วันจันทร์ที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2565

หลักคิด 11

ในโลกของตลาดหุ้น ไม่มีวิธีการลงทุนแบบใดดีที่สุด มีแต่แบบไหนที่เหมาะกับเรามากที่สุด 

ดังนั้นหาให้พบว่าวิธีไหนเป็นวิธีที่เหมาะกับตนเองมากที่สุด ยิ่งค้นพบเร็วยิ่งเริ่มเดินทางได้เร็ว
**********
บันทึกเป็นกรณีศึกษา ของหุ้น IPO 

หุ้น ipo ตัวล่าสุดที่เราจำได้ ว่าผู้ถือหุ้นเดิมนำหุ้นสามัญเดิมออกมาขายพร้อมกับการขาย ipo คือ TIDLOR โดยเริ่มต้นซื้อขายวันแรก 10 พฤษภาคม 2564 โดยมีราคา ipo ที่ 36.50 บาท

การที่ผู้ถือหุ้นเดิมขายหุ้นสามัญเดิมออกมาด้วย มันเป็นสัญญาณอะไรบางอย่าง 

เช่น บ.ดี มีผลประกอบการดี แต่ราคา IPO อาจจะสูงมาก จนทำให้ผู้ถือหุ้นเดิมอยากจะขายออกมาเพื่อทำกำไรบ้าง  

หรือ ผู้ถือหุ้นเดิมอาจอยากจะใช้เงิน เลยขายหุ้นสามัญเดิมออกมาพร้อมกับการ ipo 

หรือ บ.อาจมีสัญญาณชะลอตัวอะไรบางอย่างในอนาคตที่ผู้บริหารมองเห็น แต่คนทั่วไปมองไม่เห็น 

แต่ทั้งนี้ทั้งหมดก็ได้แต่เดาเท่านั้น 

ในรูปเป็นกราฟ 30 นาที ของช่วงประมาณ 3 วันแรกหลังจาก ipo ของ TIDLOR 

ปล. 

TLI ไทยประกันชีวิต จะขายหุ้น ipo ทั้งหมดไม่เกิน 19.3% ของหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญครั้งนี้ 

โดยแบ่งเป็นหุ้นสามัญ "เพิ่มทุนไม่เกิน" 7.4% ที่เหลือจะเป็นหุ้นสามัญเดิมที่เสนอขายโดยผู้ถือหุ้นเดิม

รวมถึงอาจพิจารณามีการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน เพิ่มเติมอีกไม่เกิน 14.5% ของจำนวนหุ้นสามัญที่เสนอขายในครั้งนี้



กรุงเทพประกันชีวิต
BLA เบี้ยประกันภัยปีแรก (ลบ)
2559 : 11,149 
2560 : 11,947
2561 : 8,101
2562 : 6,198
2563 : 6,550
2564 : 6,262

ไทยประกันชีวิต 
TLI เบี้ยประกันภัยรวม ปีแรก (ลบ)
2562 : 19,455.3
2563 : 17,396.0
2564 : 11,367.3

TLI เบี้ยประกันชีวิตแบบสามัญ ปีแรก
2562 : 16,544.9
2563 : 14,030.6
2564 : 7,895.9

**********

การลงทุนเพื่อเปลี่ยนฐานะนั้น ต้องลงทุนให้มีปริมาณที่มีนัยยะต่อความมั่งคั่งของเรา ไม่ใช่ลงทุนเพียงหวังหาค่ากับข้าวไปวันๆ
*******

ถ้าเข้าไปในห้องๆนึง แล้วทำเรื่องโง่ๆตลอดเวลา รู้ได้เลย ว่าห้องนั้นเรียกว่า ตลาดหุ้น

ใช่แล้ว ตลาดหุ้นมักจะหลอกให้คนที่หลงเข้าไปทำเรื่องโง่ๆ ทำเรื่องผิดพลาดได้แทบตลอดเวลา 

เข้าตลาดหุ้นเพราะหวังกำไร แต่คนส่วนมากต้องขาดทุน เข้าไปเพื่อหวังซื้อของถูกจะได้ขายแพง แต่พอซื้อจริงซื้อของแพงทุกที เข้าไปซื้อเพราะหวังขายแพงให้คนอื่น คิดว่าคนอื่นโง่กว่า แต่เอาเข้าจริงๆ ตัวเอง คือคนโง่ที่ไม่รู้ตัว ไปซื้อแพงแล้วต้องมาขายถูกๆ แถมไม่ยอมรับง่ายๆด้วยนะว่าตัวเองหลงผิด 

ตลาดหุ้นมันหลอกเราได้ทุกทาง จนกว่าเราจะยอมรับว่าตัวเราโง่นั่นแหละ เราถึงจะยอมเรียนรู้ความผิดพลาด และทำให้เรารู้ทันมัน

******
ลงทุนบนพื้นฐานบริษัท ลงทุนบนยอดขาย รายได้และกำไร ที่บริษัทสามารถสร้างได้ 

พิจารณาให้ละเอียด ถึงปัจจัยมหภาค ที่ส่งผลต่อบริษัท

หากเป็นการส่งผลเพียงชั่วคราว และไม่ได้มีนัยยะต่อรายได้และผลกำไรของบริษัทในระยะยาวแล้วล่ะก็ ไม่มีความจำเป็นใดๆที่จะต้องกังวล หรือรีบขายหุ้นออกเพื่อหนีปัจจัยมหภาพเหล่านั้นด้วยความกลัว 

ความกลัวและความแตกตื่น มักจะมาในรูปแบบที่เราคิดไม่ถึงเสมอ
******

หากแผนการลงทุน คือการลงทุนระยะยาว ข่าวดีระยะสั้นของหุ้นแต่ละตัว ที่ทำให้ตลาดตื่นเต้น แทบจะไม่ส่งผลต่อการตัดสินใจคัดเลือกหุ้นเพื่อลงทุนในระยะยาวเลย 

หุ้นที่แย่แค่ไหนก็สามารถสร้างสตอรี่ข่าวดีระยะสั้นได้ทั้งสิ้น แต่มันไม่ได้แปลว่าจะเปลี่ยนแปลงพื้นฐานของ บ.กันได้ง่ายๆ

มีบ้างที่พื้นฐานเปลี่ยนไปจริงๆ แต่เป็นส่วนน้อยมากๆ

บ.ที่ดี ที่เหมาะจะลงทุนระยะยาว พื้นฐานของ บ.มักจะดีมาก่อนหน้าอย่างยาวนานอยู่แล้ว
******

เราเชื่อว่าช่วงที่ผ่านมา มีคนล้างพอร์ตเพราะ
- เห็นตัวเลขเงินเฟ้อ แล้วกลัว
- คิดไปล่วงหน้าว่าในอนาคตอันใกล้อาจจะมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยจาก กนง
- กลัว QE TEMPERING ที่กำลังจะมาถึง
- กลัวอนาคตจะมีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ
- ทุกเหตุผลรวมกันจนตลาดมีสภาพ side way ไม่เหมาะแก่การรันเทรนด์

ทั้งๆที่จริงๆแล้ว ปัจจัยเหล่านี้อาจไม่ได้ส่งผลต่อบางบริษัทมากมายเลย อาจจะมีผลกระทบบ้างแค่ชั่วคราวเล็กๆน้อยๆ ในบางบริษัทที่มีความแข็งแกร่งสูง

แต่ก็นั่นแหละ เมื่อความกลัวครอบงำจิตใจแล้ว เหตุผลต่างๆก็จะหายไปหมด

ถ้านักลงทุนยังให้ความสำคัญกับราคาตลาด มากกว่าพื้นฐาน มูลค่า และความสามารถในการทำกำไรของบริษัทแล้วล่ะก็ จะไม่มีวันเอาชนะความกลัวนี้ได้

*****

ต่อให้มีข้อมูลทั้งหมดที่จำเป็นครบถ้วน ข้อมูลทั้งหมดนั้นก็ไร้ค่า ถ้าไร้ซึ่งความสามารถที่จะควบคุมพฤติกรรมการลงทุนของตนเอง และมัวแต่หมกหมุ่นกับคาดการณ์ตลาด

******

องค์ประกอบของผลตอบแทนรวม 

ผลตอบแทนรวม = เงินสด + กำไรส่วนต่างราคาหุ้น + เงินปันผล

1.เงินสด สำหรับรอโอกาส ไม่มีผลตอบแทน ไม่มีความเสี่ยง (อาจเป็น บางส่วนหรือทั้งหมดของเงินปันผล และ/หรือ กำไรจากส่วนต่างราคา)

2.กำไรส่วนต่างราคาหุ้นจากการลงทุนนั้นจะอิงกับ 
- ผลประกอบการของบริษัทเราสามารถกำหนดได้ เรามีสิทธิ์เลือก ว่าจะซื้อ บ.ที่มีผลประกอบการลักษณะไหน อยู่ที่เราศึกษาบริษัทมากพอ เข้าใจบริษัทมากพอที่จะคัดเลือกเพื่อลงทุนให้ตรงกับความต้องการหรือไม่ 
- ราคาที่ซื้อ จุดนี้เราก็มีสิทธิ์เลือกเช่นกัน เราเป็นคนกำหนดว่าจะซื้อที่ระดับราคาขนาดไหน จะซื้อราคาถูกหรือแพงกว่ามูลค่า 
- สภาพตลาด เป็นตัวเดียวที่เราไม่มีสิทธิ์ที่จะเลือกหรือกำหนด และเป็นเสมือน ตัวหนุน หรือ ตัวฉุดกำไร/ขาดทุน ของเราให้มาก/น้อยขึ้นไปอีก

3.เงินปันผล ไม่อิงกับสภาพตลาด (ขึ้นกับผลประกอบการของ บ. เรียกว่าขึ้นอยู่กับการเติบโตภายในจาก บ.โดยตรง) จุดนี้เป็นส่วนประกอบที่สำคัญ เนื่องจากไม่ต้องพึ่งพาสภาพตลาด

*****
คนไม่น้อยมักจะขาดความมั่นใจ ในการถือ หรือเข้าซื้อหุ้นที่ราคาต่ำๆ
******
แนวคิดเรื่องเทขายทั้ง portfolio ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม เป็นสิ่งที่ปฏิบัติจริงได้ยาก และแน่นอนว่าไม่พึงปรารถนา  คนส่วนใหญ่ที่พยายามทำเช่นนั้น มักจะขายช้าเกินไป และซื้อช้าเกินไป อีกทั้งยังทำ 2 อย่างนี้บ่อยเกินไป  - จอห์น เมย์นาร์ด  เคนส์

*****

ถ้าเงินเฟ้อเพราะสินค้าและบริการราคาสูงขึ้น นั่นหมายถึงเงินมีค่าลดลง ทางแก้คือ แทนที่จะถือเงินก็ไปถือ สินค้าและบริการแทนสิครับ 

การถือสินค้าและบริการ หมายถึง การถือ สินค้าโดยตรง เช่นถือ ที่ดิน บ้าน สต๊อกสินค้าที่เป็นที่ต้องการของตลาดและสามารถปรับราคาขึ้น (จริงๆสินค้ามันก็ปรับราคาได้อยู่แล้วเพราะสินค้าราคาขึ้นซึ่งเป็นที่มาของเงินเฟ้อ) 

คราวนี้ การถือสินค้าและบริการ เรื่องที่จะให้มาตุนสินค้า มันไม่ใช่เรื่องง่ายถ้าไม่ใช่คนที่ทำอยู่ในอาชีพเดิมนั่นอยู่แล้ว ไหนจะที่เก็บสต๊อก ไหนจะโกดัง 

ทางแก้ก็คือ ถือหุ้นของ บ.ที่ถือสิทธิ์สต๊อกสินค้าและบริการ ที่สามารถปรับราคาขึ้นได้ 

เมื่อมาถึงจุดนี้ เราก็รู้แล้วว่าทรัพย์สินไหนที่จะถือครองได้ง่ายเพื่อหนีภาวะเงินเฟ้อ แต่ไม่ใช่จะเข้าไปถือได้ในทุกราคา มันก็ต้องมีปัจจัยในการคัดเลือกหุ้นเข้ามาเกี่ยวข้อง 

หากตั้งใจจะถือหุ้นเพื่อหลีกหนีเงินเฟ้อ แสดงว่า 
- ต้องถือหุ้นเป็นระยะเวลาที่ค่อนข้างนาน ระยะกลางถึงระยะยาวขึ้นไป 
- ถือหุ้นของบริษัทที่ขายสินค้าได้แม้จะปรับราคาขึ้น และยอดขายก็ยังเพิ่มขึ้นอีกด้วย 
- จังหวะในการซื้อหุ้น มีส่วนสำคัญที่ทำให้เลือกซื้อหุ้นในราคาที่ต่ำกว่ามูลค่า ยิ่งราคาถูกลงมายิ่งเป็นโอกาสที่ดี สำหรับการซื้อหุ้น 
- การถือหุ้นเพื่อหลีกเลี่ยงเงินเฟ้อ ปริมาณที่ถือมีความสำคัญ ถ้าทรัพย์สินส่วนใหญ่ยังเป็นเงิน ถือหุ้นในจำนวนน้อย ก็ย่อมหลีกเลี่ยงเงินเฟ้อได้ในปริมาณที่น้อย
- และเมื่อต้องถือหุ้นระยะกลางถึงยาวขึ้นไป สิ่งหนึ่งที่ช่วย ชูใจ ช่วยทำให้ใจฟู มีกำลังใจถือหุ้นในระยะยาวได้ก็คือ เงินปันผล 
- ราคาหุ้นที่ลงมาเป็นโอกาสในการซื้อ ซื้อแล้วมองไปที่มูลค่า ถ้าประเมินมูลค่าไม่ผิด ถ้าไม่ประเมินมูลค่าสูงเกินไป เมื่อจ่ายเงินซื้อหุ้นแล้ว ให้ยึดที่มูลค่าเป็นหลักไม่ใช่ยึดที่ราคา 
- มีสติ รู้ไว้เสมอว่าช้าหรือเร็วก็ตาม สุดท้ายแล้ว ราคาจะกลับมาวนเวียนอยู่ใกล้กับมูลค่าเสมอ
*****

การลงทุนระยะยาวโดยหลักการแนว value investor นั้น จากที่สังเกต จะมี MAX DD ประมาณ 30-50% ดังนั้นการเตรียมพร้อมทางด้าน Mindset จะเป็นเรื่องสำคัญมาก และ นลท จำนวนมากไม่พร้อมรับมือกับ dd ขนาดนี้

********

คนที่ยังไม่เคยโดนความผันผวนขนาดหนักเล่นงานมาก่อน มักจะชอบความผันผวน ยิ่งมากยิ่งดี เพราะมองว่าเป็นโอกาส 

แท้ที่จริงแล้ว ทุกคนมีจิตใจที่สามารถรองรับกับความผันผวนของทรัพย์สินได้แตกต่างกัน 

ความผันผวนระดับที่เหมาะสมกับจิตใจเท่านั้น ที่จะสร้างโอกาสได้

และจิตใจจะสามารถรองรับความผันผวนได้ดียิ่งขึ้น มากยิ่งขึ้น ถ้าหากรู้ด้วยความมั่นใจถึงมูลค่า และความสามารถในการทำกำไรของกิจการ

*****
นักลงทุนที่ลงทุนในหุ้นเติบโต ส่วนมากเวลาประเมินมูลค่ามักจะใช้ ค่าสุดท้ายในการประเมินมูลค่า จาก สถิติย้อนหลัง ของ P/E P/S EV/S 

ซึ่งถ้าเมื่อไหร่ค่าสถิติย้อนหลังเหล่านี้ผิดในระดับมหภาค จะทำให้ นักลงทุนที่ลงทุนในหุ้นเติบโต ขาดทุนหนักกันทั้งโลก

เงินง่าย (เงินจากการทำ QE ของสหรัฐ) ทำให้อัตราส่วนต่างๆเหล่านั้นผิดเพี้ยนบนระยะเวลาที่ยาวนานเป็น 10 กว่าปี จนนักลงทุนส่วนมากหลงเชื่อว่ามันจะเป็นค่าเฉลี่ยที่แท้จริงตลอดไป 

ไม่เคยเฉลียวใจว่าถ้าวันใดเงินง่ายหายออกไปจากระบบ อัตราส่วนเหล่านั้น ตัวเลขเหล่านั้น จะเปลี่ยนไปอย่างถาวร
******

บทเรียนที่ยอดเยี่ยมที่สุดที่นักลงทุนจะได้เรียนรู้จากเหล่ามืออาชีพในตลาดหุ้น คือ ไม่มีทางที่เราจะพบแต่วันคืนดีๆ โดยปราศจากวันคืนอันเลวร้าย การขาดทุนก้อนใหญ่ (แบบชั่วคราว) เป็นส่วนหนึ่งของการลงทุนระยะยาว ถ้ายอมรับมันไม่ได้ คุณก็ไม่อาจเก็บเกี่ยวผลตอบแทนในระยะยาวซึ่งตลาดจะมอบให้กับคุณ - ชาลี มังเกอร์

*******
การหาบริษัทที่ได้ประโยชน์จากอัตราเงินเฟ้อสูง 

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนพฤษภาคม 2565 ของประเทศไทยอยู่ที่ 7.1% yoy
บริษัทที่ได้ประโยชน์จากอัตราเงินเฟ้อ จะต้องมีลักษณะต่อไปนี้
- มีหนี้สินค่อนข้างต่ำ ส่งผลให้ได้รับการจัดอันดับเครดิตที่สูง การออกหุ้นกู้หรือการกู้ยืมจะได้ดอกเบี้ยที่ต่ำ
- ยอดขายที่เติบโต สินค้าหมุนเวียนดี

ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า Real Yield คืออะไร 
Real yield = ผลตอบแทน (จากพันธบัตร/หุ้นกู้) - อัตราเงินเฟ้อ

เช่น ฝากเงินธนาคาร สมมติได้ดอกเบี้ย 1% แต่เงินเฟ้อ 7.1% 
ผลตอบแทนจริงที่ได้จากการฝากเงิน คือ 1% - 7.1% = (-6.1%)
นั่นคือ ผู้ที่ "ได้รับดอกเบี้ย" จะได้ผลตอบแทนติดลบ 

ทำไมบริษัทที่มีอัตราดอกเบี้ยจากการกู้ยืมต่ำถึงได้ประโยชน์จากเงินเฟ้อในปัจจุบัน ?
เพราะ Real Yield จากการออกหุ้นกู้ของบริษัท นั้นติดลบ 

ยกตัวอย่าง

AP ออกหุ้นกู้จำนวน 2 พันล้านบาท ดอกเบี้ยจ่ายอยู่ที่ 1.81% ปัจจุบันเงินเฟ้ออยู่ที่ 7.1% 
นั่นหมายถึงบริษัทจะได้ประโยชน์จากการที่ Real Yield ติดลบอยู่ (-5.29%)

และแน่นอนบริษัทที่ "ได้ประโยชน์" จากอัตราเงินเฟ้อ จะต้องเป็นบริษัทที่จ่ายดอกเบี้ยหุ้นกู้หรือดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตราที่ต่ำกว่าเงินเฟ้อจึงจะเป็นผู้ได้ประโยชน์ 

นั่นหมายความว่าบริษัทที่มีหนี้สินที่สูง มีอันดับเครดิตที่ต่ำ จะต้องจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูง จะเป็นบริษัทที่ "ไม่ได้ประโยชน์" จากอัตราเงินเฟ้อ

เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น 
ตัวอย่างให้ดูอีกหนึ่งตัวอย่าง
สมมุติคุณกู้เงิน โดยจ่ายดอกเบี้ย 3% ซื้อบ้าน แล้ว บ้านที่คุณซื้อมาแล้ว มีราคาเพิ่มขึ้นปีละ 5% คุณจะได้กำไรปีละ 2%

นั่นคือคุณจ่ายดอกเบี้ยต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อ

******

ไม่ว่าราคาหุ้นจะเป็นเท่าไหร่ สัดส่วนในความเป็นเจ้าของ ก็ยังเหมือนเดิม 

ถ้าผลประกอบการของ บ.ไม่ได้ลดลง (หรืออาจเพิ่มน้อยกว่าคาด) แล้วละก็ ไม่ว่าราคาหุ้นจะเป็นเท่าไร เงินปันผล จากหุ้นเดิมในมือ ก็ไม่ได้แตกต่างจากเดิมอย่างมีนัยยะ

รับมือกับตลาดอย่างมีสติ และใจร่มๆ 😊
******

ถ้าจัดพอร์ตให้มี asset ต่างๆกัน (หุ้นเทคเมกา คริปโต และอื่นๆ) เพื่อกระจายความเสี่ยง แต่ทุก asset ถูกหนุนด้วย "เงินง่าย"  

มันก็จะไม่มีประโยชน์อะไรเลยสำหรับช่วงเวลานี้ และต่อจากนี้ เพราะเงินง่ายจะค่อยๆลดลง (นี่ขนาดยังไม่ได้เริ่มลด "เงินง่าย" เลยนะ)

ทุกสินทรัพย์ที่ถูกหนุนด้วยเงินง่าย ย่อมปรับระดับลดลงเมื่อเงินง่ายหายไป เสมือนเรือที่ลอยอยู่ในน้ำ เมื่อน้ำลด เรือย่อมลดระดับลงตาม