วันพุธที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

หลักคิด 09

ความล้มเหลวของนักลงทุนส่วนใหญ่  เกิดจากตนเองเป็นหลัก ตัวนักลงทุนเอง คืออุปสรรคที่ใหญ่ที่สุด

*****
ซื้อหุ้นที่ราคาต่ำกว่ามูลค่าด้วยวิธีการประเมินอย่างระมัดระวัง อย่างอนุรักษ์นิยม รวมถึงเน้นซื้อหลักทรัพย์ที่มีราคาต่ำกว่ามูลค่าสินทรัพย์สุทธิหากบริษัทปิดกิจการ (ไม่ได้หมายความว่าบริษัทต้องปิดกิจการจริงๆ)
*****
ถึงแม้ว่าจะประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุยังน้อย แสดงถึงความฉลาดหรือไหวพริบก็ตาม แต่เนื่องจากประสบการณ์ทางธุรกิจน้อย ทำให้เกิดความเสียเปรียบในการทำดิว 

โดยปกติเวลาทำดิวธุรกิจ จำได้ว่าบริษัทใหญ่บางบริษัทจะมีสัญญาห้ามเปิดเผยข้อมูลก่อนที่จะมีการตกลงซื้อขายกันเรียบร้อยแล้ว 

เพราะว่าการเปิดเผยข้อมูลนั้นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจนำไปใช้หาผลประโยชน์ได้ จนส่งผลทำให้ดิวนั้นล่มได้  

อีกอย่างระหว่างการทำข้อตกลงบันทึกความเข้าใจ ไม่ควรทิ้งระยะเวลายาวนานเกินไปในการวางมัดจำ บางส่วนก่อนที่จะทำดิว

หรือไม่ก็ควรจะมี ข้อตกลง ในบันทึกความเข้าใจ ว่าหากมีการเปลี่ยนแปลงไปจากนี้ ผู้ซื้อแสดงเจตนาที่จะไม่ซื้อ ไปจากข้อตกลงจะต้องมีการปรับเงิน เหมือนที่ อีลอน มัส์ค อาจถูกปรับได้ถ้าหากไม่ซื้อ twitter

ประสบการณ์นั้นสำคัญ
*****

ความผิดพลาด เปรียบเสมือนแมลงสาบ มันมีจำนวนมาก และไม่สามารถที่จะหนีจากมันได้ทั้งหมด ทางเดียวที่จะรอด ก็คือ ต้องมีส่วนเผื่อความผิดพลาด
*****

เคยโพสแล้ว แต่คิดว่ามีประโยชน์ โดยเฉพาะช่วงนี้ มีสายเทรดเยอะมากๆ 😄

เคยมีคนถามว่า อยากเทรดหุ้นหาค่ากับข้าว ไม่เอามากแค่วันละ 1,000-1,500 มีทางทำได้ไหม

ฟังคำถามแล้ว เหนื่อยใจ ผิดตั้งแต่วิธีคิด, ผิดทั้ง mindset

ถ้าจะตอบคงบอกว่าให้ลองหาหนังสืออ่านให้มากๆก่อน

กำไรทุกวัน ทุกครั้งที่เทรด แค่วิธีคิดตั้งต้นก็ผิดแล้ว

อย่างแรกทำไมวิธีคิดแบบนี้ถึงผิด
เพราะไม่มีทางทำกำไรได้ทุกวัน ไม่มีทางถูกทุกครั้งที่เทรด เพราะการเทรดบนระยะเวลาสั้นๆที่จะ take profit รายวันนั้นสิ่งที่ใช้เทรดคือ

1.เทรดตามกราฟ ซึ่งกราฟคือการใช้สถิติ และหาโอกาสความน่าจะเป็น คำว่าโอกาสความน่าจะเป็นแปลว่าไม่ใช่ 100% ดังนั้น ถูกทุกการเทรดจึงเป็นไปไม่ได้  

2.เทรดตามข่าวลือ อันนี้ยิ่งเป็นไปไม่ได้เด็ดขาดที่จะถูกทุกการเทรด

3.เทรดตามความรู้สึกอันนี้ไม่ต่างกับการพนันไม่มีหลักการอะไรเลย

4.เทรดโดยใช้ระบบเทรด การใช้ระบบจะเป็นการเทรดที่ใช้หลักการคือ เวลาผิดต้องเสียให้น้อยและถูกต้องได้ให้มาก ซึ่งเรื่องระบบเทรดก็ต้องใช้เวลาเช่นกัน อาจใช้เวลาพอๆกับการลงทุนด้วยซ้ำไป

ส่วนการลงทุนนั้นต้องใช้เวลา ไม่ใช่การทำกำไรรายวัน

ในตลาดหุ้น มีสองทางหลักๆ ที่สามารถทำได้ 

1.เป็นเทรดเดอร์ ใช้ระบบเทรด มีหลักการเทรดที่ถูกต้องและเข้ากับจริต เข้ากับ mindset ของแต่ละบุคคล ซึ่งการใช้ระบบเทรดก็ต้องใช้เวลาเพื่อให้ระบบแสดงผลงาน ไม่ใช่จะกำไรทุกวัน

2.เป็นนักลงทุนที่ใช้พื้นฐาน อันนี้ใช้เวลาแน่นอน

ว่าด้วยเรื่องระบบเทรด
ระบบเทรดหุ้น หลักๆแล้วขึ้นอยู่กับสมการนี้
(%win× win size) - (%loss×loss size)

สมมติ
เงินทุน 1 ล้าน ซื้อหุ้น 5 ตัวเท่าๆกัน จะได้ตัวละสองแสน
Run trend ด้วยเงื่อนไข A และตั้งจุด cut ด้วยเงื่อนไข B
ผลว่ามีสองตัวได้กำไรตัวละ 30% และขาดทุนสามตัว cut ที่ตัวละ 10%

ชนะสองตัวจากห้าตัว, %win 2/5=40%
กำไรตัวละ 30%, win size=30%
แพ้สามตัวจากห้าตัว, %loss 3/5=60%
ขาดทุนตัวละ 10%, Loss size=10%
(%win× win size) - (%loss×loss size)
40%×30% = 12%
60%×10% = 6%
12% - 6% = Net profit 6%

คนส่วนมากพยายามเทรดใหได้ %win 100% คือพยายามจะชนะทุกตัวที่เทรดซึ่งจริงๆแล้วเป็นไปไม่ได้เลยในการเทรด ที่จะชนะทุกครั้ง ทุกตัว เพราะเวลาเทรดจะใช้เงื่อนไข A ในการรันเทรนด์ ดังนั้นจึงพยายามหาเงื่อนไข A ที่ดีที่สุด เรียกว่าพยายามหา Holy Grail นั่นแหละ มันไม่มีอยู่จริง เพราะ

เครื่องมือที่ใช้ในการกำหนดเงื่อนไข ล้วนมาจากสถิติ ที่นำสถิติมาหาโอกาสในความน่าจะเป็น แล้วนำมาสร้างเงื่อนไข A

แต่คำว่า "น่าจะเป็น" แปลว่าต้องมีทั้งเป็นไปได้และเป็นไปไม่ได้ปนอยู่ ดังนั้น เงื่อนไข A ที่จะทำให้ชนะ 100% จึงขัดกับแหล่งที่มาของเงื่อนไขเอง

ตัวต่อมาคือ win size ตัวนี้ทุกคนคงอยากให้สูงที่สุด พอคิดว่าสูงสุดแล้วจึงขายหุ้น นั่นก็จะมีคำว่าขายหมูตามมา เมื่อขายหมูบ่อยๆ ก็ไม่ยอมขายหมู กลายเป็นพอกำไรมากแล้วไม่ขาย พอราคาลงก็รอหวังให้ราคาขึ้นไปเท่าเดิมจะขาย แต่สุดท้ายกลายเป็นขาดทุน จึงเป็นที่มาของการหาเงื่อนไข A มาใช้เพราะหากขายด้วยอารมณ์ เดวก็ขายหมูบ้าง เดวก็ถือจนกำไรกลายเป็นขาดทุนบ้าง ดังนั้นต้องมีเงื่อนไขในการขายที่ชัดเจน จึงพยายามหาเงื่อนไข A ก็วนกลับไปที่พยายามหา Holy Grail อีก

เงื่อนไขในการคัดหุ้นเข้าเทรดกับเงื่อนไขในการรันเทรนด์มันต้อง match กัน มันถึงจะไปด้วยกันได้ รวมๆกันอยู่ในเงื่อนไข A ซึ่งมันก็ส่งผลต่อ %loss โดยปริยาย เพราะหาก %win สูง, %lossย่อมต่ำลงโดยอัตโนมัติ

ส่วน Loss Size นั้น คงเคยได้ยินคำพูดว่าว่า เวลากำไรต้องกำไรให้มาก เวลาขาดทุนต้องขาดทุนให้เล็ก เพราะหากขาดทุนมากก็จะไปกินกำไรที่ทำได้จนหมด ดังนั้นจึงต้องพยายาม cut loss แต่เวลาทำจริงๆ คัททีไรราคาวิ่งขึ้นทุกที ครั้งไหนไม่คัทมันก็ลงได้ใจเหลือเกิน จริงไหม 😂 ทำให้การคัทเป็นเรื่องยาก

ดังนั้นจึงต้องมีตัวช่วยให้การคัทลอส เป็นเรื่องเป็นราว จึงมีเงื่อนไข B มาช่วย

ซึ่งเงื่อนไข B ก็มีที่มาจาก สถิติอีกนั่นแหละ อะไรที่มาจากสถิติแปลว่า มันมี "ความน่าจะเป็น" ซึ่งแปลได้อีกอย่างนึงคือ ไม่ 100%

หุ้นบางตัวใช้เงื่อนไข B คัทแล้ว ราคาหุ้นกลับเด้งขึ้นยาวๆๆๆ เลยก็มี ลงมาเพื่อให้คัทแล้วขึ้นให้เจ็บใจเล่น ทุกคนที่ใช้ระบบจึงพยายามหาเงื่อนไข B ที่ดีที่สุดมาใช้

และทั้งเงื่อนไข A และ B ก็ทำโดยการ Optimize กับ data เก่าแต่ละช่วงเวลา ซึ่งมันก็คือการใช้ สถิติอีกแล้ว

เมื่อการ optimize มันสร้างมาจากดาต้าเก่า มันจึงอาจไม่ได้เหมาะกับช่วงเวลาในอนาคตเสมอไปก็ได้ มันอาจจะใช้กับช่วงเวลาในอนาคตได้ระยะหนึ่ง พอเลยระยะเวลานั้นไปแล้วก็ใช้ไม่ได้อีกต่อไป ดังนั้นจึงต้องทำการ Optimize กันอยู่ตลอดเวลา Dig data กันไปเรื่อย

บ้างก็ขยายขอบเขตของ Data จากเดิมที่ใช้แต่ Data เชิงปริมาณ ก็นำ Data เชิงคุณภาพมาใช้ เพราะ Data เชิงปริมาณขุดกันจนพรุนไปหมดแล้ว
จะเห็นได้ว่าจริงๆแล้วนักลงทุนที่ใช้ระบบเทรด จะต้องขวนขวายหาความรู้ และโค้ดดิ้งเป็น ไม่งั้นก็จะสู้ เด็กรุ่นใหม่ๆ ไม่ได้

อีกอย่างเชื่อว่าเทรดเดอร์ที่ใช้ระบบเทรด ส่วนมาก ไม่ได้จบมาจากสายสถิติ หรือสายที่โค้ดดิ้งโดยตรง พอต้องมาเจอกับเด็กรุ่นใหม่ ที่เรียนจบด้านนี้โดยตรง เมื่อไหร่ที่เด็กรุ่นใหม่มี ปสก มากพอ วันนึงก็ต้องโดนเด็กรุ่นใหม่แซง

เงื่อนไขในการเทรด (เช่น เงื่อนไข A , B) ยิ่งคนรู้มากยิ่งใช้ไม่ได้ผล

ตัวอย่าง สมมติ ใช้ Cut ที่ ราคาต่ำกว่า ema10 พอคนรู้มากๆเข้า จ้าวอาจลากราคาให้หลุด ema10 เพื่อเขย่าคนออกแล้วค่อยลากขึ้นต่อ

นี่คือเหตุผลนึง ที่บอกว่า เงื่อนไขในการเทรดยิ่งคนรู้มากยิ่งใช้ไม่ได้ผล

ทั้งหมดนี้ คือพูดถึงการเทรดที่ใช้ระบบ ไม่ได้เกี่ยวกับการลงทุน คนละวิธีคิดกับการลงทุน

*****
การลงทุนระยะยาว จะมองภาพใหญ่ของ บ. เป็นหลัก ผลประกอบการดีชั่วคราว 1-2 ไตรมาสนั้น แม้จะเป็นเรื่องดี แต่มันสำคัญน้อยมาก เมื่อเทียบกับผลประกอบการระยะยาวหลายสิบไตรมาส

การลงทุนระยะยาว ไม่ใช่การไล่ล่างบรายไตรมาส แล้วก็ขายเปลี่ยนตัว ถ้าเป็นแบบนั้น ก็ไม่ต่างจากพอร์ตเทรด ที่หยุดไล่ล่า หยุดเทรดเมื่อไร พอร์ตก็จะไม่โต ทำให้ต้องเริ่มต้นใหม่ตลอดเวลา

*****

หลักสำคัญของ เบนจมิน เกรแฮม คือการประเมินมูลค่า และซื้อหุ้นให้ได้ในราคาที่มีส่วนเผื่อความปลอดภัย 

หลักสำคัญของ ฟิลลิป ฟิชเชอร์ คือการพยายามค้นหาหุ้นที่มีความได้เปรียบในการแข่งขันที่ยั่งยืน ผู้บริหารที่ซื่อสัตย์ เชื่อถือได้ เห็นแก่ประโยชน์ของผู้ถือหุ้นเป็นหลัก พยายามค้นหาบริษัท ที่เราจะเข้าไปเพื่อเป็นหุ้นส่วนกิจการ และเมื่อมันเป็นกิจการที่ดีแล้ว มีแนวโน้มว่าจะถือมันตลอดไปตราบเท่าที่มันยังดีอยู่ 

ลองคิดดู ถ้าหากมีใครสักคน ที่สามารถซื้อบริษัท หรือร่วมเป็นหุ้นส่วนกับบริษัท ที่มันดี มีความได้เปรียบทางการแข่งขันอย่างยั่งยืน มีผู้บริหารที่มีความสามารถและมีความซื่อสัตย์สุจริต ในราคาที่มีส่วนเผื่อความปลอดภัย และเป็นหุ้นส่วนกับบริษัทนั้นไปอีกนานตราบเท่าที่มันยังดีอยู่ มันจะดีแค่ไหน

และใช่ ใครสักคนที่ว่า คือ ปู่ Warren Buffett นั่นเอง
*****
สิ่งที่สำคัญมากที่สุดในการลงทุน ไม่ใช่ IQ แต่มันคือความมีวินัย

สัญชาตญาณ (ความโลภและความกลัว) สามารถที่จะบดบังสติปัญญาอันเฉียบแหลมได้ ไม่ว่าคนนั้นจะฉลาดสักเพียงใดก็ตาม

ในยามที่ สัญชาตญาณครอบงำสติ สิ่งเดียวที่จะช่วยให้ยึดติดอยู่กับหลักการลงทุนได้ คือ ความมีวินัย
*****
คนที่มี ความโลภ + ความไม่รู้ แล้วเข้าตลาดหุ้น รับรองได้เลยว่าจะจนลงในพริบตา 

ความโลภคงไม่ต้องอธิบายมาก 

แต่ความไม่รู้ นี่สิ มันมีความหมายได้ 2 ทาง 
คือไม่รู้ในสิ่งที่ควรรู้ เช่น ความรู้ต่างๆ  
และ ไม่รู้ในสิ่งที่ไม่รู้ คือไม่รู้ว่าตนเองไม่รู้อะไรบ้าง

*****

ตัวอย่างโมเดลหุ้นเติบโต พีอีสูงกับ หุ้นมั่นคงพีอีต่ำ "ระยะยาว" แล้วอะไรให้ผลตอบแทนมั่นคงกว่ากัน 

ตารางแรกเป็นตัวแทนหุ้นเติบโตที่มีการเติบโต 20% ไปสมมุติให้ซื้อที่ PE 30 เท่า

 ซึ่งแน่นอนว่าอัตราการเติบโตในระดับที่สูง มักจะคงอยู่ได้ไม่นาน จึงสมมุติให้อัตราการเติบโตลดลงปีละ 1% (ดูในช่องอัตราการเติบโตของกำไร จาก 20% ลดลงจนเหลือ 6% กลายเป็นหุ้นปันผล)

ตั้งสมมติฐานไว้ว่า เมื่ออัตราการเติบโตค่อยๆลดลงปีละ 1% ค่า PE ก็จะค่อยๆลดลงเช่นกัน 

โดยกำหนดให้ปีแรกที่มีอัตราการเติบโตของกำไร 20% นั้นตลาดให้ค่า PE ที่ 30 เท่า PE และการเติบโตทยอยลดลงไปจนอยู่ที่ PE 6 บนการเติบโต 6% ที่เราเรียกว่าเป็นหุ้นปันผล

ตามตารางแรกของการสมมติฐานจะเห็นว่าราคาหุ้นเพิ่มสูงสุดที่ประมาณปีที่ 8-9 จะได้กำไรจากราคาหุ้นเพิ่มประมาณ 84 ถึง 85% 

หากมองในแง่ของกำไรสุทธิที่ได้รับมาแต่ละปีแล้วสะสมเพิ่มขึ้นทุกปีจะเห็นว่าหากถือยาวถึงปีที่ 15 ผลตอบแทนสะสมจากกำไรที่อยู่ที่ 179% (ในช่องอัตราผลตอบแทนสะสมจาก EPS)

ในแง่ของเงินปันผลสมมุติให้มีอัตราการจ่ายปันผลที่ 50% ของกำไรสุทธิเงินปันผลสะสมทุกปีตั้งแต่ปีที่ 1 ถึงปีที่ 15 จะได้ที่ 26.88 บาท

ลองนำตัวเลขที่กล่าวมาข้างต้นในแต่ละข้อ ไปเทียบกับตารางที่ 2 ที่เป็นหุ้นปันผล ที่สมมุติให้ซื้อที่ PE 6 เท่า เปรียบเทียบในปีที่ 8-9 และในปีที่ 15

โดยต้องไม่ลืมว่าหุ้นที่มีอัตราการเติบโตปีละ 6% ต่อเนื่องในระยะยาวนั้น มีความเป็นไปได้ตามคาดการณ์สูงกว่า หุ้นที่ต้องการการคาดการณ์การเติบโตที่ระดับสูงๆ (หุ้นที่คาดการณ์การเติบโตในระดับสูงนั้นมีโอกาสผิดคาดได้มากกว่า)

แน่นอนนี่เป็นเพียงโมเดลที่สมมุติขึ้นมา มันอาจจะมีหุ้นเติบโตที่ดีแบบเหลือเชื่อกว่านี้อยู่แล้ว เพียงแต่จะหามันเจอไหม ซื้อมันได้ที่ PE เท่าไหร่ เพราะโดยมากหุ้นเติบโตสูงที่เห็นได้อย่างเด่นชัด ก็มักจะซื้อขายกันที่ PE สูงลิบๆยิ่งกว่านี้ 

*** นี่เป็นเพียงการสมมุติเท่านั้น เพื่อการศึกษาเท่านั้น
**************

ถ้าผลตอบแทนของพอร์ตไม่สามารถยืนระยะได้นานพอ ต้องคิดให้หนักว่าที่ผ่านมาคือ ฝีมือหรือว่าโชคกันแน่

**********

ก่อนหน้านี้เคยได้โพสต์ไปแล้วเรื่องโมเดลการศึกษาระหว่างหุ้น growth กับหุ้นปันผล แต่เนื่องจากโพสต์ก่อนหน้าให้หุ้นทั้ง 2 แบบมี dividend pay out ratio เท่ากันที่ 50% ซึ่งดูจะไม่สมจริงในจุดนี้

เพราะโดยมากหุ้นเติบโตจะปันผลอยู่ในประมาณ 20-30% เท่านั้น ส่วนในหุ้นปันผลจริงๆแล้วจะจ่ายปันผลตั้งแต่ประมาณ 50-70%

จุดที่ 1 ดังนั้นจึงมีการปรับค่า dividend payout ratio ในหุ้นเติบโตให้เป็น 30% เพื่อจะได้สมจริงยิ่งขึ้น ในหุ้นปันผล dividend pay out ratio ที่ 50% 

จุดที่ 2 ที่มีการปรับโมเดล อัตราการเติบโตสุดท้ายของหุ้นเติบโตให้ที่ 6.5% สูงกว่าหุ้นปันผลที่ให้ที่ 6% ตลอดช่วงอายุ (แม้ว่าความจริงแล้วหุ้นเติบโตเมื่อกลายเป็นหุ้นปันผลอาจจะมีการเติบโตเท่ากับหุ้นปันผลปกติก็ตาม)

จุดที่ 3 ค่า P/E ของหุ้นปันผลจากเดิมที่ให้ไว้ที่ 6 เท่า ปรับเปลี่ยนเป็น 6.5 เท่า หมายถึงซื้อหุ้นปันผลในราคาที่แพงขึ้นมาจากโมเดลเดิมอีกสักหน่อย 

หากดูจากราคาหุ้น จะเห็นว่าหุ้นเติบโตที่มี P/E สูง ราคาจะพีคที่ประมาณปีที่ 9 โดยตามโมเดลจะอยู่ที่ประมาณ 60 บาท ขณะที่หุ้นปันผลในปีที่ 9 นั้นราคาหุ้นตามโมเดลจะอยู่ที่ประมาณ 50 บาทเท่านั้น แต่เดี๋ยวก่อน (ถ้าคนที่ติดตามโพสต์ของผมตั้งแต่เช้าของวันนี้จะทราบว่า return ของหุ้นไม่ได้วัดกันที่ราคาหุ้นแต่เพียงอย่างเดียว มันต้องนับ return รวมทั้งหมด คือ ราคาหุ้น+ปันผลด้วย) 

ดังนั้นเพื่อให้ง่ายผมจึงทำช่องด้านหลังที่อยู่ในกรอบสีแดง อธิบายในรูปแรก
ช่องแรกคือเงินปันผลสะสม วิธีการดูก็คือสมมุติในปีที่ 9 เราต้องการรู้ว่ารับเงินปันผลรวมตั้งแต่ปีที่ 1 ถึงปีที่ 9 เป็นเงินเท่าไหร่ ก็ให้ดูช่องปันผลสะสม ตามโมเดลคือ 6.75 บาท และในปีที่ 9 ราคาหุ้นตาม model อยู่ที่ 60.35 บาท หักกับราคาหุ้นที่ซื้อที่ 30 บาท ดังนั้นจะมีกำไรจากราคาหุ้นที่ 30.35 บาท หรือดูในช่องผลตอบแทนจากราคาหุ้นของปีที่ 9 

และเมื่อนำเงินปันผลสะสมมารวมกับกำไรจากราคาหุ้น ก็คือช่องถัดไป "ผลตอบแทนราคาหุ้น+เงินปันผลสะสม" ในปีที่ 9 ก็จะได้ที่ 6.75 + 30.35 = 37.10 บาท นี่คือ total return และเมื่อนำมาคำนวณจากต้นทุนที่ 30 บาท จะคิดเป็นผลตอบแทนรวมทั้งหมดทั้งจากราคาหุ้นและจากเงินปันผล 123.65%***

(ทำไมถึงดูที่ปีที่ 9 เพราะเป็นปีที่ราคาหุ้นพีคที่สุด เพราะคนส่วนมากสนใจดูแค่ราคาหุ้น ดังนั้นจึงคำนวณในปีที่ราคาพีคที่สุดเป็นตัวอย่าง)

คราวนี้ถ้าไปดูที่หุ้นปันผลในปีที่ 9 จะพบว่า ราคาหุ้นของหุ้นปันผลนั้นสู้หุ้นเติบโตไม่ได้ เพราะหุ้นปันผลตามโมเดลราคาจะอยู่ที่ 50.68 บาทเท่านั้น เมื่อเทียบกับหุ้นเติบโตตามโมเดลราคาอยู่ที่ 60.35 บาท แต่เดี๋ยวก่อน ณปีที่ 9 เงินปันผลสะสมของหุ้นปันผลนั้นสูงถึง 30.42 บาท เมื่อรวมกำไรจากราคาหุ้น 20.68 บาทบวกกับปันผลสะสมที่ 30.42 บาท total return จะอยู่ที่ 51.10 บาทต่อหุ้น คิดเป็นผลตอบแทน 170.34%***

สรุป วิธีการดูโมเดลให้ง่ายและไว ดูที่ช่องสุดท้ายในกรอบสีแดง ช่องหัวข้อ "อัตราผลตอบแทนจากราคาหุ้น+เงินปันผลสะสม"  

ปล.คนส่วนมากโดนหลอกให้ดูแค่ราคาหุ้นแต่เพียงอย่างเดียว จริงๆแล้วปันผลสะสมนั้นสำคัญมากสำหรับการลงทุนระยะยาว เชื่อว่าคนที่ต้องการจะสร้างพอร์ตลงทุนเพื่อการเกษียณไม่มีใครอยากได้พอร์ตลงทุนระยะสั้น คนต้องการลงทุนระยะยาวกันทั้งสิ้น 

โมเดลนี้เป็นเพียงโมเดลเพื่อการศึกษาเท่านั้น ในตลาดจริงๆแล้วมีความหลากหลายมากกว่าโมเดลที่ทำขึ้นมานี้เยอะมาก 

ส่วนลิงค์นี้คือโพสต์ก่อนหน้า https://www.facebook.com/100000554563052/posts/5784470048248090/?app=fbl