วันพุธที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2565

หลักคิด 10

เมื่อไรที่ฐานะของคุณ บ่งบอกว่า พร้อมที่จะเป็น fulltime investor ได้ (แต่จริงๆแล้ว การทำงานประจำคู่กันไปย่อมดีกว่าเพราะมั่นคงกว่า แต่ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของแต่ละบุคคล)

 ด้านจิตใจ 
- ลงทุนมานานพอสมควร ถ้าให้ดีอย่างน้อยควรผ่านตลาดหุ้นมาหนึ่งรอบวัฎจักรเศรษฐกิจ จะได้ผ่านทั้งตลาดหุ้นขาขึ้นและขาลงมาแล้ว เพื่อว่าจิตใจมั่นคงพอ ไม่หวั่นไหวยามเจอกับตลาดหมีตัวโต 

- มีแนวทางการลงทุนของตัวเองที่ชัดเจน ผ่านการพิสูจน์มาแล้ว 

- ต้องมั่นใจว่าเป็นคนมีวินัยในตัวเองสูง เพราะการเป็น full time investor จะมีอิสระสูงมาก ทำให้หย่อนยาน ในการพัฒนาตนเองและการรับรู้ข่าวสารได้มาก 

- ต้องมั่นใจว่าติดตามข่าวทุกเช้าได้ (ไม่ใช่แค่มั่นใจแต่ต้องทำอยู่เป็นกิจวัตรประจำวันอยู่แล้ว) 

- ติดตามข่าวเศรษฐกิจประจำวัน 
- ติดตามข่าวในเวบตลาดหลักทรัพย์ 
- ติดตามบทวิเคราะห์ที่ออกมาใหม่ 
- รวมถึงติดตามข่าวสารของบริษัทที่เราถือหุ้นอยู่ 
- มีเวลาให้กับการหาหุ้นตัวใหม่ 

ด้านการเงิน
- ถ้าเป็นนักลงทุนแสดงว่าต้องมีการรับปันผล ซึ่งเงินปันผลนั้นควรจะเท่ากับหรือมากกว่า 1.3 เท่าของค่าใช้จ่ายประจำปี โดยส่วนที่เหลือสามารถนำไปรวมเป็นเงินฉุกเฉิน 

(โดยค่าใช้จ่ายประจำปีนั้นต้องคิดล่วงหน้า ถึง แต่งงาน มีลูก ค่าการศึกษาลูก ค่าผ่อนรถผ่อนบ้าน รวมไว้แล้วทั้งหมด)

- มีเงินสำรองฉุกเฉิน อย่างน้อยที่สุดเท่ากับ คชจ หนึ่งปี (แต่จะดีมากถ้ามีสำรองมากกว่านั้น) ในส่วนนี้ หากมีเกินกว่า 2 ปี อาจแยกลงทุนเป็น พอร์ตหุ้นย่อยเพิ่มเติม หากมีเหตุจำเป็นที่ใช้เงินมากกว่าเงินฉุกเฉิน จะได้ไม่กระทบกับพอร์ตหลัก

ถ้ามีทุกอย่างมากกว่าที่กล่าวมาทั้งหมด นั่นคือคุณมีความพร้อมสูง เมื่อเป็น full time investor แล้ว โอกาสที่จะต้องกลับไปทำงานประจำก็จะมีน้อยมาก

อยากจะขยายความและการหาหุ้นตรงจุดนี้

ค่าเฉลี่ยเงินปันผลของ SET ทั้งตลาดจะอยู่ที่ประมาณ 2%-3% 

ดังนั้นหุ้นที่อยู่ในเกณฑ์ปันผลดี ก็ควรจะมีเงินปันผลที่สูงกว่าตลาด ดังนั้นจึงโฟกัสไปที่หุ้นที่มีปันผลสูงกว่า 3% ขึ้นไป (Prefer 4% up)

แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าให้ดูที่เงินปันผลเป็นหลักในการคัดเลือกหุ้น เพียงแต่มันเป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญ 

การคัดเลือกหุ้นที่จะเอามาประกอบเป็นพอร์ต เพื่อที่จะให้มีอิสระทางการเงิน เพื่อที่จะใช้รับเงินปันผลในระยะยาวนั้น ควรจะต้องเป็นบริษัทที่มี ความสม่ำเสมอของรายได้ ที่คาดการณ์ได้ 

มีการเติบโตมากกว่าเงินเฟ้อจริงๆคือเติบโตสูงได้ก็เป็นเรื่องที่ดี แต่มักจะหายากที่จะเติบโตสูงและได้ปันผลสูงคู่กัน และราคาไม่แพง

การเติบโตปีละมากกว่า 20% เป็นอะไรที่ไม่ยั่งยืนในระยะยาว ราคาหุ้นในช่วงที่มีการเติบโตสูงมากกว่าปีละ 20% นั้นมักจะมีราคาสูงมาก ถ้าซื้อหุ้นลักษณะนี้แล้วถือใน "ระยะยาว" พอวันที่การเติบโตลดลง และตลาดปรับค่า P/E ลง ราคาหุ้นจะกระโดดลงแบบ 2 เด้ง (กำไรลด×พีอีลด) 

การลงทุนอิสรภาพทางการเงินหรือเพื่อเป็น full time investor เราให้ความสำคัญกับความเสี่ยงของพอร์ตหุ้นระยะยาวเป็นสำคัญด้วย เพราะถ้าหากระหว่างทางเกิดมีหุ้นในพอร์ตเจอ Accident สักตัว อาจทำให้พอร์ตพังได้ และต้องมาเริ่มสร้างพอร์ตใหม่ ซึ่งจะทำให้เวลาที่ผ่านมาสูญเปล่า (เวลาในการลงทุนของคนเราตลอดช่วงชีวิต มีอย่างจำกัด เพิ่มขึ้นไม่ได้)

และการที่จะถือหุ้นของบริษัทในระยะยาว ความมั่นคงของบริษัทจึงเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้น ที่ควรดูคู่กันไปคือ หนี้สินของบริษัท ไม่ควรจะสูงเกินไป 

ระหว่างบริษัทที่ใช้หนี้สินสูงในการเร่งการเติบโต กับบริษัทที่มีหนี้สินไม่สูงและมีการเติบโตปานกลาง อย่างหลังจะลดความเสี่ยงระยะยาวของพอร์ตได้ดีกว่า 

อีกปัจจัยหนึ่ง ที่สำคัญต่อการหาหุ้นลงทุนระยะยาว คือ ผบห (หรือ ผถญ) สำคัญมาก หลายครั้งที่นักลงทุนรายย่อยมักจะมองข้ามข้อนี้ 

นักลงทุนไม่ใช่ trader การมีผู้บริหารหรือผู้ถือหุ้นใหญ่ที่ชอบสร้างราคาให้เกินมูลค่าไปมากๆบนระยะเวลาสั้นๆ นั้นไม่ได้ประโยชน์อะไร เพราะราคาที่เกินมูลค่าในระยะเวลาสั้นๆสุดท้ายแล้วราคาก็จะต้องลดลงมาอยู่ดี และอย่างไรเสีย เราก็ไม่ได้ขายหุ้นออกบนช่วงระยะเวลาที่สั้นๆอยู่แล้ว แต่ต้องการ ผู้บริหารที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับบริษัทในระยะยาวได้อย่างต่อเนื่องและมั่นคงต่างหาก 

แนวคิดของผู้บริหาร จะส่งผลต่อคุณลักษณะของคนที่เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นรายย่อย ถ้าผู้บริหารที่ชอบเล่นกับราคาตลาด ขยันลากขยันทุบราคาและให้ข่าวบ่อยเกินไป ก็จะได้ผู้ถือหุ้นรายย่อยที่เป็นเทรดเดอร์หรือนักเก็งกำไร หรือผู้ที่สนใจจะถือหุ้นแค่ชั่วคราวเข้ามาเป็นจำนวนมาก ทำให้ราคาหุ้นมีความผันผวนสูง

รวมถึงผู้บริหารที่ชอบใช้วิศวกรรมทางการเงินแปลกๆ อันนี้เป็นสิ่งที่ต้องระวัง เพราะในระยะยาว ไม่รู้ว่าจะเจอวิธีการอะไรแปลกๆ มาไดลูทมูลค่าหุ้นหรือไม่ และหากเป็นเช่นนั้น อาจเป็นอันตรายต่อการถือหุ้นในระยะยาว เป็นอันตรายต่อพอร์ตการลงทุนระยะยาว

ทั้งหมดนี้ก็เป็นปัจจัยหลักๆที่สำคัญในการสร้างพอร์ตเพื่อรับเงินปันผลในระยะยาว ส่วนในรายละเอียดปลีกย่อยก็อาจจะมีเพิ่มเติมกัน แล้วแต่ละบุคคลกันไป

°°°°°°°°°°°°°°°°

มีคำกล่าวว่า "ไม่จำเป็นจะต้องทำสิ่งที่มหัศจรรย์ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่มหัศจรรย์" 

นักลงทุนไม่จำเป็นที่จะต้องรวยในช่วงเวลาข้ามคืนเพื่อให้บั้นปลายชีวิตมีความมั่นคง 

ถ้าคุณลงทุนเป็นเงิน 1 ล้านบาท และได้ผลตอบแทนปีละ 12% ต่อปี เป็นเวลา 30 ปี มันจะกลายเป็นเงินประมาณ 30 ล้านบาท 

หรือถ้าสามารถสร้างผลตอบแทนได้ปีละ 15% ต่อปีบนเวลา 30 ปีมันจะกลายเป็นเงิน 66 ล้านบาทจากเงินต้นเพียง 1 ล้านบาท

ไม่จำเป็น ต้องอยากรวยเร็ว กำไรปีละเป็น 100% ขนาดยอมลงทุนในหุ้นที่มีความเสี่ยงสูงๆ แล้วโอกาสที่จะสำเร็จมีน้อยนิด และพอไม่สำเร็จคุณก็แทบไม่เหลืออะไรเลย เสียทั้งเงินและเสียทั้งเวลา ส่งผลให้แก่ตัวอย่างไม่มีอะไรดีขึ้นมาเลย 

บางครั้งก็ต้องชั่งน้ำหนักอยากมีหลักพันล้านโอกาสสำเร็จ 1%
หรืออยากมีหลักร้อยล้านแต่โอกาสประสบความสำเร็จ 70-80%

*********
เล่ห์กลทางบัญชี , วิศวกรรมการเงิน ,วิศวกรรมทางบัญชี สิ่งเหล่านี้ แสดงให้เห็นถึงนิสัยของผู้บริหารได้เป็นอย่างดี 

ผู้บริหารที่ซื่อตรงจะมีความพยายามที่ให้บัญชีของบริษัทแสดงออก สื่อถึงมูลค่าที่แท้จริง ความสามารถในการทำกำไร และหนี้สินของบริษัทอย่างใกล้เคียงความจริงมากที่สุด ผู้บริหารที่ทำผิดไปจากนี้ ย่อมแสดงให้เห็นถึงเจตนาว่าจะส่อถึงความไม่ซื่อตรง 

การที่ผู้บริหารพยายามจะใช้เล่ห์กลทางบัญชี วิศวกรรมทางการเงิน วิศวกรรมทางบัญชี ล้วนมีจุดประสงค์เพื่อหลอกตานักลงทุน เพื่อที่จะตบตานักลงทุนทั้งสิ้น

ถ้าในมุมมองของธุรกิจให้ลองสมมุติว่า เพื่อนคุณจัดตั้งบริษัท แล้วให้คุณเป็นหุ้นส่วน โดยเพื่อนคุณเป็นผู้บริหาร ถ้าหากเพื่อนคุณใช้เล่ห์กลทางบัญชี  คุณอยากที่จะร่วมเป็นหุ้นส่วนกับเพื่อนคุณหรือไม่ ?

**********

อย่าสับสนระหว่างความฉลาดกับตลาดกระทิง - ฮัมฟรีย์ บี. นีลล์

**********

คนที่ซื้อลอตเตอรี่หลายคนเคยบอกไว้ว่า ชีวิตนี้เกิดมาครั้งเดียว อยากลองถูกรางวัลที่ 1 บ้าง ถึงได้ซื้อลอตเตอรี่ 

ฟังแล้วก็ได้แต่ เอิ่มมมม
คนซื้อหวยคือ นักพนัน
เจ้ามือหวย คือ คนทำธุรกิจ

ถ้าเจ้ามือหวยสอนให้คุณเล่นหวย
นั่นคือเขาต้องการทำกำไรจากคุณ

หากลงทุนโดยคิดว่าชีวิตนี้เกิดมาครั้งเดียว แล้วซื้อหุ้นโดยใช้วิธีคิดแบบซื้อลอตเตอรี่ที่หวังจะถูกรางวัลที่ 1 นั่นไม่เรียกว่าเป็นการลงทุน แต่เรียกว่าเป็นการซื้อหวย

ถ้ามีคนบอกว่าชีวิตนี้เกิดมาครั้งเดียวมาซื้อหวยกันเถอะ (มาเก็งกำไรกันเถอะ) คุณควรต้องคิดให้หนัก

**********

กรณีศึกษา ในการเปรียบเทียบ หุ้นที่กำลังเติบโต ไปสู่จุดที่เป็นหุ้นมั่นคง

บ. A 
- มีหนี้สินที่ต่ำเมื่อเทียบกับส่วนผู้ถือหุ้น
- รายได้มีความสม่ำเสมอพอสมควรอยู่ที่ประมาณ 13,000 ล้านถึง 15,000 ล้าน
- กำไรสุทธิก็มีความเสมอคืออยู่ที่ประมาณ 1,500 ล้านถึง 1,900 ล้านจะมีปี 64 ที่ดรอปลงมาจากเหตุการณ์โควิด
- market cap อยู่ที่ 13,600 ล้าน 
- PE อยู่ที่ 8.97 เท่าและ PB อยู่ที่ 0.68 เท่า
ดูแบบนี้แล้วน่าจะเป็นบริษัทที่ค่อนข้างอิ่มตัว มีความมั่นคงดี 

บ. B 
- มีหนี้สินที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับส่วนผู้ถือหุ้น 
- รายได้ที่ประมาณ 3,000-3,600 ล้าน 
- กำไรสุทธิ 400-580 ล้าน
- market cap อยู่ที่ 15,200 ล้าน
- PE ประมาณ 40 เท่า PBประมาณ 12 เท่า
รู้ได้เลยว่าหุ้นบริษัท B เป็นหุ้นขนาดเล็กที่มีความเสี่ยงสูง และนักลงทุนมีความคาดหวังที่สูงมากบริษัทนี้

บริษัท b มีขนาด market cap มากกว่าบริษัท a แสดงว่านักลงทุนอาจจะคาดหวังให้บริษัทบีเติบโตจนมีกำไรมากกว่าบริษัท a ก็อาจจะคาดหวังกำไร จากบริษัท b 2,xxx ลบ อย่างน้อย หรือเปล่า ???

ลองสมมุติเล่นๆ ถ้าบริษัท b จะทำกำไรได้สัก 2 พันล้านต้องมีรายได้สักเท่าไหร่ บริษัท b มีอัตรากำไรสุทธิประมาณ 12-16% สมมุติค่าเฉลี่ยที่ 14 เปอร์เซ็นต์ นั่นแปลว่าบริษัทดีต้องมีรายได้อย่างน้อย 14,000 ล้าน โดยที่ราคาหุ้นปัจจุบันนี้ดูจาก market cap ได้ตอบรับกำไรที่ 2 พันกว่าล้านหรือได้ตอบรับรายได้ที่ 14,000 กว่าล้านไปแล้วหรือเปล่า ???

ถ้าใช่ ถ้าสมมติว่า ราคาหุ้นได้ตอบรับกำไรที่ 14,000 ล้านไปแล้ว คนที่ซื้อหุ้นนะราคาปัจจุบันจะต้องรออีกกี่ปีกว่ารายได้จะไปถึง 14,000 ล้าน และระหว่างที่รอหากมีเหตุให้รายได้ไปไม่ถึง 14,000 ล้านราคาหุ้นจะเป็นอย่างไร 

จริงๆแล้วในรายละเอียดของแต่ละบริษัทยังมีเรื่องปลีกย่อยที่ต้องศึกษาเพิ่มเติมอีกมากมาย 
เช่น สมมติว่า มีการเติบโตบางอย่าง ที่เรามองไม่ออก ที่สามารถทำให้บริษัท b มีรายได้ไปถึง 30,000 ล้าน ราคาหุ้นปัจจุบันก็จะกลายเป็นราคาถูกมากไปในทันที

ทั้งหมดเป็นเพียง "การสมมุติ" เพื่อเป็นเคสศึกษา เพื่อการเปรียบเทียบหุ้นเท่านั้น

ปล. โดยส่วนตัวชอบอะไรที่จับต้องได้ในปัจจุบันมากกว่า ที่จะไปรอน้ำบ่อหน้าและต้องแบกรับความเสี่ยงสูงๆ
Stanly & FSMART