วันอาทิตย์ที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2565

หลักคิด 15

จริงๆแล้วไม่มีใครสามารถคาดการณ์เหตุการณ์ในอนาคตได้อย่างแม่นยำ 

แต่สิ่งที่เราเลือกต่างหาก ที่เปิดโอกาสในการสร้างอนาคต สิ่งที่เราเลือกในปัจจุบันตัวอย่างเช่น บริษัทที่มีความมั่นคงทางการเงิน มีหนี้สินต่ำ มีเจ้าของที่ดี มีผู้บริหารที่มุ่งมั่นจะทำให้บริษัทเติบโต 

ส่วนเมื่อเหตุการณ์จริงมาถึงนั้น อาจจะมีทั้งบริษัทที่เติบโตและไม่เติบโตปะปนกันอยู่ แต่ โอกาสที่จะได้บริษัทที่เติบโตย่อมมีสูง 

ส่วนบริษัทที่เลือกมาแล้วแม้จะเติบโตต่ำ ก็จะมีความเสี่ยงต่ำ เนื่องจากเราคัดเลือกปัจจุบันเอาไว้ดีแล้ว

******

วิธีการใช้เงินให้หมดไปอย่างรวดเร็วกับการเทรด

- เทรดเยอะๆ
- เทรดด้วยขนาดที่ใหญ่เกินไป
- สุ่มเทรด
- เทรดด้วยอารมณ์
- เทรดเพื่อพิสูจน์ว่าตัวเองเป็นฝ่ายถูก
- เทรดบนพื้นฐานของการคาดเดา
- ถือสถานะแบบดื้อด้าน
- ขายตัวที่กำไรออกอย่างรวดเร็ว
- เทรดสวนเทรนด์
- เทรดบนสภาพคล่องต่ำ
*****
จำไว้อย่างหนึ่งไม่ว่าราคาหุ้นจะขึ้นหรือจะลง สัดส่วนความเป็นเจ้าของยังเหมือนเดิม

*****
การได้กำไรจากหลักการที่ผิดด้วยความโชคดี เป็นสิ่งที่น่ากลัว เพราะนอกจากมันจะไม่ทำให้เราเรียนรู้ทางที่ถูกแล้ว มันยังจะทำให้เราจดจำหลักการที่ผิดไปใช้ซ้ำอีกด้วย
******

พอดีมีคุยกันถึงเรื่องบทวิเคราะห์ของหุ้น เราบอกว่าเราไม่ค่อยดูราคาหุ้นที่บทวิเคราะห์ทำให้ แต่เราจะประเมินเอง โดยการอ่านบทวิเคราะห์เพื่อรับรู้สิ่งที่เป็น ข้อเท็จจริง มากกว่า

ตัวอย่าง ตอนซื้อ BH ช่วงปลายปี 2020 ที่ราคา 118 บาทนั้น เราจำได้แม่นว่า บทวิเคราะห์ออกมาขณะนั้นมีแต่ ให้ถือ หรือ ขาย มีใครแนะนำซื้อเลย แถมยังให้ราคาเป้าหมายต่ำกว่าราคาตลาด แต่เราก็ยังเข้าซื้อ เพราะเชื่อในตัวเลขที่เราวิเคราะห์เอง เนื่องจากระยะเวลาในการคาดหวังของเราแตกต่างกับบทวิเคราะห์ 

ไม่ใช่บทวิเคราะห์จะทำตัวเลขออกมาไม่ดี แต่การทำตัวเลขบนระยะเวลาคาดหวังที่ต่างกันต่างหาก ทำให้ได้ตัวเลขที่ไม่เท่ากัน ดังนั้นเราจึงพูดเสมอว่าเราอ่านบทวิเคราะห์แต่เราจะทำประมาณการตัวเลขเอง เพราะเวลาในการรอผลงานนั้นมีแต่ตัวเราเท่านั้นที่รู้ 


******

หลักในการขาย
- ขายเมื่อราคาเกินมูลค่าไปมาก
- ขายเมื่อพื้นฐานเปลี่ยน
- ขายเมื่อเจอหุ้นตัวอื่นที่มีอัพไซส์มากกว่า และมีคุณภาพดีพอๆกัน

******

เมื่อนานมาแล้วเราเคยลงทุนในบริษัทหนึ่ง ที่เห็นได้ชัดว่ารายได้ดีขึ้นมามาก ทำให้คาดว่างบการเงินจะออกมาดีมาก แต่พองบออกมาจริงๆ กลับผิดคาด เพราะมีการตั้งสำรองสูงมากกว่าปกติ โดยฝ่ายบริหารให้เหตุผลว่า เป็นการตั้งสำรองเผื่อไว้ก่อน ตอนนั้นเราเริ่มคิดแล้วว่า บริษัทลักษณะแบบนี้ การกระทำแบบนี้ มันเหมือน manipulate งบการเงินได้ 

ซึ่งบนความเป็นจริงแล้วเราไม่สามารถรู้ได้เลยว่ามีการใช้นอมินี short หุ้นหรือไม่ แล้วมาทำงบให้ผิดคาด เพื่อทุบราคาหุ้น 

หลังจากนั้นอีกประมาณ 3 ปี ก็ได้ข่าวว่าผู้บริหารถูกกลตแจ้ง ข้อหาปั่นหุ้น

ตั้งแต่นั้นมา เราจึงคิดว่า หากบริษัทที่ดีจริงผลการดำเนินงานจะต้องออกมาดีตามคาดโดยไม่มีข้อแม้ หากว่าทุกอย่างดูดีแต่พองบจริงจะออกมาดีนั้นลำบากเหลือเกิน สารพัดอุปสรรค แบบนี้ เราถือว่าไม่ดีล่ะ มันไม่ใช่ล่ะ 

เสมือนตอนที่เราเคยเลี้ยงสุนัข เราอยากให้มันตัวใหญ่อ้วนท้วนสมบูรณ์ เราชอบสุนัขพันธุ์ใช้งานขนสั้นตัวหนาๆ หมาบางตัวขุนไปเถอะ ขุนเท่าไรก็ไม่อ้วน ตัวไม่เคยหนา บางตัวไม่ต้องขุนก็ตัวหนาเอาๆ ถ้ามันง่ายมันก็จะตีวหนาเองโดยไม่ต้องขุน ถ้ามันยากขุนไปเถอะ อาหารดีแค่ไหนก็ไม่หนาสักที

ดังนั้นเลิกพยายามกับตัวที่ขุนยาก หันไปซื้อตัวที่หนาง่ายแบบไม่ต้องพยายามมากดีกว่า ได้ผลลัพธ์ที่ดี โดยที่ไม่ต้องเหนื่อยใจมากด้วย #หุ้นก็เช่นกัน

*****

การหาราคาหุ้นคาดหวังด้วย พีอี
ราคาหุ้น = EPS × P/E

ถ้าเราสามารถประมาณการกำไรล่วงหน้าเช่น คาดอย่างอนุรักษณ์ว่าอีกสองปี EPS จะเป็น 2 บาท 

และหุ้นเคยเทรดที่พีอีย้อนหลัง 5 ปี ที่ 6-14 เท่า เราอาจให้ค่าเฉลี่ยพีอีที่ 10 เท่า (โดยมีข้อแม้ว่า พื้นฐานของกิจการจะต้องไม่เปลี่ยนไปจากเดิมอย่างมีนัยยะ) 

แบบนี้ ราคาหุ้นคาดการณ์ สองปีข้างหน้า โดยเฉลี่ย จะเป็น 2 × 10 = 20

โดยมีค่าต่ำสุดที่น่าจะเป็นคือ 2 × 6 = 12 
และมีค่าสูงสุดที่น่าจะเป็นคือ 2 × 14 = 28 

ถ้าสมมติ ราคาปัจจุบัน อยู่ที่ต่ำกว่า 12 บาท อาจบอกได้ว่า เป็นราคาที่น่าจะมีความเสี่ยงต่ำ คือหากตลาดให้ค่า PE ที่ต่ำ โอกาสขาดทุนก็จะน้อยจะมีคือเสียเวลาเปล่า 

ซึ่งตัวเลข EPS และ พีอี สามารถใช้ตัวเลขจากบทวิเคราะห์ แล้วนำมาปรับลด ให้เหมาะสม เพราะเราไม่ทราบว่านักวิเคราะห์ใส่ประมาณการตัวเลขไหน คอนเซอเวทีฟแค่ไหน วิธีนี้ดีคือหาตัวเลขได้ง่ายทำได้อย่างรวดเร็ว 

แต่ถ้าจะให้แม่นยำขึ้นก็ควรจะประเมินบริษัทด้วยตัวเอง ทำงบการเงินย้อนหลัง แล้วคาดการณ์ความเป็นไปได้ในอนาคตอย่างอนุรักษ์นิยม เผื่อค่าความผิดพลาด (MOS) วิธีการนี้จะแม่นยำหรือไม่ขึ้นอยู่กับตัวเราเองเท่านั้น

วิธีหาราคาหุ้นในอนาคตด้วยค่า P/E เป็นที่นิยมมาก เพราะทำได้อย่างรวดเร็ว หรือจะทำอย่างละเอียดก็ได้ และเป็นที่เข้าใจได้ง่ายสำหรับ นลท ทั่วไป

เป็นวิธีที่มองไปที่ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทเท่านั้น 

ดังนั้นเพื่อความปลอดภัย จึงควรคัดกรองด้วย ค่า D/E ก่อน

เลือก บ.ที่หนี้สินไม่สูง ก่อนทำการประมาณการด้วย พีอี

ข้อควรระวังของการใช้วิธีการนี้ คือ
- หุ้นวัฏจักรใช้วิธีนี้ไม่ได้
- วิธีนี้เหมาะกับหุ้นที่มีความสม่ำเสมอของรายได้และกำไร

🔥 การประเมินมูลค่าไม่ว่าจะด้วยวิธีไหนก็ตาม ตลาดสามารถให้ราคาที่แตกต่างได้อย่างยาวนาน โดยไม่รู้ว่าเมื่อไรราคาตลาดจะวิ่งเข้าหามูลค่าที่ประเมินได้ แม้ว่าสุดท้ายแล้วราคาตลาดจะต้องวิ่งเข้าหามูลค่าก็ตาม

ตัวอย่างการใช้ตัวเลขจากบทวิเคราะห์ https://www.facebook.com/100000554563052/posts/5771443572884071/?sfnsn=mo

*****

ธุรกิจที่ควรหลีกเลี่ยงลงทุน คือธุรกิจที่มี Net profit margin ในระดับต่ำ และต้องลงทุนเพิ่มตลอดเวลา

*****
การประเมินมูลค่า ด้วยเงินปันผล
วิธีนี้เหมาะกับ บ.ที่มีรายได้สม่ำเสมอ และจ่ายปันผลสม่ำเสมอต่อเนื่อง ไม่ใช่จ่ายปีเว้นปี สิ่งหนึ่งที่จะทำให้นักลงทุนรู้สึกอุ่นใจว่า บริษัทจะจ่ายเงินปันผลได้อย่างสม่ำเสมอนั้น คือบริษัทควรจะหนี้สินที่ต่ำ 

เพื่อความสะดวก จะขอยกตัวอย่าง AP เหมือนเดิม (เนื่องจากเรามีข้อมูลอยู่ในมือแล้วไม่ต้องเสียเวลาไปค้นเพิ่มเติม)

 AP กำไรสุทธิ
2557 2,615
2558 2,623
2559 2,703
2560 3,157
2561 3,865
2562 3,068
2563 4,227
2564 4,543

จะเห็นได้ว่ากำไรสุทธิมีความสม่ำเสมอดี

AP มีอัตราการจ่ายปันผลเฉลี่ยอยู่ที่ 35% โดยประมาณ โดยที่ปีล่าสุดมีการจ่ายปันผลต่อหุ้นที่ 0.50 บาทต่อปี

จากสิ้นปี 2557 ถึง สินปี 2564 (ระยะเวลา 7 ปี) กำไรมีอัตราการเติบโตแบบทบต้น 8.21% เรียกได้ว่ามีความสม่ำเสมอพอสมควร

บ.มีหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยสุทธิที่ 0.49 เท่า เรียกได้ว่าอยู่ในเกณฑ์ที่มีหนี้สินต่ำ

การคำนวนมูลค่า จากเงินปันผล คำนวนได้จาก   

เนื่องจาก บ.มีการเติบโตของกำไร
เงินปันผลคาดการณ์ หาได้จาก เงินปันผลปัจจุบัน × (1+ Growth)


ปกติแล้วอัตราผลตอบแทนที่ต้องการ จะมีการคำนวณโดยการใช้ความผันผวนของหุ้น (ค่าเบต้า) แต่เพื่อความสะดวก ผมจะคำนวนในตัวเลข 10-12% (เทียบกับผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปีของรัฐบาลไทย ขณะนี้อยู่ที่ประมาณ 2.53% เท่านั้น)


สรุปตัวเลขที่ใช้คำนวน
- ปันผลล่าสุด 0.50 บาท
- อัตราการเติบโตแบบทบต้น ตลอด 7 ปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 8% 
- อัตราผลตอบแทนที่ต้องการ 10-12%

สูตร 
{เงินปันผล × (1+อัตราการเติบโต)} ÷ (ผลตอบแทนที่ต้องการ - อัตราการเติบโต)


จะได้ว่า 
กรณีที่ต้องการผลตอบแทนที่ 10% มูลค่าหุ้นจะเป็น {0.50 × (1+8%)} ÷ (10%-8%) = 27 บ.


กรณีที่ต้องการผลตอบแทนที่ 11% มูลค่าหุ้นจะเป็น {0.50 × (1+8%)} ÷ (11%-8%) = 18 บ.

กรณีที่ต้องการอัตราผลตอบแทนที่ 12% มูลค่าหุ้นจะเป็น {0.50 × (1+8%)} ÷ (12%-8%) = 13.50 บ.


จะเห็นได้ว่าตัวเลขมีความแตกต่างกันไปตามผลตอบแทนที่ต้องการของแต่ละบุคคล 

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงการยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพเท่านั้น 

โมเดลนี้ควรใช้กับ บ.ที่มีความสม่ำเสมอ พื้นฐานไม่เปลี่ยนไปอย่างมีนัยยะ รวมถึงควรเป็นบริษัทที่มีหนี้สินต่ำ เพื่อที่จะสามารถจ่ายเงินปันผลได้อย่างสม่ำเสมอ 

🔥 การประเมินมูลค่าไม่ว่าจะด้วยวิธีไหนก็ตาม ตลาดสามารถให้ราคาที่แตกต่างได้อย่างยาวนาน โดยไม่รู้ว่าเมื่อไรราคาตลาดจะวิ่งเข้าหามูลค่าที่ประเมินได้ แม้ว่าสุดท้ายแล้วราคาตลาดจะต้องวิ่งเข้าหามูลค่าก็ตาม
*****

2/7/2022

ภาวะปกติ ในช่วงเศรษฐกิจขยายตัว อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจจะขึ้นนำแล้วอัตราเงินเฟ้อค่อยขึ้นตาม เป็นลักษณะของ demand pull

แต่รอบนี้ เงินเฟ้อขึ้นนำ ส่วนเศรษฐกิจค่อยๆฟื้นตัวตาม หรือพูดอีกอย่างนึงคือเส้นมันสลับกัน 

ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ว่าเราอาจจะเห็นเงินเฟ้อพีคก่อน ในขณะที่เศรษฐกิจจึงยังขยายตัวต่อ 

และเป็นที่แน่นอนว่าเศรษฐกิจของเรายังไม่ได้อยู่ในช่วงเฟื่องฟู ดังนั้นจึงคาดคะเนว่าเศรษฐกิจจริงภาค real sector ในช่วงเริ่มฟื้นตัวเท่านั้น 

ช่วงปลายปีจะเข้าช่วง high season ของการท่องเที่ยวซึ่งจะช่วยฟื้นเศรษฐกิจขึ้นไปอีก เงินจะไหลเข้า ต่างชาติมาเที่ยวไทยก็จะต้องนำเงินดอลลาร์มาซื้อเงินบาท ดังนั้นในช่วงปลายปีจึงเป็นที่คาดเดาได้ว่าค่าเงินบาทน่าจะแข็งค่าขึ้น

ปล. ส่วนตัวไม่เคยคิดเรื่อง recession ในหัวเลยครับ


******

นลท ที่ตกใจง่ายเกินไปจะออกจากตลาดหุ้นในขณะที่ตลาดเต็มไปด้วยข่าวร้าย ไม่ว่าเขาจะฉลาดแค่ไหนก็ตาม
******
การลงทุนที่ดี ไม่ใช่แค่ บ.ดี แต่ต้อง บ.ดี + ราคาดีด้วย

บ.คุณภาพปานกลางค่อนข้างดี ราคาถูก ปันผลดียอมรับได้

บ.คุณภาพสูง ปันผลน้อย ราคาสมเหตุสมผล ยอมรับได้เช่นกัน
*********

BAREIT เจ้าลงทุนในสิทธิการเช่าสนามบินเกาะสมุย 25 ปี 

หลักคิดพวกสิทธิในสัญญาเช่า คือ คิดเสมือนเราไปเซ้งตึกที่มีหลายๆห้องมาระยะยาว 25 ปี แล้วมาปล่อยเช่ารายเดือน บางช่วงมีคนเช่าเต็ม บางช่วงคนเช่าน้อย บางช่วงได้ค่าเช่าราคาดี บางช่วงต้องลดค่าเช่า แต่สุดท้ายแล้วคือ สัญญาจะมีเวลาสั้นลงทุกปี จนหมดสัญญา (หมายถึง มูลค่าเป็นศูนย์) 

ระหว่างทางถ้าค่าเช่าได้ราคาดี ราคาหน่วยอาจขยับขึ้นได้ บางช่วงถ้าคนเช่าน้อยต้องลดค่าเช่า มูลค่าหน่วยอาจลดลงได้

แต่อย่างไรก็ตาม สมมติ หากสัญญาเช่าเหลือเวลาเพียง 10 ปี จะให้มีราคาดีกว่าสัญญาตอนที่มีเวลา 25 ปี คงยากมากๆ (เป็นการเปรียบเทียบให้เห็นภาพ)

พูดง่ายๆคือ ยิ่งถือยาว มูลค่ายิ่งลดลง 

คำถามคือเราอยากถือทรัพย์สินที่ยิ่งถือนานมีมูลค่าเพิ่มขึ้น หรืออยากถือทรัพย์สินที่ยิ่งถือนานยิ่งมีมูลค่าลดลง ???

#REIT #LeaseHold


**********
เกิดข้อสงสัย
บริษัทที่ทำตัวเป็นบริษัทโฮลดิ้ง ที่ถือหุ้นในบริษัทลูก ตัวบริษัทแม่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ และตัวบริษัทลูกก็อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ เวลาตลาดให้ราคาเกินเงินลงทุนทั้งบริษัทแม่และบริษัทลูก เป็นการให้ราคาที่สูงซ้ำซ้อนบนเงินลงทุนก้อนเดิมหรือไม่ ???

เช่นสมมุติบริษัทแม่ลงทุนตั้งบริษัทลูกด้วยเงินลงทุน 1,000 ล้าน เงินจำนวนนี้จะถูกนับเป็นทรัพย์สินของบริษัทแม่ 

ในขณะเดียวกันก็นับเป็นทรัพย์สินของบริษัทลูก

สมมุติบริษัทแม่ตลาดให้ราคาเป็น 2 เท่าของ book value เท่ากับเงิน 1,000 ล้านนี้ตลาดให้ราคาเป็น 2 พันล้านบนราคาหุ้นของบริษัทแม่

ในขณะเดียวกันสมมุติว่าบริษัทลูกก็มีราคาเป็น 2 เท่าของ book value เช่นกัน เงิน 1,000 ล้านที่บันทึกในบัญชีของบริษัทแม่ ก็บันทึกเป็นทรัพย์สินของบริษัทลูก ก็ถูกตีราคาเป็น 2 พันล้านบนราคาหุ้นของบริษัทลูกเช่นกัน

หมายถึงว่าเงิน 1,000 ล้านบาท ถูกบันทึกบัญชี 2 แห่ง แต่ละแห่งมีมีราคา 2,000 ลบ สองแห่งก็กลายเป็น 4 พันล้าน

1,000 ลบ --> 4,000 ลบ 

สำหรับนักลงทุนที่ซื้อหุ้นทั้งบริษัทแม่และบริษัทลูก เท่ากับได้ลงทุนบนมูลค่า 1,000 ล้าน ที่ราคา 4 พันล้านบาท ใช่ไหม ???

*********

หุ้นบางตัวราคาต่ำกว่าที่ควรจะเป็น 
แต่หุ้นบางตัวราคาต่ำเพราะมีเหตุผลที่สมควร
 หน้าที่ของ นลท คือต้องแยกให้ออก

********

จาก ปสก ส่วนตัว ยิ่งกระจายความเสี่ยงมากเท่าไร ผลตอบแทนยิ่งต่ำลง เพราะหุ้นดีมีน้อย พอยิ่งกระจายกลายเป็นยิ่งเอาหุ้นคุณภาพด้อยลงเข้าพอร์ตมากขึ้น ดังนั้น ควรมุ่งเน้นหาหุ้นคุณภาพดีลงทุนเท่าที่หามี มากกว่ามุ่งเน้นการกระจายความเสี่ยง
*****
นักธุรกิจที่ฉลาดจะมองออกว่าธุรกิจไหนดีและธุรกิจไหนไม่ดี

นักลงทุนที่ฉลาดจะมองออกว่าหุ้นตัวไหนราคาแพง หุ้นตัวไหนราคาสมเหตุสมผลและหุ้นตัวไหนราคาถูก

ดังนั้นจึงควรเป็นนักลงทุนที่มีมุมมองของนักธุรกิจ
*****
นักลงทุนที่จะประเมินมูลค่าในอนาคตของบริษัทได้นั้น จะต้องมีความเข้าใจการดำเนินงานในปัจจุบันของบริษัทอย่างถ่องแท้เสียก่อน

ความพยายามที่จะเข้าใจบริษัทในวันนี้เป็นปัจจัยสำคัญในการประเมินมูลค่าบริษัท
*****
สิ่งหนึ่งที่ทำให้เกิดความแตกต่างระหว่างนักลงทุนในการประเมินมูลค่ากิจการก็คือ ความพึงพอใจของตัวนักลงทุนเองว่าจะเลือกที่จะมอง ที่จะให้กิจการนั้นมีอัตราการเติบโตระดับไหน รวมถึงความรอบคอบในการปรับปรุงอัตราการเติบโตของบริษัท จากแต่ละช่วงของธุรกิจ อุตสาหกรรม และเศรษฐกิจ ด้วยความเข้าใจดีพอหรือไม่

***********

คนเราจะมีการกระทำที่สอดคล้องกับความเชื่อ กับทัศนคติของตนเองเสมอ และความเชื่อหรือทัศนคติก็ไม่ได้ติดตัวเรามาแต่เกิด 

เด็กแรกเกิดไม่ได้มีความเชื่อติดตัวมาด้วย แต่มันถูกปลูกฝังตอนเราเริ่มรับรู้สิ่งรอบตัว และความเชื่อบางอย่างที่หยั่งรากลึกในตัวเรา มันถูกปลูกฝัง ในตอนที่เรายังมีความรู้ไม่เพียงพอที่จะใช้คิดเอง(ขาดความรู้) หรือถูกปลูกฝังเมื่อ ตอนที่เรายังขาดความสามารถในการวิเคราะห์ (อายุยังน้อย หรือประสบการณ์ยังน้อย) ความเชื่อในการลงทุนในแนวทางต่างๆก็เช่นกัน 

ดังนั้นสิ่งที่เราต้องเสริมให้กับตนเอง คือ ความรู้และประสบการณ์ เมื่อมีมากพอแล้วต้องกล้าที่จะลองผิดลองถูก และกล้าที่จะเปิดใจ เพื่อยอมรับความเชื่อใหม่ๆด้วย มิเช่นนั้นก็ไม่มีประโยชน์ 

เมื่อกล้าที่จะยอมรับความเชื่อใหม่ๆแล้วต้องมีการหมั่นซ้อมความคิด และการกระทำตามความเชื่อใหม่ๆบ่อยๆ เช่น บางคนเชื่อว่าตนเองสามารถเล่นฟุตบอลได้ดี บางคนเชื่อว่าตนเองเป็นเทรดเดอร์ได้ บางคนเชื่อว่าตนเองเป็นนักลงทุน ก็จะต้องมีการฝึกซ้อมการ action เพื่อให้เกิดทักษะ และเป็นการย้ำความเชื่อให้อยู่ในระดับจิตใต้สำนึก 

เมื่อความเชื่ออยู่ในระดับจิตใต้สำนึกแล้ว มีทักษะที่ดีแล้ว ทุกการกระทำจะเป็นไปโดยอัตโนมัติ ไหลลื่น ไม่เกิดควมขัดแย้งในจิตใจจากการกระทำของตนเอง และต้องฝึกให้ถูกทาง หากฝึกผิดทางจนความคิด ความเชื่อผิดๆเข้าไปอยู่ใต้จิตสำนึกแล้ว การแก้ไขก็จะยากเช่นกัน
**********

ก่อนจะซื้อหุ้นต่างประเทศ , DR ETF ตปท ต้องอย่าลืมถามตัวเองก่อนว่า 

หากซื้อแล้วราคาดิ่งลงต่อเนื่องซัก 10-20% ยังจะมั่นใจในพื้นฐานของบริษัทเหล่านั้นอยู่หรือไม่ รับรู้ ติดตาม ข้อมูลข่าวสารได้รวดเร็วและลึกเพียงพอที่จะมีความมั่นใจอย่างเต็มเปี่ยมอยู่หรือไม่ 

ถ้าตอบคำถามนี้ไม่ได้ แล้วยังอยากซื้อ ควรต้องรู้ว่ามันคือการซื้อเพราะความโลภ ไม่ใช่ซื้อเพราะความเข้าใจ