วันจันทร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2566

หลักคิด 34

 คนที่ใช้ความคิดแบบรวบรัด จะสูญเสียการควบคุมตัวเองเร็วกว่าคนที่ใช้ระบบความคิดแบบมีเหตุผล

*********

คนที่เป็นนักลงทุนทุกคน เค้าไม่เคยมาถกเถียงกันเรื่องการออมเงินเลย 


มันเหมือนคนที่เถียงกันเรื่องอดออม เป็นเด็กน้อยที่กำลังเถียงกันเรื่องต้องท่อง ก.ไก่หรือเปล่า 


ส่วนคนที่เป็นนักลงทุนก็เสมือนกับเป็นคนที่อ่านหนังสือคล่องแล้ว เค้ารู้อยู่แล้วว่ายังไงก็ต้องท่อง  ไม่งั้นก็อ่านหนังสือไม่ได้


******


คนที่รู้สึกกดดันตัวเองแล้วท้อ เพราะทางเดินสู้เป้าหมายอีกไกลเหลือเกิน ลองวิธีนี้ครับ


ลองแบ่งเป้าหมายให้เล็กลงโดยใช้วีธีการมาเป็นเป้าหมายระยะสั้นแทนเป้าหมายใหญ่ 


สมมติ เป้าหมายหลักคือ อยากเป็นนักลงทุนที่เก่ง เป้าหมายระยะสั้นคือ ต้องอ่านให้มาก 


- เพื่อรู้วิธีการที่ นักลงทุนที่ประสบความสำเร็จ เค้าทำกัน 

- เพื่อปรับมายด์เซ็ท 

- และอ่านเพื่อเอาข้อมูลของบริษัทต่างๆ


ก็ลองเอาการอ่านมาเป็นเป้าหมายระยะสั้น เช่นกำหนดว่า 

- ต้องอ่านหนังสือลงทุนให้ได้วันละ 30 หน้า 

- ต้องอ่าน ข่าวสาร ทางเศรษฐกิจทุกวัน 

- ต้องอ่านบทวิเคราะห์ทุกวัน


อะไรทำนองนี้ ถ้าทำเป้าหมายระยะสั้นได้ดีต่อเนื่อง สมมติ ครบปี ก็ย่อมจะต้องเก่งขึ้นกว่าตอนไม่ทำเป้าหมายระยะสั้นเลย


การทำเป้าหมายระยะสั้นทำให้เราสามารถสบายใจว่าทำงานเสร็จครบแล้วในแต่ละวัน 


เพราะเป้าหมายใหญ่ที่บอกว่าจะเป็นนักลงทุนที่เก่งนั้นบางครั้งมันดูเลื่อนลอยเกินไป (ซึ่งหากทำเป้าหมายระยะสั้นต่อเนื่องจนนานเพียงพอมันก็จะไปถึงเป้าหมายใหญ่เอง)


ลองดูครับ ใช้ได้กับทุกอย่าง ทำให้ไม่ท้อ ไม่หมดกำลังใจก่อน ถึงเป้าหมายหลัก 


รวมถึงเป็นการปรับนิสัยให้พร้อม ให้คู่ควรกับเป้าหมายหลักอีกด้วย


*****


บริษัทที่สร้างค่าใช้จ่ายส่วนเกินเมื่อยามที่มีกำไรดี และเมื่อยามถึงรอบกำไรตกต่ำก็ตัดค่าใช้จ่ายส่วนเกินออกเพื่อรักษางบการเงินให้ดู smooth นั้น มันคือการ manipulate งบการเงินอย่างนึง


ค่าใช้จ่ายส่วนเกินในยามที่ธุรกิจกำลังรุ่งเสมือนเป็น  Fat นั้น ไม่ใช่ margin of safety เพราะมันไม่ได้ส่งผลดีต่อผู้ถือหุ้น


******


เคยสงสัยไหมว่าทำไมผู้บริหารจะต้องออกมาประกาศตัวเลขมาร์เก็ตแคปว่าจะทำให้ถึงเท่านั้นเท่านี้ในปีนั้นปีนี้


การออกมาประกาศแบบนั้นมีประโยชน์กับธุรกิจมากน้อยแค่ไหน ?  จริงๆแล้วการประกาศตัวเลขมาร์เก็ตแคปไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับธุรกิจเลย มันไม่ใช่การประกาศแนวทางการทำธุรกิจ มันไม่ใช่การประกาศเป้ารายได้ หรือแนวทางทำธุรกิจ


แล้วถ้าอย่างนั้นผู้บริหารจะออกมาประกาศตัวเลขมาร์เก็ตแคปเป็นเป้าหมายไว้เพื่ออะไร  ถ้ามันไม่ได้มีประโยชน์กับธุรกิจ ก็แสดงว่ามันต้องมีประโยชน์กับผู้บริหาร ไม่งั้นก็คงไม่ออกมาประกาศ


งั้นลองมาคิดต่อการที่ผู้บริหารประกาศเป้าหมายมาร์เก็ตแคปแล้วผู้บริหารได้ประโยชน์จากอะไร 


มาร์เก็ตแคปมันสะท้อนราคาหุ้น แสดงว่าผู้บริหารต้องได้ประโยชน์จากราคาหุ้น นั่นหมายความว่า ต้องได้กำไรจากราคาหุ้น


การที่จ้าวจะได้กำไรจากราคาหุ้น จ้าวต้องกินเงินใครถึงจะมีกำไรจากราคาหุ้น ???


*****


กระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงานติดลบไม่ใช่ว่าจะแย่เสมอไป


บริษัทต้องการเติบโต ธุรกิจบางประเภทความหลากหลายของ Stock สินค้าเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะช่วยเพิ่มยอดขาย ดังนั้นบริษัทที่ต้องการสร้างผลตอบแทนต่อเงินลงทุนให้สูงที่สุด อาจใช้วิธีการเพิ่มสต๊อกสินค้าเพื่อเพิ่มยอดขาย แต่การเพิ่มสต๊อกสินค้านั้นต้องใช้เงินทุนเพิ่มเติม ซึ่งมาได้จาก 2 แหล่ง 

1 รายได้จากการขาย 

2 กู้ยืมเงินเพิ่ม ( ยังไม่นับรวมการเพิ่มทุน) 


หากต้องการให้เกิดประโยชน์สูงสุดก็ต้องนำ กระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงาน(รายได้จากการขาย) มาใช้อย่างเต็มที่เสียก่อน เพราะเป็นส่วนที่ไม่ต้องเสียดอกเบี้ย และยังเป็นการ ป้องกัน หนี้สินต่อส่วนผู้ถือหุ้น ไม่ให้สูงขึ้นโดยไม่จำเป็น 


นั่นเป็นสาเหตุว่า บางบริษัท ที่เติบโตดี จะมีกระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงานติดลบได้บนช่วงเวลานึง (อาจจะกินเวลานานตามรอบขาขึ้นของธุรกิจ) เนื่องจากนำรายได้จากการขาย มาเพิ่มสต๊อกสินค้า ในช่วงขาขึ้นของธุรกิจ เพื่อให้สินค้าหลากหลาย และเพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า


แน่นอนว่า ไม่ใช่ว่าทุกธุรกิจ ที่กระแสเงินสดจากการดำเนินงานติดลบแล้วจะเป็นวงจรขาขึ้นของธุรกิจ มันขึ้นอยู่กับลักษณะของธุรกิจและงบการเงินของ บ. แต่ละ บ.ด้วย


แต่โดยมาก บริษัทที่กระแสเงินสดติดลบระยะยาว มักจะมีความเสี่ยงว่าอาจจะต้องก่อหนี้เพิ่ม

********

บางทีคำถามง่ายๆก็ทรงพลังแต่คนส่วนมากมักมองข้าม เช่น

"เราอยากลงทุนในหุ้นของบริษัทนี้จริงๆหรือ ถ้ามีผู้บริหารแบบนี้"

*****


การเรียนรู้ การฝึกเพื่อเพิ่มพูนทักษะ การหาประสบการณ์ ทั้งหลายทั้งปวงก็เพื่อสิ่งเดียว 


นั่นคือ เพื่อการตอบสนองต่อเหตุการณ์สำคัญที่เข้ามาในชีวิตได้อย่างแหลมคมและถูกต้อง

********


เล่าถึงหุ้นเดินเรือ เท่าที่รู้ละกัน (รู้น้อยเพราะเราไม่ค่อยเล่นหุ้นที่มีรอบแนวๆนี้)


หุ้นเดินเรือที่เป็นหุ้นเทกอง ใช้ในการ ขนส่งสินค้าคอมโมดิตี้ เช่นถั่วเหลือง ข้าวสาร ถ่านหิน สินแร่  ก็มี TTA PSL 


หุ้นเรือตู้คอนเทนเนอร์  ก็จะใช้การขนส่งสินค้าเป็นตู้คอนเทนเนอร์เช่นพวกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เฟอร์นิเจอร์ ก็จะมีหุ้น RCL


หุ้นพวกเรือขนส่งน้ำมันและปิโตรเคมีเหลว  พวกนี้เรือจะใช้บรรจุน้ำมันดิบได้เป็น Tanker มี AMA PRM 


มีครั้งนึงโรงเก็บน้ำมันดิบของ TASCO ไฟไหม้ บริษัทเลยต้องเช่าเรือ Tanker เหล่านี้มาเก็บน้ำมันดิบชั่วคราว 


ดัชนีค่าเช่าเหมาลำของเรือเทกอง  คือ ดัชนี BDI ซึ่งจะเป็นค่าเฉลี่ยทั้งเรือขนาดไซด์ใหญ่สุด ไซด์กลางและไซด์เล็ก


ส่วนดัชนีค่าระหว่างเรือ คอนเทนเนอร์ จะใช้ดัชนี CCFI SCFI ที่เป็นดัชนีค่าระหว่างเรือของจีน เนื่องจากจีนเป็นประเทศที่ส่งสินค้าออกมากที่สุดในโลก และจำนวนคอนเทนเนอร์จากท่าเรือของจีนติดอันดับ 1 ของโลก  คือท่าเรือที่เซี่ยงไฮ้


ซึ่งช่วงนี้จีนเองกำลังมีวิกฤตเศรษฐกิจ  และมีสงครามการค้ากับอเมริกา ซึ่งอาจกระทบการนำเข้าและส่งออกสินค้าจากจีน แน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบต่อดัชนีค่าระหว่างเรือตู้คอนเทนเนอร์ 


เทศกาลต่างๆก็อาจทำให้มีการขนส่งสินค้ากันคึกคักชั่วคราวได้ 


การดูจีดีพีของประเทศต่างๆทั่วโลกก็บ่งบอกถึงความต้องการในการใช้เรือขนส่งสินค้าได้ด้วย 


อีกอย่างนึงที่ส่งผลต่อค่าระหว่างเรือ  คือ จำนวนเรือรวมทั้งโลก อายุกองเรือ และคำสั่งต่อเรือใหม่ ซึ่งคำสั่งต่อเรือใหม่จะต้องใช้เวลาในการต่อเรือประมาณสองปี


นอกจากนี้การสต๊อกสินค้าต่างๆหรือเหตุการณ์ก็ส่งผลต่อค่าระหว่างเรือ  


รวมถึงบางเหตุการณ์ เช่น ในช่วงโควิดที่ผ่านมา มีการล็อคดาวน์เมืองทำให้การสั่งสินค้าต่างๆลดน้อยลง ตู้คอนเทนเนอร์ที่ส่งไปยังท่าเรือต่างๆ ก็ไม่ได้ถูกส่งกลับมา ยังประเทศผู้ผลิตสินค้า ทำให้เกิดเหตุการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์  ส่งผลให้ค่าระหว่างเรือสูงขึ้นเช่นกัน

CCFI SCFI CHART https://en.macromicro.me/charts/947/commodity-ccfi-scfi

#หุ้นเดินเรือ

********


สรุป ทางเลือกของการลงทุน ตปท


- ลงทุน DR ETF กองทุนรวมต่างประเทศ ที่อยู่ใน SET แทน (ถ้ามี) อันนี้จะตัดปัญหาความยุ่งยากทั้งหมด (แต่การลงทุนในกองทุนรวมต้องไปพึ่งฝีมือของผู้จัดการกองทุนซึ่ง “ส่วนมาก” เป็นที่รู้ๆอยู่  😌)


- ลงทุนใน ตปท เป็นสัดส่วนที่น้อย ที่คาดว่าไม่ต้องนำเงินกลับเข้าประเทศใน 10-20 ปี หรือ ถึงเกษียณ แล้วปล่อยให้พอร์ตต่างประเทศค่อยค่อยเติบโต  


เมื่อพอร์ตต่างประเทศเติบโตใหญ่มากพอแล้ว   ค่อยนำเงินเข้าประเทศไทยได้สองแบบ คือทยอยนำเข้ามาเท่าที่ต้องการเพื่อทยอยแบ่งเสียภาษี หลายๆปีโดยนำเข้าเมื่อปีภาษีนั้นโดนขั้นบันไดภาษีไม่สูง หรือ  เที่ยวต่างประเทศจนอยู่ในไทยน้อยกว่า 180 วันแล้วค่อยนำเงินก้อนนั้นเข้ามาทั้งก้อน (บางคนรอเวลาเที่ยวตอนเกษียณ)


- หากจะนำเงินไปลงทุนต่างประเทศเป็นสัดส่วนที่มาก  ก็ควรมั่นใจว่า  มีพอร์ตในประเทศที่มีรายได้เพียงพอสามารถนำมาใช้จ่าย ได้ซัก 10 ปี เพื่อที่จะไม่ต้องนำเงินจากพอร์ตต่างประเทศเข้ามาแบบฉุกละหุกแล้วจะโดนภาษีในเรทที่สูง  และเมื่อจะนำเงินจากพอร์ตต่างประเทศเข้าก็ทำตามวิธีที่ได้กล่าวไปแล้วข้างบน 


- อาจจะต้องคำนวณผลตอบแทนพอร์ตต่างประเทศ  โดยนำกำไรที่ได้หักตามฐานภาษี ขั้นสูงสุดที่เคยจ่าย แล้วค่อยนำมาเทียบกับผลตอบแทนที่ลงทุนในไทยว่าอันไหนคุ้มกว่ากัน


 เช่น หาก ลงทุนในไทยได้ผลตอบแทน 15% และลงทุนในต่างประเทศได้กำไรปีละ 20%


แล้วเคยเสียภาษีขั้นบันไดสูงสุดที่ 30%  ผลตอบแทนพอร์ต ตปท หลังหักภาษีจะอยู่ที่ 14%  ซึ่ง เมื่อเทียบแล้วจะได้ผลตอบแทนต่ำกว่าลงทุนในไทย  เป็นต้น 


ปล. คำนวณโดยอ้างอิงแนวคิดเดิม ที่เงินได้พึงประเมิน คือ กำไร แล้วนำเข้าจึงคำนวณภาษีจากกำไร  โดยส่วนของต้นทุน (ดูจากตอนนำเงินออก) นำกลับเข้ามาได้โดยไม่ต้องคำนวณภาษีเหมือนเกณฑ์เดิม


*********


เรื่องค่าเงินบาทอ่อน-แข็ง หลายคนน่าจะสับสนกับการใช้คำ เช่น ค่าเงินบาทจาก 35 ไป 36 เรียกค่าเงินอ่อน บางคนสับสนเรียกค่าเงินแข็ง 


มีวิธีคิดแบบนี้ เวลาจะซื้อของ เช่น ถ้าซื้อมาม่า 1 ห่อเคยซื้อ 5 บาท ต่อมาซื้อมาม่า 1 ห่อ กลายเป็น 8 บาท “ซื้อของเท่าเดิมต้องใช้เงินมากขึ้น”  แบบนี้เราจะรู้ว่า ค่าเงินน้อยลง (เงินมีค่าน้อยลง เงินอ่อนค่าลง)


เช่นเดียวกัน เวลาซื้อดอลล่าร์ เคยซื้อ 1 ดอลลาร์ด้วยเงิน 35 บาท  ต่อมาต้องใช้เงิน 36 บาทเพื่อซื้อ 1 ดอลล่าร์เท่าเดิม แปลว่าค่าเงินบาทมีค่าน้อยลง “เงินอ่อนค่าลง” เรียกว่า “ค่าเงินอ่อน”


ในทางกลับกัน ถ้า เคยซื้อ 1 ดอลล่าร์ด้วยเงิน 35 บาทต่อมาซื้อ 1 ดอลล่าร์ได้ที่ที่ 34 บาท แปลว่าเงินบาทมีค่ามากขึ้น “เงินแข็งค่าขึ้น”   เรียกว่า “ค่าเงินแข็ง” 

คำว่าค่าเงินอ่อน หมายถึงมีค่าลดลง และคำว่าค่าเงินแข็งหมายถึงมีค่ามากขึ้น 

จำแบบนี้น่าจะหายสับสน 😊