วิกฤตเศรษฐกิจ รวบรวมทุกวิกฤตการณ์ของ “ตลาดหุ้นไทย”
วิกฤตการณ์ของตลาดหุ้นไทย
วันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2518 ตลาดหลักทรัพย์แห่ง ประเทศไทย (ชื่อภาษาอังกฤษในขณะนั้นคือ The Securities Exchange of Thailand) ได้เปิดทำการซื้อขายขึ้นอย่างเป็น ทางการครั้งแรกและได้ทำการเปลี่ยนชื่อภาษาอังกฤษเป็น “The Stock Exchange of Thailand” (SET) เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2534
ปี 2522-กลางปี 2525 วิกฤตเศรษฐกิจ/วิกฤติราคาน้ำมัน
ในช่วงต้นปี 2522 ได้เกิดวิกฤตการณ์ราคาน้ำมัน ส่งผลให้เกิดอัตราเงินเฟ้อภายในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากกลุ่มโอเปคได้ขึ้นราคาน้ำมันถึง 30%
นอกจากนี้ยังมีปัญหาการขาดดุล บัญชีเดินสะพัดในระดับสูงมาก ภาวะเงินตึงตัวทวีความรุนแรงการลงทุนภาคเอกชนซบเซาอย่างหนัก การขาดดุลการค้ายังเป็นผลให้ เงินทุนสำรองระหว่างประเทศร่อยหรอลงจนถึงระดับวิกฤติ ในที่สุดรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ต้องตัดสินใจลดค่าเงินบาทลง 9% เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2524
ในช่วงต้นปี 2522 ยังได้เกิดวิกฤตการณ์ “ราชาเงินทุน” ที่สร้างความตื่นตระหนกให้กับนักลงทุน วิกฤติที่รุมเร้าทั้งภายในและภายนอกทำให้ตลาดหุ้นซบเซายาวนานถึง 4 ปี ปริมาณการซื้อขายหุ้นทั้งปีหดหายไปอย่างรวดเร็วจาก 22,533 ล้านบาท ในปี 2522 เหลือเพียง 2,898 ล้านบาท ในปี 2524 นักเล่นหุ้นทุกคนอยู่ในอาการที่สิ้นหวัง
ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ตกต่ำจากระดับ 259.82 จุด เมื่อต้นปี 2522 เหลือ 149.40 จุด ณ ปลายปี ในปี 2523 ดัชนียังคงตกต่ำต่อเนื่องปิดที่ 124.67 จุด และลดลงเหลือ 106.62 จุดเมื่อปลายปี 2524 คิดเป็นการปรับตัวลงเกือบ 60%
ปี 2526-2528 วิกฤติทรัสต์ล้ม/ลดค่าเงินบาท
หลังวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ ข่าวสถาบันการเงินมีฐานะง่อนแง่นก็เกิดขึ้นมาตลอด เริ่มจากข่าวการสั่งถอนใบอนุญาตราชาเงินทุนเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2522 หลังจากนั้นตลาดหุ้นก็ไม่ว่างเว้นจากข่าวการสั่งปิดทรัสต์ แชร์ล้ม แบงก์มีฐานะการเงินอ่อนแอ
รวมแล้ววิกฤตการณ์ของบริษัทเงินทุน และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ ทำให้บริษัทต่างๆ ถูกถอนใบอนุญาตในช่วงปี 2526-2528 มากถึง 20 บริษัท
และในเดือนพฤศจิกายน 2527 ได้มีการประกาศลดค่าเงินบาทลงอีก 17.3%
ตลาดหุ้นไทยในช่วงปี 2526-2528 ทรงตัวยาวนานถึง 3 ปีเต็มๆ ดัชนีในปี 2526 ปิดที่ 134.47 จุด มีปริมาณการซื้อขายทั้งปี 9,323 ล้านบาท ในปี 2527 ดัชนีปิดที่ระดับ 142.29 จุด วอลุ่มการซื้อขายทั้งปีกระเตื้องขึ้นเป็น 10,595 ล้านบาท และในปี 2528 ดัชนีปิดที่ 134.95 จุด มีวอลุ่มทั้งปี 15,333 ล้านบาท
ปี 2530 เหตุการณ์”Black Monday”
วิกฤตการณ์ที่ร้ายแรงที่สุดของตลาดหุ้นไทยอีกครั้งหนึ่ง ก็คือ เหตุการณ์ “วันจันทร์ทมิฬ” (Black Monday) วันที่ 19 ตุลาคม 2530 ส่งผลให้ตลาดหุ้นในตลาดสำคัญๆ ของโลกปรับตัวลดลงอย่างรุนแรง และรวดเร็ว
วิกฤตการณ์ครั้งนี้มีจุดกำเนิดที่ตลาดหุ้นของสหรัฐอเมริกาดิ่งลงมากที่สุดใน ประวัติศาสตร์ 508.32 จุด หรือคิดเป็น 22.60% มาปิดตลาดที่ระดับ 1,738.74 จุด
เพียงวันเดียว ความมั่งคั่งของคนอเมริกันหายไปประมาณ 5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับตลาดหุ้นไทยในวันนั้น ดัชนีปรับตัวลดลง 36.64 จุด หรือ 8% จากระดับ 459.01 จุด ในวันที่ 19 ต.ค.2530 มาปิดต่ำสุดที่ 243.97 จุด ในวันที่ 11 ธ.ค. 2530
ตลาดหุ้นไทยซบเซาอยู่ประมาณ 2 เดือน ปรับตัวลดลงประมาณ 46% ก่อนที่จะฟื้นตัวเข้าสู่ภาวะปกติ เพราะมีการจัดตั้งกองทุนร่วมพัฒนา (อายุโครงการ 6 ปี) มูลค่า 1,000 ล้านบาท เริ่มเข้ามาซื้อหุ้นเมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2530(1987)
ปี 2533 สงครามอ่าวเปอร์เซีย
เมื่อตลาดหุ้นไทยกลับมาบูมในปี 2531-2532 ในปีถัดมา 2533 ได้มีเหตุการณ์สำคัญที่ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นอย่างมาก คือเหตุการณ์อิรักบุกเข้ายึดครองคูเวต เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2533 ซึ่งก่อให้เกิดสงครามอ่าวเปอร์เซียอย่างเต็มรูปแบบ
ก่อนหน้านั้น ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นไปซื้อขายสูงสุดที่ระดับ 1,143.75 จุดเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2533 แต่เพียง 3 สัปดาห์ ดัชนีดิ่งลงมากถึง 39% ต่ำสุดที่ระดับ 695.81 จุดก่อนที่จะกระเตื้องดีขึ้นในช่วงปลายเดือนสิงหาคม
ตลาดหุ้นไทยต้องตกอยู่ในพะวังและความไม่ชัดเจนของสงครามถึง 3 เดือนเต็ม กว่าที่ดัชนีจะทำจุดต่ำสุดที่ระดับ 544.30 จุดเมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2533 คิดเป็นการปรับตัวลดลงของดัชนีทั้งสิ้น 598 จุด หรือ 52% (จุดสูงสุด-จุดต่ำสุด)
ปี 2535 เหตุการณ์”พฤษภาทมิฬ”
เหตุการณ์พฤษภาทมิฬเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 17-19 พฤษภาคม 2535 เป็นอีกเหตุการณ์หนึ่งที่ตลาดหุ้นไทยต้องสะดุดตัวเองอย่างแรง เหตุการณ์นี้สืบต่อมาจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 รสช.เข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ตลาดหุ้นตกไปทันที 40.63 จุด และวันถัดมาตกลงอีก 57.40 จุด
จนกระทั่งเดือนพฤษภาคม 2535 ก็เกิดเหตุความไม่สงบขึ้น ครั้งนี้เกิดเหตุการณ์เสียเลือดเสียเนื้อของประชาชนจำนวนมาก ตลาดหุ้นตอบรับทางลบอย่างรุนแรง ดัชนีตกลงทันที 65 จุดเหลือเพียง 667.84 จุด ก่อนจะดีดกลับ 61 จุดในวันที่ 21 พ.ค. 2535
หลังเหตุการณ์ความไม่สงบตลาดหุ้นก็ตกอยู่ในภาวะซบเซาอย่างหนัก วอลุ่มเฉลี่ยต่อวันลดลงจาก 7,337 ล้านบาท ในไตรมาสแรกเหลือเพียง 4,871 ล้านบาท ในไตรมาสที่ 2
เมื่อเหตุการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติในเดือนกันยายน 2535 ในช่วงนี้เองก็ปรากฏชื่อของ “เสี่ยสอง” หรือนายสอง วัชรศรีโรจน์ เข้ามาทำเงินจากวิกฤตการณ์ตลาดหุ้น และตลาดกลับมาคึกคักจนลืมอดีตเหตุการณ์นองเลือดลงอย่างสิ้นเชิง
ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2535 คณะกรรมการ ก.ล.ต. มีมติให้ดำเนินการกล่าวโทษเสี่ยสอง กับพวกในข้อหาปั่นหุ้นธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ หรือบีบีซี ทันทีที่ตลาดหุ้นเริ่มมีอาการซวนเซ ในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2535 กระทรวงการคลังก็ประกาศจัดตั้งกองทุน 5,000 ล้านบาท โดยใช้เงินจากธนาคารกรุงไทยเข้ามาพยุงหุ้น และยังขอความร่วมมือจากโบรกเกอร์ 40 รายลงขันจัดตั้งกองทุนพยุงหุ้นอีก 10,000 ล้านบาท เข้ามาซื้อหุ้น
ปี 2540 ประกาศลอยตัวค่าเงินบาท
ก่อนที่จะประกาศลอยตัวค่าเงินบาทเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 ตลาดหุ้นตกต่ำอย่างไม่โงหัวขึ้นเลย เป็นการตีตั๋ว “ขาลง” ขาเดียว มาตั้งแต่เดือนมกราคม 2539 จากระดับ 1,410.33 จุด ดิ่งลงมาตลอดต่ำสุดที่ระดับ 457.97 จุด ในเดือนมิถุนายน 2540 ลดลง 953 จุด หรือ 67% ภายในระยะเวลา 17 เดือน
นับเป็นช่วงที่เลวร้ายที่สุดของตลาดหุ้นไทย เพราะเป็นการตกต่ำที่หนักหน่วงยาวนาน ต่างจากวิกฤตการณ์ทุกครั้งที่ตกต่ำเพียงไม่กี่เดือนก็มักจะฟื้นตัว และเป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติ ศาสตร์เศรษฐกิจของไทย
เริ่มจากปัญหาหนี้เสียในระบบสถาบันการเงิน จนผู้ฝากเงินและเจ้าหนี้ขาดความเชื่อมั่น ค่าเงินบาทถูกโจมตีอย่างหนัก แบงก์ชาติสู้จนเงินหมดหน้าตัก ในวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 จึงตัดสินใจปล่อยให้ค่าเงินบาทลอยตัวแบบ Managed Float รวมทั้งต้องประกาศปิดสถาบันการเงิน 56 แห่งอย่างถาวร
ตลาดหุ้นตกต่ำเป็นประวัติการณ์ ดัชนีดิ่งลงไปสู่จุดต่ำสุดที่ระดับ 207 จุดในเดือนกัยยายน 2541 เป็นช่วงขาลงยาวนานที่สุดถึง 33 เดือน นับแต่ต้นปี 2539 ดัชนีปรับตัวลดลง 1,203 จุด คิดการปรับตัวลดลง 85% มูลค่าตลาดรวม (Market Capitalization) ลดลงจาก 3,969,804 ล้านบาท ลดลงเหลือเพียง 759,451 ล้านบาท
ความมั่งคั่งของคนไทยหายวับไปต่อหน้าต่อตา 3,210,353 ล้านบาท
ปี 2544 เหตุการณ์วินาศกรรมสหรัฐ
เหตุการณ์บึ้มสหรัฐครั้งนั้น สร้างความเสียหายค่อนข้างมาก แม้ว่าเหตุการณ์ผู้ก่อการร้ายจี้เครื่องบินพุ่งชนตึกเวิลด์เทรด จะเกิดขึ้นที่สหรัฐอเมริกา แต่วิถีความเสียหายกลับแผ่ไปทั่ว มาร์เก็ตแค็ปของตลาดหุ้นไทย 6 วันทำการ (11-20 ก.ย.2544) สูญไปแล้วกว่า 2.51 แสนล้านบาท เป็นความเสียหายชนิดเฉียบพลันอย่างที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน
ก่อนเกิดโศกนาฏกรรมในสหรัฐตลาดหุ้นไทยปิดที่ระดับ 330 จุด มีมูลค่าตลาดรวม (มาร์เก็ตแค็ป) อยู่ที่ 1.607 ล้านล้านบาท หลังเกิดเหตุการณ์ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงมาปิดที่ระดับ 266 จุด คิดเป็นการปรับตัวลดลงประมาณ 19% ตลาดหุ้นซึมอยู่นานกว่า 2 เดือน ก่อนจะดีดตัวกลับ และเป็นขาขึ้นครั้งใหญ่
ปี 2549 มาตรการแบ็งค์ชาติ 108 จุด
เป็นเหตุการณ์แบ็งค์ชาติออกมาตรการสะกัดกั้นเงินบาทแข็ง เป็นผลจากความกังวลที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ประกาศใช้มาตรการสำรอง 30% สำหรับการนำเข้า เงินทุนระยะสั้น
การประกาศออกมาในเย็นวันที่ 18 ธค 2549 หลังตลาดหุ้นปิดแบ็งค์ชาติประกาศออกมาตรการ 30% หุ้นปิด ลบ 5.74 จุด
จากนั้นเช้าวันที่ 19 ธค 2549 ตลาดเปิดหุ้นดิ่งทันที ลบกว่า100จุด ก่อนจะหยุดพักการซื้อขาย 30 นาที และทำการซื้อขายต่อราวเที่ยงกว่าๆ ตลาดปิดภาคเช้า ลบ 83 จุด
ในภาคบ่ายตลาดรูดลงไปมากสุดถึง -142.63 จุด และปิดตลาดที่ระดับ 622.14 ลดลง 108.41 จุด หรือ 14.84%
ซึ่งดัชนีปิดต่ำสุดในรอบกว่า 2 ปี นับจากระดับ 621.57 เมื่อ 28 ต.ค.47 ซึ่งเป็นผลกระทบจากมาตรการสกัดเก็งกำไรค่าเงินบาทของธนาคารแห่งประเทศไทย ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติเทขายหุ้นออกมามาก โดยต้องหยุดพักซื้อขายชั่วคราว 30 นาทีระหว่าง 11.29-11.59 น. เนื่องจากดัชนีปรับลงถึงระดับ 10%
ณ. วันนั้นวันเดียวเงินในตลาดหุ้นลดลงกว่า 5แสนล้านบาท
ปี 2551 วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์
วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์รุนแรงใกล้ตัวและลามมาเร็วกว่าที่คาดกันไว้มาก จากโลกซีกอเมริกาลุกลามไปสู่ยุโรป เข้าถึงเอเชีย และวิ่งต่อไปยังตะวันออกกลาง เรียกว่าวินาทีนี้ทุกส่วนของโลกโดนพิษวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์กันถ้วนหน้า ความเชื่อมโยงถึงกันเหมือนดังปัญหาที่เกิดขึ้นกับตลาดเงินและกระทบถึงตลาด ทุน ซึ่งในวันนั้รเข้าขั้นวิกฤติหนักไม่แพ้การล้มละลายของสถาบันการเงินหลายแห่ง ในต่างชาติ อันมีต้นเหตุจากปัญหาซัพไพร์ม
ความจริงนักลงทุนต่างชาติจับสัญญาณได้ถึงปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้น ทำให้ตั้งแต่ต้นปี 2551 ต่างชาติเริ่มเทขายหุ้นในภูมิภาคเอเชียทิ้ง เพื่อนำเงินกลับไปพยุงบริษัทแม่ที่ใกล้ล้มละลาย บางส่วนก็นำไปเติมสภาพคล่องกรณีที่เกิดการไถ่ถอนหน่วยลงทุนก่อนกำหนด เพราะความวิตกกังวลในปัญหา เรียกได้ว่าทำทุกวิธีทางเพื่อความอยู่รอด แต่ในท้ายแล้วการเทขายหุ้นออกไปก็ยังไม่สามารถรั้งชีวิตบางบริษัทได้จนต้อ ปล่อยให้ล้มละลายไป
ความแรงของการเทขายยังมีอย่างต่อเนื่องเพราะความวิตกจากนักลงทุน โดยเมื่อวันที่ 27 ต.ค. 51 ตลาดหลักทรัพย์หยุดทำการซื้อขายหลักทรัพย์เป็นการชั่วคราวเนื่องด้วยดัชนี ราคาหลักทรัพย์ปรับตัวลดลงจากดัชนีราคาปิดวันทำการก่อนหน้า 43.29 จุด คิดเป็น 10.00% อาศัยอำนาจตามความในข้อ 15 ของข้อบังคับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เรื่อง การซื้อขาย การชำระราคาและการส่งมอบหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2542 ซึ่งกำหนดให้หยุดทำการซื้อขายหลักทรัพย์
การปรับตัวลงของตลาดหุ้นไทยดังกล่าว ส่งผลให้ตลาดหลักทรัพย์ต้องประกาศใช้เซอร์กิต เบรกเกอร์ เพื่อพักการซื้อขายหุ้นชั่วคราวในช่วงเดือนต.ค.ปีนั้นถึง 2 ครั้ง หลังดัชนีหุ้นไทยร่วงลงแรง 10% ในวันเดียว
ปี 2551 เป็นปีที่มีข่าวหนาหู และปรากฏเป็นจริงที่สถาบันการเงินในสหรัฐอเมริกาล้มระเนระนาด ต้องเพิ่มทุน ถูกเทกโอเวอร์ และล้มละลาย จนมาถึง “เลแมน บราเดอร์ส” และ “เอไอจี”
ตลาดหุ้นของไทยได้ซึมซับรับพิษไปอย่างเบ็ดเสร็จมาแตะในระดับต่ำสุด 380.05 จุด ในวันที่ 26 เดือนพฤศจิกายน ทั้งที่ในต้นปีเดียวกันนั้น ณ วันที่ 2 มกราคม 2008 ดัชนีตลาดหุ้นปิดที่ 842.97 จุด เป็นดัชนีที่ลดลงต่ำพอๆ กับปี 2532และเป็นดัชนีที่ใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540
ที่มา stock2morrow