วันพุธที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566

หลักคิด 37

 จริงๆแล้วในการลงทุนนั้นนักลงทุนต้องการหุ้นหลักสำหรับพอร์ตเพียงตัวเดียวเท่านั้น ที่เลือกถูกตัว ที่คุณภาพดี มันสามารถทำให้พอร์ตเติบโตพุ่งทะยานได้นานหลายปี ไม่ได้ต้องการหุ้นจำนวนมากมายเลย


แต่ที่จำเป็นต้องมีการซื้อหุ้น เข้าพอร์ตเพิ่ม 5-10 ตัว เกิดจากความไม่มั่นใจในการคัดเลือกหุ้น หรือแม้แต่มั่นใจแล้วแต่ก็ไม่รู้ว่าจะเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันในอนาคตหรือไม่ ทำให้ต้องมีการกระจายความเสี่ยงในการซื้อหุ้นออกไปบ้าง


แต่อย่าลืมหัวใจหลักคือต้องการหุ้นที่โดดเด่นสุดสุดเพียงตัวเดียวและถืออย่างมีนัยยะ  มีน้ำหนักต่อพอร์ตให้มากที่สุด


*****

เคยลงทุนในบริษัทประกัน ทำให้รู้คีย์พอยท์สำคัญในการทำธุรกิจ ทำให้เรารู้ว่า บ.ประกันสร้างรายได้จากเบี้ยประกันที่รับมาอย่างไร แน่นอนทำให้รู้ช่วงผลตอบแทนที่ บ.หาได้ ซึ่งต้องมาหักด้วยคชจ ต่างๆ และค่าใช้จ่ายที่สำคัญก็คือเงินเคลมประกันของผู้เอาประกันภัย 


มันหมายความว่าผลตอบแทนตามสัญญาที่จะให้กับผู้เอาประกันภัยนั้นจะต้องไม่มากไปกว่าผลตอบแทนที่บริษัทหาได้จากเบี้ยประกัน  ไม่งั้นแผนประกันนั้นจะเป็นแผนที่ขาดทุน 


ซึ่งนั่นก็บอกเป็นนัยยะว่าผู้ซื้อประกันโดยรวมแล้วจะได้ผลตอบแทนค่าเฉลี่ยไม่เกินเท่าไหร่  


ซึ่งผลตอบแทนที่บริษัทประกันหาได้จากเบี้ยประกันมักจะไม่ได้สูงมาก เพราะ ต้องนำไปลงทุนในพันธบัตรต่างๆตามกฎเกณฑ์ และส่วนที่เหลือก็ต้องนำไปลงทุนในสิ่งที่มีความมั่นคงค่อนข้างสูงซึ่งแน่นอนว่าผลตอบแทนก็จะต่ำลง 


สรุปง่ายๆคือ ผลตอบแทน “จากเบี้ยประกัน” ก่อนหัก คชจ ต่างๆที่ บริษัทหาได้มักอยู่ในช่วง 5-6% ไม่เกินนี้ และค่าใช้จ่ายการเคลมเฉลี่ยของภาพรวมมักอยู่ในช่วง 35-45% 


ดังนั้นผลตอบแทนตลอดอายุสัญญาของภาพรวมเฉลี่ย ของคนซื้อประกัน จะอยู่ประมาณ 2.2% ต่อปี บวกลบกว่านี้ไม่มาก 


แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่ควรซื้อประกันเลย เพราะการซื้อประกันเปรียบเสมือนมีเงินก้อนมาสำรองยามเจ็บป่วย แต่ด้วยเหตุผลที่ผลตอบแทนที่ต่ำมากจึงไม่ควรซื้อมากเกินไป


และในคนที่คิดว่า เงินสำรองมากเพียงพอในยามเจ็บป่วย ก็อาจประกันตัวเอง โดยไม่ซื้อประกันได้ 


คำว่าเงินสำรองเพียงพอนั้นหมายถึงต้องเป็นเงินก้อนที่มากพอสมควร  ซึ่งหากเป็นนักลงทุนที่ชาญฉลาดก็จะไม่เก็บเงินเงินก้อนใหญ่ขนาดนั้นเอาไว้โดยไม่ลงทุน และเมื่อนำไปลงทุนก็ทำให้มีเงินก้อนสำรองไม่เพียงพอ จึงทำให้การซื้อประกันเป็นสิ่งจำเป็นอยู่ดี 


แค่ซื้อให้เหมาะสมและอย่ามากเกินไปเท่านั้นเอง


ตัวเลขที่คำนวนเป็นตัวเลขจากประสบการณ์ส่วนตัวที่พบเจอมาเท่านั้น ในแต่ละบริษัทอาจมีความแตกต่างคลาดเคลื่อนจากนี้ได้


@@@@@


บริษัทที่แต่งงบการเงินและไซฟ่อนเงินของบริษัทออกไป มักจะแสดงในงบกำไรขาดทุนว่ามีกำไรดูดีอยู่ (เพราะมันเป็นการแต่งงบบัญชีให้ดูดี) 


แต่เวลาเก็บเงินจริงจะมีปัญหาเก็บไม่ได้หรือเงินหายไปจากบริษัทจากการใช้จ่ายบางอย่าง 


ดังนั้นจุดสังเกต  ดูว่ามีลูกหนี้โป่งพองหรือไม่ ลูกหนี้เพิ่มขึ้นสะสมอย่างมีนัยยะ และค้างชำระมากขึ้นนานขึ้น


วงจรเงินสดยาวนานขึ้นผิดปกติ


มีค่าใช้จ่ายที่เป็นก้อนผิดปกติ  และสุดท้ายบันทึกขาดทุนจากค่าใช้จ่ายก้อนนั้น 


เช่น ไปวางมัดจำซื้อสินค้า โดยวางมัดจำเป็นจำนวนมาก  แล้วยกเลิกโดนยึดมัดจำ (จริงๆแล้วอาจจะเป็นการไซฟ่อนเงินออกจากบริษัทก็ได้) 


ส่วนการดูกระแสเงินสดจากการดำเนินงานนั้นหากจะดูว่าแค่เป็นบวกหรือติดลบแล้วตัดสินเลยทันทีนั้นอาจจะผิดพลาดได้  


เพราะบริษัทที่มีการลงทุนใหม่เพิ่มเติมเป็นจำนวนมากเพื่อความก้าวหน้าในอนาคตของบริษัทอย่างจริงจัง ก็อาจจะมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่ติดลบได้เป็นเรื่องปกติ


@@@@@


หลายคนอาจไม่ทราบ


งบกำไรขาดทุน จะแสดงเป็น “ช่วงเวลา” เช่น งบไตรมาส จะแสดง รายได้รวมของรอบบัญชี 3 เดือนหรือ งบ 9 เดือนจะแสดง รายได้รวมตลอด 9 เดือนที่ผ่านมา


แต่ งบดุล จะแสดงฐานะการเงิน ณ เวลาตามงบเท่านั้น  เช่น งบดุล ณ สิ้นสุดไตรมาส 2 จะแสดงทรัพย์สิน ณ 30 มิถุนายน (ยกเว้นจะกำหนดให้การสิ้นสุดไตรมาสสองเป็นเวลาอื่น)

คือ เป็นการแสดงฐานะ ณ “จุดของเวลา” ไม่ใช่ช่วงเวลา 


ในขณะที่งบกระแสเงินสด จะแสดงการเปลี่ยนแปลงของกระแสเงินสดเข้าออกกิจการตั้งแต่ จุดเริ่มต้นของงบปีถึงสิ้นสุดไตรมาสที่งบออก เช่น ถ้าเป็น “งบของไตรมาสาม”  ค่าเสื่อมจะเป็นตัวเลขรวมยอดค่าเสื่อม ตั้งแต่ 1 มค ถึง 30 กย (คือ ไม่ได้แสดงเป็นรายไตรมาสเหมือนงบกำไรขาดทุน)


@@@@@@@@@


Player ในตลาดหุ้น ส่วนมากรู้ข้อมูลแทบทุกอย่าง ไม่ว่า บริษัทมียอดขายเท่าไร กำไรเท่าไร พีอีเท่าไร ปันผลเท่าไร ใครคือผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัททำธุรกิจอะไร ราคาหุ้นปัจจุบันเป็นเท่าไร 


แต่สิ่งเดียวที่เขาไม่รู้คือ ตัวเองต้องการผลตอบแทนขั้นต่ำจากการดำเนินธุรกิจของบริษัทเท่าไร


@@@@@@@@@


บริษัทขายสินค้าอุปโภคบริโภคอย่างแม็คโคร โอกาสในการเติบโตต่อปีในภาวะปกติในสายตาเรามองว่า โดยเฉลี่ยไม่น่าจะเกินปีละ 8% ได้


ต่อให้เป็นบริษัทที่มั่นคงขนาดไหนก็ตาม ถ้าการเติบโตในระดับนี้ค่าพีอีในสายตาเราเต็มที่ก็ไม่ควรเกิน 18 เท่า  


(ถ้าการเติบโตขนาดนี้ แล้วจะเล่นพีอีสูงกว่านี้ หาหุ้นตัวอื่นลงทุนจะดีกว่าไหม)


ราคาหุ้นเมื่อวานนี้ 25.50 บาทถ้าที่ พีอี 18 เท่า หมายถึงต้องการกำไรต่อหุ้นที่ประมาณ 1.41 บาท (เก้าเดือนแรกของปีนี้กำไรต่อหุ้นอยู่ที่ 0.51 บาท) 


เราเลยไม่ได้สนใจหุ้นตัวนี้


ส่วนบทวิเคราะห์ที่เชียร์ให้คุณไปเล่นที่พีอี 30 เท่า 35 เท่าหรือแม้แต่ 40 เท่า เขามีสิทธิ์เชียร์ 


และคุณก็มีสิทธิ์ลงทุนเพราะนั่นมันเงินของคุณ แต่จำไว้อย่างเวลาขาดทุน คนเชียร์ไม่ได้มาขาดทุนกับคุณด้วย

@@@@@@@@


- ความต้องการที่จะซื้อหลักทรัพย์ต่างๆหดหาย 

- ราคาทรัพย์สินส่วนใหญ่ต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง

- มีการผิดนัดชำระหนี้มากขึ้น

-สถาบันการเงินมีความเข้มงวดในการปล่อยกู้

- คนส่วนใหญ่ในตลาดมองในแง่ร้าย

-เศรษฐกิจชะลอตัวตัวเลขเศรษฐกิจรายงานแย่ลง

- ตลาดหุ้นดำดิ่ง

- นักลงทุนรู้สึกหดหู่

- มีแต่ความกลัวเข้าครอบงำตลาดหุ้น

- Seller มีจำนวนมากกว่า Buyer

- ราคาหุ้นทำจุดต่ำสุดใหม่อยู่เรื่อยเรื่อย

- คนที่ขายไปก่อนหน้า รู้สึกว่าตัวเองคิดถูก


นี่คือช่วงเวลาแห่งโอกาส

**********


หุ้นดีๆตัวเดียวกัน บางคนซื้อ แล้วมีกำไรมากมาย ในขณะที่บางคนซื้อแล้วขาดทุนมหาศาล สิ่งเดียวที่แตกต่าง คือ  “ราคาที่ซื้อ”

ราคาซื้อเป็นตัวกำหนด การทำกำไร หรือ การขาดทุนของคุณ

ถ้าคุณซื้อหุ้นตามเสียงเชียร์ โดยที่ไม่รู้มูลค่า คุณก็เตรียมตัวขาดทุนได้เลย

*******

ตลาดหมีที่ยืดเยื้อ มันจะยืดเยื้อจนกว่า ผู้มีส่วนร่วมส่วนใหญ่จะเบื่อหน่าย ยอมแพ้และถอยออกจากตลาด


ยิ่งผู้มีส่วนร่วมมีความอดทนสูงมากขึ้นเท่าไหร่ ตลาดหมีก็จะยิ่งยืดเยื้อยาวนานและรุนแรงมากขึ้นเท่านั้น

*******

สิ่งที่มือใหม่คาดหวังก็คือ ถ้ารู้หลักการลงทุนแล้วจะสามารถทำกำไรได้ทันที


สิ่งที่มือใหม่ไม่รู้ก็คือ ถ้าทำตามหลักการลงทุนที่ถูกต้องแล้วก็ยังสามารถขาดทุนได้เป็นปีๆ


@@@@@@@@@


ข้อดีของการลงทุนระยะยาว (ที่ไม่ใช่การเล่นรอบ ไม่ใช่การเก็งกำไรรายไตรมาส)


- ไม่ต้องแข่งขันกับ Trader ทั้งหลาย ไม่ว่าจะ Day trade , Scalping trade , Momentum trade หรือแม้แต่ Inside trader


- ไม่ต้องแข่งขันกับ Program trading , Algorithms trade , Bot ต่างๆ


แต่การลงทุนระยะยาวคุณต้องมีสายตาแหลมคมพอที่จะมองทะลุ โมเดลการทำธุรกิจ , นิสัย ผบห , งบการเงิน ปรเเมินมูลค่าของบริษัทเป็น รวมถึงต้องมีจิตใจที่มั่นคงในการลงทุนเพียงพอ


@@@@@@@


เวลาเห็นขาใหญ่โพสอวดว่าเข้าหุ้นตัวไหน อย่าลืมคิดว่าเป็นกี่ % ของพอร์ต 


ขาใหญ่เค้าจะจำกัดความเสี่ยงหุ้นบางตัวไม่ได้ชัวร์มากนักเค้าซื้อเข้าไป 8 หลัก อาจเป็นแค่ 1% ของพอร์ต 


รายย่อยไม่รู้เรื่องซื้อตามอัดเข้าไป 50% ของพอร์ต  


เวลาหมดรอบ  ความพังไม่เท่ากันนะครับ 


รายย่อยเทออกหมดพอร์ตราคาหุ้นก็ไม่พัง  แต่ถ้าขาใหญ่ออกทีเดียว ราคาหุ้นก็พัง 


จะเห็นได้ว่าคนกำหนดราคาหุ้นไม่ใช่รายย่อยแน่นอน  


แต่ความพังรายย่อยรับไปเต็มเต็มแน่นอน และเวลาพังแล้ว อย่าไปโทษขาใหญ่นะครับ เพราะเขาไม่ได้บังคับให้คุณซื้อตาม 


คุณเลือกที่จะตามเอง ต้องรับผิดชอบตัวเอง

@@@@@@


นักลงทุนไม่น้อย ลงเข้าใจผิด คิดว่าหุ้นวัฏจักร เป็นหุ้นที่สามารถลงทุนระยะยาวได้ โดยมักจะเข้าใจผิดในช่วงที่บริษัททำกำไรได้สูงที่สุด ซึ่งเป็นช่วงที่ราคาหุ้นก็จะสูงที่สุดด้วย แล้วทำการสะสมหุ้นวัธจักรเพื่อที่จะถือยาว 


มันคือการหลงผิดบนช่วงที่ดีของหุ้นวัฏจักรว่าเป็นหุ้นเติบโต


บางครั้งเรารู้เราเห็น ว่ามีคนกำลังสะสม เราเตือนตรงตรงไม่ได้ พูดมากไปก็จะโดนคนเกลียดเอาซะเปล่าเปล่า  เราได้แต่พยามเตือนทางอ้อม 


ว่าให้ระวังอย่าสะสมหุ้นวัฏจักรในช่วงที่ธุรกิจกำลังไปได้ด้วยดีโดยหลงคิดว่าเป็นหุ้นเติบโต 


แต่เหมือนคำเตือนจะไม่เป็นที่เข้าใจ  


แต่ไม่เป็นไรสุดท้ายก็คงจะเอาตัวรอดได้  และก็จะเป็นคนเก่งที่มีประสบการณ์มากขึ้น อาจจะเสียเวลามากอีกหน่อยในการเรียนรู้เท่านั้นเอง



@@@@@@@@

กราฟเป็นเครื่องมือหนึ่งที่มีประโยชน์ในการวิเคราะห์หุ้น แต่ไม่ใช่เครื่องมือเดียวหรือเครื่องมือที่ดีที่สุด 

งบการเงินเป็นข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญที่สุดที่นักลงทุนควรศึกษาก่อนตัดสินใจลงทุน 

เพราะงบการเงินจะบอกเราถึงสถานะทางการเงิน ผลการดำเนินงาน และแนวโน้มการเติบโตของบริษัท 

คนที่เก็งกำไรโดยอ้างว่าไม่เชื่องบการเงิน แต่เชื่อกราฟอย่างเดียว มีโอกาสสูงที่จะประสบความล้มเหลวในการลงทุน

@@@@@@@@@


สมมติ ซื้อหุ้นมาตัวนึง มีอัพไซด์ 15% ราคาหุ้นไหลลงตามภาวะตลาดไป -5% ถ้าพื้นฐานไม่ได้เปลี่ยนมูลค่าที่ประเมินได้เท่าเดิมราคาหุ้นก็จะมีอัพไซด์ จากราคาตลาด 20% 

สมมติ เจอหุ้นอีกตัวมีอัพไซด์ 25% แต่เงินไม่ว่างแล้ว

จะทำอย่างไร 
- ขายตัวเดิมที่มีไซด์ 20% เพื่อมาซื้อตัวใหม่ที่มีอัพไซด์ 25% 

- ไม่ขายตัวเดิมเพราะยังขาดทุนอยู่ -5%  และไม่มีเงินซื้อหุ้นตัวใหม่  จึงนั่งรอเฉยๆ

คนไม่น้อยทำแบบหลัง เพราะไม่ยอมขาดทุน แต่มันคือวิธีการที่ถูกต้องจริงๆหรือ ที่จะให้การขาดทุนมาปิดกั้นโอกาสในการทำกำไรที่มากขึ้น ???

ต้นทุน เป็นกับดักทางจิตใจ ที่คนไม่น้อยยึดติดกับมันมากที่สุด 

ต้นทุน ที่จ่ายไปแล้วมันจบไปตั้งแต่จ่าย ไม่ควรนำมาเป็นอุปสรรคในการแสวงหาโอกาสการทำกำไรที่มากขึ้น

@@@@@@

ความอดทนนั้นหายาก

นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้มีคนเพียงไม่กี่คนเท่านั้น ที่ร่ำรวยผ่านตลาดหุ้นได้ 

ถึงแม้จะรู้แบบนึ้ แต่เชื่อเถอะว่านักลงทุนก็ยังคงหุนหันพลันแล่นและใจร้อนเหมือนเดิม