวเท่านั้น

*****
อ่านคำอธิบายงบการเงินของหลายๆ บ.ในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน แล้วสังเกตคำอธิบาย ว่าละเอียดพอไหม ได้แจ้งตัวเลขสำหรับคัญครบถ้วนไหม เพราะมันแสดงถึงความโปร่งใส

ความโปร่งใสในการรายงานจะทำให้นักลงทุนประเมินมูลค่าได้ดีกว่า การไม่มีความโปร่งใสอาจเป็นการตั้งใจปกปิด หรือจงใจซ่อนเร้นความเสี่ยง

*****

เวลาซื้อหุ้น ผมไม่เคยต่อราคาช่อง สองช่องเลยนะ เพราะกว่าราคาจะลงมาจนถึงจุดที่เราโอเค มันใช้เวลา มัวต่อราคาช่อง สองช่อง เกิดมันพรวดขึ้นไป จะเสียหายมากมายนัก

******

ปกติแล้วเราไม่ชอบ บ.ที่มี w เลย แต่ก็มีข้อยกเว้นโดยหาก w นั้น ไม่ไดลูทผู้ถือหุ้นเดิม 

จะไม่ไดลูทและน่าสนใจ "ก็ต่อเมื่อ"
- ค่าแปลง w สูงกว่าราคาตลาด และราคาตลาดต่ำกว่ามูลค่า เพราะเมื่อแปลง W แล้ว บริษัทจะได้เงินสดเข้ามามากกว่าราคาตลาด
- หลังการแปลง w แล้ว เงินที่ บ.ได้รับนั้นสามารถสร้างการเติบโตให้แก่ บ.ได้อย่างชัดเจนและรวดเร็ว
- และที่สำคัญหุ้นนั้นจะน่าสนใจมากเมื่อราคาต่ำกว่ามูลค่ามากพอสมควร 

ซึ่งโดยปกติแล้ว การที่บริษัทได้เงินทุนเพิ่มจากการแปลง w มักจะต้องใช้เวลาอีกระยะใหญ่ในการลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทน เช่น ใช้เวลาสร้างโรงงาน กว่าจะผลิตสินค้าได้ก็ใช้เวลาพักใหญ่ทีเดียว 

แต่มีอยู่กลุ่มอุตสาหกรรมนึง สามารถนำเงินนั้นมาสร้างผลตอบแทนได้ทันที เพราะตัวเงินคือสินค้า นั่นคือกลุ่มที่ ปล่อยสินเชื่อ

ใช่ เรากำลังบอกว่า บ.หรือธนาคาร ที่ปล่อยสินเชื่อที่มีราคาต่ำกว่ามูลค่า อาจน่าสนใจหากมีการออก w แล้วเข้าตามเงื่อนไขที่กล่าวมาข้างต้น 

ซึ่งบริษัทหรือธนาคารที่มีราคาตลาดต่ำกว่ามูลค่าค่านั้น มักจะกระจุกตัวและหาได้ง่ายใน อุตสาหกรรมธนาคารมากกว่า non-bank

ตัวอย่าง
สมมุติถ้าบริษัทมีมูลค่าแท้จริง 100,000 ล้านบาท 
หุ้นสามัญทั้งหมด 1,000 ล้านหุ้น (เท่ากับ มูลค่าต่อหุ้น คือ 100 บาท)

ราคาตลาดหุ้นละ 70 บาท เท่ากับมี market cap 7หมื่นล้านบาท (ราคาตลาดตามความมูลค่าทำให้มีส่วนเพื่อความปลอดภัย)

แล้วแจก w จำนวน 200 ล้านหุ้น อัตราส่วนแปลง 1:1 ค่าแปลง 100 บาท 
สมมติ w แปลงทั้งหมด บ จะได้รับเงิน 20,000 ลบ (บริษัทเดิมมีมูลค่า 100,000 ล้านบาท + เงินสดที่ได้รับจากการแปลงอีก 20,000 ล้านบาท เท่ากับหลังแปลง w บริษัทจะมีมูลค่า 120,000 ลบ) และมีจำนวนหุ้นเพิ่ม จาก 1,000 ล้านหุ้นเป็น 1,200 ล้านหุ้น เท่ากับมูลค่าของบริษัทหลังการแปลง w จะอยู่ที่ 120,000 ลบ ÷1,200 ล้านหุ้น = 100 บาทต่อหุ้น
จะเห็นว่ามูลค่าไม่ได้โดนไดลูท 

หากซื้อได้ที่ราคาต่ำกว่ามูลค่าคือราคาตลาดที่ 70 บาท ก็ยังมีส่วนเผื่อความปลอดภัยเหมือนเดิม และบริษัทนำเงินใหม่ที่ได้จากการแปลง w ไปสร้างผลตอบแทน ประเด็นสำคัญจึงอยู่ที่ว่าบริษัทต้องสามารถนำเงินไปสร้างผลตอบแทนกลับคืนมาได้อย่างรวดเร็ว กำไรที่เพิ่มขึ้นบน roic ที่ใกล้เคียงเดิมหรือมากกว่าเดิม เนื่องจากเงินที่ได้จากการแปลง w ไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ย ดังนั้นงบการเงิน จะมีต้นทุนเงินทุนจ่ายเท่าเดิม ในขณะที่รายได้เพิ่มขึ้น 

 จะส่งผลทำให้กำไรสุทธิเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ถึงแม้จำนวนหุ้นจะเพิ่มขึ้นแต่กำไรก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน ทำให้ไม่โดนไดลูท 

ซึ่งกลุ่มบริษัทที่จะสามารถนำเงินไปสร้างผลตอบแทนกลับคืนมาได้อย่างรวดเร็ว ก็คือการปล่อยสินเชื่อเนื่องจากมี demand มากมายอยู่ตลอดเวลา และต้องเป็นบริษัทที่มีระบบการปล่อยสินเชื่อที่ดีอยู่แล้ว

ดังนั้นประเด็นสำคัญจึงอยู่ที่การซื้อหุ้นให้ได้ต่ำกว่ามูลค่า เป็นสำคัญ

ถ้าบริษัทต้องการเงินทุนเพิ่ม ก็จะต้องทำให้ราคาหุ้น ขึ้นไปสูงกว่าราคา w ครับ คนถึงจะยอมแปลง ดังนั้นคนที่ซื้อหุ้นได้ในราคาที่ต่ำกว่าราคาแปลงจะได้ประโยชน์

*******

ประสบการณ์ของหุ้นตัวนึงในพอร์ต
เราเริ่มสนใจหุ้นตัวนี้ ตอนที่ทั้งตลาดไม่โอเคกับมัน ราคาหุ้นถูกค่อนข้างมากในสายตาเรา ไม่มีนักวิเคราะห์ออกเปเปอร์เลย ผลงานในอดีตก็ดี หนี้สินของ บ.ก็ต่ำ ปันผลก็อยู่ในเกณฑ์ดีทีเดียว เราเริ่มซื้อสะสม สะสม และสะสม นานเป็นปี 

ต่อมาบ.ก็แสดงผลงานผ่านงบการเงิน ดีขึ้นทุกไตรมาส นักวิเคราะห์เริ่มให้ความสนใจ เริ่มมีเปเปอร์ออกมา ตลาดเริ่มให้ราคา ราคาหุ้นเริ่มขึ้นมาเรื่อย แต่ผลงานออกมาดีกว่าราคาหุ้นที่ขึ้นมา ทำให้ราคาหุ้นยังถูกอยู่มาก เพราะผลงานที่ดีขึ้นๆ ทำให้ บ.มีกำไรสะสมและจ่ายปันผลได้มากขึ้น ราคาหุ้นที่ขึ้นมากลายเป็นถูกมาก แต่ นลท ไม่น้อยดูไม่ออก คิดว่าราคาขึ้นมามากแล้วเลยมองข้าม ในขณะที่ราคาหุ้นขึ้นมาประมาณ 80% เรายังทุ่มซื้อเพิ่ม เพราะมองว่าราคายังถูกมาก จนมีจำนวนหุ้นเกินกว่าที่ตั้งใจไว้ทีแรกเท่าตัว (สมมติ ตั้งใจซื้อสะสมให้ได้ 1 ล้านหุ้น กลายเป็นได้มาถึง 2 ล้านหุ้น)

งบออกมาผลงานก็ดีต่อเนื่อง ราคาก็ขยับขึ้นเป็น 100%กว่า จากราคาแรกที่ซื้อ 

จนเมื่อเร็วๆนี้ มีวิกฤติ SVB ทำให้เราเห็นโอกาส เจอหุ้นที่มีอัพไซส์สูงมากแต่เนื่องจากไม่มีเงินว่าง จึงจำใจสวิชต์หุ้นเก่าบางส่วนเพื่อมาซื้อตัวใหม่ 

หุ้นตัวที่เรามีเกินที่ตั้งใจไว้ จึงขายส่วนเกินออก ลดเหลือจำนวนที่ตั้งใจไว้ (จาก 2 ล้านหุ้น เหลือ 1 ล้านหุ้นตามความตั้งใจเดิม) 

ผลจากการลดสัดส่วน ทำให้ 

- ต้นทุนหุ้นเดิมลดลงมาประมาณ 50% "สมมติ" ทุนเดิม 10 บ.กลายเป็นทุนเหลือ 5 บาท บนราคาหุ้นที่ขยับไปเป็น 24 บ. เท่ากับหุ้นตัวเดิมขณะนี้มีกำไรประมาณ 3xx% (คำนวนจากทุนใหม่หลังลดสัดส่วน)

- มีเงินมาซื้อหุ้นตัวใหม่ อย่างที่ต้องการ แต่เนื่องจากมองว่าหุ้นตัวใหม่ มีโอกาสมากบนความเสี่ยงต่ำ ทำให้ขายหุ้นตัวอื่นในพอร์ตที่ไม่มีนัยยะ เพื่อรวมเงินมาซื้อหุ้นตัวใหม่นี้ให้ได้น้ำได้เนื้อ

หุ้นตัวเดิมก็ยังถือต่อไปเนื่องจากมองว่ายังดีต่อเนื่อง แค่ลดส่วนเกินเพื่อมีเงินว่างไปซื้อหุ้นตัวใหม่ตามที่ต้องการ แต่ก็ยังถือตัวเก่าตามสัดส่วนที่ตั้งใจแต่แรกต่อไป

การซื้อหุ้นตัวเดิมเพิ่ม
การขายลดส่วนเกินของหุ้นตัวเดิม
การซื้อหุ้นตัวใหม่
ทั้งหมดไม่ได้ใช้กราฟเลย
ใช้การประเมินมูลค่าเพื่อหาอัพไซส์แต่เพียงอย่างเดียว เป็นตัวชี้วัดในการตัดสินใจซื้อขาย

แต่ถ้าถามว่าเราดูกราฟไหม เราดูตลอด เพราะมันทำให้เห็นราคาย้อนหลัง ได้อย่างรวดเร็ว ทำให้มีความเข้าใจในราคาหุ้นมากขึ้น แต่ไม่ได้ดูในมุมของแพทเทิร์นการซื้อขาย ดูเพื่อเข้าใจประวัติราคาเท่านั้น

ถ้าสังเกต จุดซื้อหุ้นของเราไม่ได้อยู่ที่ราคาขึ้นหรือลง แต่อยู่ที่ส่วนต่างระหว่างราคากับมูลค่า
- ถ้าราคาลงแล้วมีส่วนต่างมากเราก็ซื้อเพิ่ม
- ถ้าราคาขึ้นแล้วมีส่วนต่างมากเราก็ซื้อเพิ่มเช่นกัน (ราคาขึ้นแล้วมีส่วนต่างเพิ่มได้ เพราะผลประกอบการออกมาดีกว่าที่คาดและมีแนวโน้มจะดีต่อเนื่อง)

จะต่างกับเทรดเดอร์ เพราะเทรดเดอร์ถ้าเห็นราคาลงแนวโน้มลงจะไม่กล้าซื้อ

ขายลดสัดส่วนแล้วต้นทุนลด เพราะ
สมมติ ถ้าซื้อครั้งแรกทุนที่ 10 บาท ราคาหุ้นขึ้นก็ซื้อเพิ่ม จนราคาซื้อเฉลี่ย 14.50

ซื้อเฉลี่ย 14.5* 2,000,000 = เงินจ่าย 29,000,000
ขาย 1,000,000 × 24 = เงินรับ 24,000,000

หลังจากขาย
หุ้นคงเหลือ 1,000,000 
ทุนคงเหลือ 5,000,000
ทุนเฉลี่ยหุ้นละ 5 บาท

ต้นทุนเดิมแรกอยู่ที่ 10 บาท ตามจำนวนหุ้นที่ตั้งใจแต่แรก
หลังขายลดสัดส่วนจนเหลือจำนวนหุ้นเท่าที่ตั้งใจแต่แรกต้นทุนเหลือหุ้นละ 5 บาท ต้นทุนลดลงมา 50%

ปล. การประเมินมูลค่าหุ้นต้องใช้ ความรู้บัญชี และคณิตศาสตร์มากกว่านี้เยอะเลยครับ

********

การอ่านหนังสือผิด การหาความรู้จากแหล่งที่ผิด เป็นอะไรที่น่ากลัว เพราะจะทำให้หลงทางได้มาก เสียทั้งเวลา เสียทั้งเงิน เสียทั้งโอกาส

*******
“คุณควรลงทุนในธุรกิจที่แม้แต่คนโง่ก็ยังสามารถบริหารได้ เพราะว่าวันหนึ่งมันจะ เป็นอย่างนั้น” - วอร์เรน บัฟเฟตต์
*****
ความเสี่ยงมีผลกระทบต่อมูลค่า