วันอังคารที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2565

ว่าด้วยฟองสบู่

ว่าด้วยฟองสบู่

เงินทุนจำนวนมหาศาลที่ไหลเข้าประเทศจากผลตอบแทนที่ดูดีและพื้นฐานเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง

เงินที่เข้ามาในช่วงต้นของรอบเศรษฐกิจขาขึ้นจะได้รับผลตอบแทนที่ดีงามเนื่องจากนำไปลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพจนทำให้ราคาของทรัพย์สินเพิ่มขึ้น

จึงเป็นการดึงดูดให้เงินทุนไหลเข้ามามากขึ้นไปอีก

ทำให้เงินสกุลท้องถิ่นถูกแย่งกันซื้อและแข็งค่าขึ้น ซึ่งจะตามมาด้วยการระดมทุนและการก่อหนี้ที่สูงขึ้น

มีการระดมทุนกันมากขึ้นมีการก่อหนี้มากขึ้น ปริมาณเงินย่อมจะไปทำให้สินทรัพย์มีราคาสูงขึ้นอีกตามไปด้วย

เมื่อราคาสินทรัพย์ต่างๆสูงขึ้น ก็จะสามารถนำไปก่อหนี้มากขึ้นตาม เพราะสินทรัพย์ถูกใช้เป็นหลักประกัน

การปรับตัวของราคาสินทรัพย์ที่สูงขึ้นอย่างร้อนแรงจูงใจให้กระแสเงินทุนต่างชาติไหลเข้ามามากขึ้น 

จนถึงจุดที่สินทรัพย์เหล่านั้นราคาแพงเกินกว่าที่ควร 

ก็ถึงจุดที่เป็นฟองสบู่ของตลาดตราสารและตลาดหุ้น

การไหลทะลักของเงินทุนต่างชาติ จะทำให้ผู้ที่มีส่วนร่วมรู้สึกเพลิดเพลินจับกระแสเงินลงทุนที่ไหลเข้ามา

เมื่อฟองสบู่เริ่มก่อตัวการลงทุนที่มีประสิทธิภาพก็เหลือน้อย รวมถึงสกุลเงินท้องถิ่นก็แข็งค่าจนกระทบความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

ทำให้ความน่าสนใจทางพื้นฐานของประเทศลดลง

ในช่วงฟองสบู่นี้การเติบโตทางเศรษฐกิจมักจะมาจากการก่อหนี้มากกว่ามาจากผลกำไรจากการดำเนินธุรกิจ ส่งผลให้ประเทศนั้นต้องพึ่งพาเงินทุนต่างชาติเป็นหลักไปเรียบร้อยแล้ว

ประเทศนั้นจะมีหนี้สกุลเงินต่างชาติสูงขึ้น สาเหตุมาจากหลายส่วนแต่ส่วนหลักๆก็เช่น เงินฝากที่มีไว้สำหรับปล่อยกู้ก็มีน้อยเทียบกับเงินทุนที่ไหลเข้ามาจากต่างชาติ

มาถึงจุดนี้ประเทศนั้นจะเป็นประเทศที่ต้องพึ่งพากระแสเงินทุนของต่างชาติในการพยุงให้เศรษฐกิจเติบโตต่อ

ซึ่งกิจกรรมทางเศรษฐกิจจะเติบโตต่อได้ตราบเท่าที่ยังคงมีกระแสเงินทุนไหลเข้าอยู่เท่านั้น

ซึ่งการที่เงินทุนต่างชาติจะไหลเข้านั้น จะถูกจูงใจจากความคาดหวังว่าการเติบโตของเศรษฐกิจจะยังขยายตัวได้ต่อเนื่องเพื่อที่จะได้ผลักดันราคาสินทรัพย์ให้สูงขึ้นไปอีก จะส่งผลให้สกุลเงินท้องถิ่นแข็งค่ามากยิ่งขึ้น 

ถึงจุดนี้ก็จะเริ่มเห็นความเปราะบางอย่างมากของเศรษฐกิจ หากเงินต่างชาติไหลเข้าน้อยหรือสะดุดเพียงนิดเดียว ก็จะทำให้การเติบโตไม่เป็นไปอย่างที่คาดหวัง และส่งผลให้เงินทุนต่างชาติไหลออกอย่างรวดเร็วได้

แต่ในจุดนั้นผู้คนจะลงทุนอย่างเพลิดเพลินด้วยการมองโลกในแง่บวกอย่างมาก 

ความเสี่ยงที่ทำให้เกิดการสะดุดทางเศรษฐกิจ เช่น

การแข็งค่าของสกุลเงินท้องถิ่นจนทำให้การส่งออกไม่อยู่ในระดับที่แข่งขันได้ สินค้ามีราคาสูงขึ้น

หรือแม้แต่การไหลออกของเงินทุนต่างชาติไปยังประเทศที่มีพื้นฐานดีกว่า

รวมถึงรัฐของประเทศนั้นดำเนินนโยบายที่เข้มงวด ไม่ว่าจะเป็นการปรับเพิ่มดอกเบี้ย รวมถึงพยายามไม่ให้ค่าเงินของสกุลเงินท้องถิ่นแข็งค่ามากเกินไป เนื่องจากเริ่มเห็นฟองสบู่ อาจใช้มาตรการควบคุมเงินทุน ก็จะส่งผลให้เงินทุนต่างชาติไหลออกได้ (นักลงทุนจะหาทางออกจนได้ แม้จะมีมาตรการก็ตาม)

มาถึงจุดนี้การปล่อยกู้ก็เริ่มจะระมัดระวังมากเป็นพิเศษ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดภาวะหนี้หดตัว ท่ามกลางสถานการณ์เงินเฟ้อที่เป็นผลจากช่วงที่ผ่านมาที่ราคาสินทรัพย์ต่างๆสูงขึ้น

 ซึ่งมันก็จะทำให้ประเทศเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ค่าเงินสกุลท้องถิ่นอ่อนตัวอย่างรวดเร็วจากการที่เงินทุนต่างชาติไหลออก ซึ่งนั่นทำให้ธนาคารกลางต้องนำเงินสำรองออกมาใช้เพื่อไม่ให้ค่าเงินอ่อนตัวเร็วมากเกินไป ส่งผลให้เงินสำรองของประเทศลดลง

เงินทุนต่างชาติไหลออก ค่าเงินอ่อนและมีแนวโน้มว่าจะอ่อนไปเรื่อย ก็จะยิ่งทำให้เงินทุนต่างชาติไหลออกอย่างต่อเนื่อง

ส่งผลให้ราคาสินทรัพย์ต่างๆลดลงอย่างรวดเร็ว (ฟองสบู่แตก)

(ย่อๆบางส่วนมาจาก Big Debt Crisis)