วันจันทร์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2566

หลักคิด 35

 ทำไมในทางเศรษฐกิจตัวเลขจีดีพีจึงเป็นสิ่งสำคัญ 


เพราะการที่จีดีพีเป็นบวกมากขึ้นจะหมายความว่ามีการบริโภคมากขึ้นทำให้มีความต้องการต่อสินค้าต่างๆมากขึ้นด้วยนั่นแปลว่ามีสินค้าที่ขายได้มากขึ้นและสามารถปรับเพิ่มราคาได้มากกว่าเดิมการที่สินค้าขายได้มากขึ้นอันหมายถึงคนมีงานทำมากขึ้นได้ค่าแรงเพิ่มขึ้นซึ่งก็จะย้อนกลับทำให้เกิดการบริโภคที่มากขึ้นอีกทอด


*****

ไม่มีของถูกในหุ้น IPO เพราะ การไอพีโอครั้งแรกจะเป็นการระดมนักบัญชีนักวิเคราะห์ IB มาประเมินราคาหุ้น รวมถึงเจ้าของเองเค้ารู้ว่ามูลค่าหุ้นของบริษัทอยู่ที่ประมาณไหน มีแต่จะขายให้ได้ราคากว่ามูลค่าที่แท้จริง


นักลงทุนรายย่อยไม่มีทางรู้ดีไปกว่าเจ้าของนักบัญชี นักวิเคราะห์ IB ที่ทำหุ้นเข้าตลาดอยู่แล้ว 


ส่วนที่ราคาไอพีโอมันขึ้นต่อไปได้มากๆนั้นมันเป็นเรื่องของการเก็งกำไร  ไม่ใช่เรื่องของการวิ่งไปหามูลค่า 


ดังนั้นถ้าหวังจะเก่งกำไรก็สามารถที่จะซื้อหุ้นไอพีโอได้โดยดูจากความชอบของตลาดโดยรวมว่าชอบบริษัทและอุตสาหกรรมเหล่านั้นไหม  


แต่หากจะซื้อของถูกจาก IPO เพื่อลงทุน  น่าจะหาไม่เจอในหุ้นไอพีโอ เปรียบเสมือนงมเข็มในมหาสมุทร


ส่วนบรรดาเหล่านักลงทุนที่เก่งเก่งที่เห็นว่าได้ไอพีโอนั้น ส่วนมากไปดูเบื้องหลัง มักจะได้มาตั้งแต่ก่อนราคาไอพีโอหรือได้มาในราคาที่มีส่วนลด  เอาเป็นว่าได้คนละราคากับรายย่อยเป็นส่วนมาก


*****

โดยปกติแล้วราคาหุ้นในพอร์ตมักจะโตไวกว่าเงินปันผลเพราะมันถูก Gearing ด้วยค่าพีอีหรือพีบี ในขณะที่เงินปันผลจ่ายออกมาตรงๆ แต่ก็นั่นแหละเงินปันผลที่จ่ายออกมา มันสร้างความ secured  รวมถึงสร้างโอกาสที่จะมีเงินสดไปเลือกลงทุนในโอกาสใหม่ใหม่ได้


*****

สำหรับบุคคลทั่วไป ที่ไม่ได้ศึกษาหุ้นรายตัวแบบจริงจัง ไม่ได้ติดตามกิจการแบบจริงจัง จะเพราะไม่มีเวลาศึกษาหรือไม่มีเวลาติดตามก็แล้วแต่ 


การซื้อกองทุนหักภาษีโดยเฉพาะกองทุน SSF , SSFX ควรคำนวนว่านอกจากหักภาษีได้แล้ว การโดนบังคับถือ 10 ปีนั้น คุ้มค่าหรือไม่


ลองมองว่าดัชนี SET ณ ปัจจุบันหากผ่านไปสิบปี มีโอกาสที่ดัชนีจะสูงกว่านี้หรือไม่


หากคิดว่ายังไงอีกสิบปีข้างหน้า SET ต้องสูงกว่านี้แน่นอน เหมาะแก่การซื้อกองทุนรวม ถือยาวๆ SSF , SSFX จะได้คือ ได้ลดภาษีและได้ทั้ง Cap Gain ถ้าเลือกกองทุนได้ถูกกอง


แต่สำหรับ คนที่ติดตามหุ้นรายตัวเอง คงค้องเปรียบเทียบ ว่าการซื้อกองทุน ให้กองทุนบริหารเงินให้ + ได้ลดหย่อนภาษี  ผลตอบแทนมากกว่าที่ตนเองบริหารเองหรือไม่ หากไม่ ก็ไม่ต้องซื้อ SSF, SSFX ก็ได้


เช่น หากโดนเรทภาษี ขั้นสูงสุดที่ 15% ก็เท่ากับว่าเงินที่ซื้อกองทุนเพื่อลดหย่อนภาษีได้ลดภาษี 15% บนระยะเวลาบังคับถือกองทุน 10 ปี เท่ากับได้ลดหย่อนภาษีเฉลี่ยปีละ 1.5%


แล้วนำ ปย ทางภาษีต่อปี มาบวกกับกำไรจาก nav  ที่กองทุนทำได้เฉลี่ยต่อปี  นั่นคือ ผล ปย ทั้งหมดที่ได้รับจากการซื้อ ssf, ssfx 


แล้วจึงนำมาเปรียบเทียบกับผลตอบแทนที่คาดว่าตนเองจะทำได้จากการซื้อหุ้นเอง


สมมติ ดัชนีประมาณ 1500 และอีกสิบปี ดัชนีไปที่แถว 2,000 จุด


เท่ากับเพิ่มมา 33% หรือเฉลี่ย 3.3% ต่อปี  (หากซื้อกองอิงดัชนี จะได้ผลตอบแทนประมาณเดียวกับดัชนี)


บวก ผล ปยทางภาษี (สมมติ effective tax rate 15% ) ก็เท่ากับได้ ปย ทางภาษีต่อปีที่ 1.5%


3.3%+1.5% = 4.8% ต่อปี เป็นเวลาสิบปี


หากเป็นไปตามตัวอย่าง แล้วมีทางเลือกอื่น เช่น นำไปค้าขาย ได้กำไรต่อปี มากกว่า 4.8%  เราก็ไม่มีความจำเป็นต้องซื้อ ssf, ssfx 


แต่หากไม่ได้นำเงินไปลงทุนอย่างอื่นเลย นอกจากฝากแบงค์  การซื้อ ssf, ssfx  เป็นทางเลือกที่ดี


สำหรับคนที่จำเป็นต้องซื้อ

หากต้องซื้อ ssf และไม่อยากลุ้นกับความสามารถของ ผู้จัดการกองทุนก็สามารถเลือก ซื้อเป็นกองทุนอิงดัชนีได้


การซื้อกองทุนลดหย่อนภาษี มีจุดอ่อนอย่างใหญ่หลวงอยู่จุดหนึ่งก็คือ หากไปเจอกองทุนที่มีผู้จัดการกองทุนบริหารไม่ดี


ผลตอบแทนอาจจะติดลบ แถมด้วยการเสียโอกาสในการสร้างผลตอบแทนไปอีก 10 ปีเลยทีเดียว


คือจะเสียหายทั้งฝั่งเงินทุนและเสียหายทั้งฝั่งโอกาสที่จะได้กำไร  เรียกว่า เสียหายสองเด้ง


*****


เวลาตลาดหุ้นปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผู้คนในตลาดจะ

- มีความโลภเพิ่มขึ้น

- มองโลกในแง่ดีมากขึ้น

- มีความมั่นใจสูงขึ้น

- กล้าแบกรับความเสี่ยงมากขึ้น

- มีความกระตือรือร้นที่จะรีบซื้อหุ้น


ในทางกลับกันหากเป็น ช่วงตลาดหมีที่ ดัชนีตลาดหุ้นไหลลงต่อเนื่อง ผู้คนจะ

- เริ่มกลัว

- ตกใจรีบขาย

- มองโลกในแง่ร้าย

- กลัวความเสี่ยง

- ขาดความมั่นใจ


*****


การลงทุน คือการเข้ารับความเสี่ยง แต่นักลงทุนที่ประสบความสำเร็จจะพยายามรับความเสี่ยงให้ต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับผลตอบแทนที่จะได้รับ


ส่วนผสมที่ลงตัวระหว่างการเข้ารับความเสี่ยง การถือความเสี่ยงต่ำที่สุดบนผลตอบแทนที่คุ้มค่า ทำให้เกิดความสำเร็จตามมา

******


ถ้าซื้อหุ้นปันผลในช่วงที่ราคาร่วงหนัก เช่น สมมติ ช่วงปกติบริษัทเคยจ่ายเงินเงินปันผลอยู่ที่ประมาณ 4.50 บาทถึง 5 บาท (Div payout 40%) และราคาหุ้นสมมติ 66บาท คิดเป็นปันผล 6.8% ถึง 7.5%


แต่ต่อมาเกิดวิกฤติ ผลประกอบการแย่ลง จ่ายเงินปันผลลดเหลือ สมมติ 2.75 บาท แต่ราคาหุ้นเหลือ 54 บาท คิดเป็นเงินปันผลประมาณ 5.1% 


สมมุติว่าบริษัทใช้เวลาสามปีในการฟื้นตัวกลับไปที่เดิมเพื่อที่จะจ่ายปันผลที่ 4 บาท  

สมมติ 

ปีที่ 1 ปันผล 3.00 บาท 

ปีที่ 2 ปันผล 3.50 บาท

ปีที่ 3 ปันผล 4.00 บาท


เท่ากับคิดเป็นอัตราปันผล 

5.55%  6.48% และ 7.4% ของราคา 54 บาท


หรือพูดง่ายๆคือ สามปีได้ปันผลรวม 19.43% เพื่อที่จะรอราคาหุ้นกลับสู่ระดับที่ควรจะเป็น 


ปันผล คือ MOS “ส่วนเพิ่ม” จากเดิมที่มี MOS จากราคาหุ้นที่ต่ำ


เช่น สมมติเดิมมี MOS 30% พอถือหุ้นไปอีก 3ปี ได้ MOS เพิ่มมาอีกประมาณ 20% กลายเป็น 50%


ทำให้มันเป็นการลงทุนที่เซฟมากๆนั่นเอง โอกาสแพ้ยาก 


แน่นอนว่า ความผันผวนชั่วคราวของตลาดในระยะสั้น อาจทำให้มีการขาดทุนชั่วคราวได้ แต่ในระยะยาวแล้วโอกาสจะแพ้นั้นยากเหลือเกิน


******


การจะสร้างแผนการลงทุนที่แพ้ยาก มันไม่ใช่แค่เลือกหุ้นอย่างเดียว  มันต้องลงรายละเอียดมากกว่านั้น


****


ถ้าคุณใช้หลักการลงทุนที่ไม่เข้ากับ mindset ของตัวเอง สุดท้ายคุณจะทนการขาดทุนไม่ได้ แม้ว่ามันจะเป็นเพียงการขาดทุนชั่งคราวก็ตาม และจุดที่คุณทนไม่ได้ มักจะเป็นจุดที่คุณขาดทุนหนักที่สุด


แต่ถ้าคุณเป็นเทรดเดอร์ แล้วใช้หลักการของเทรดเดอร์โดยที่ไม่มีวินัยเพียงพอ คุณจะเจอกับ whipsaw จนคุณเหนื่อยใจ กำไรเป็นกอบเป็นกำที่ได้มาไม่เคยรักษามันไว้ได้ หรือรักษามันไว้ได้น้อยเหลือเกิน

*****


เงินรางวัลล่อใจจำนวนมากๆ ดึงดูดคนโลภได้เสมอ 


ไม่ว่าจะเป็นลอตเตอรี่รางวัลที่หนึ่ง  หรือหุ้น 10 เด้งเด้ง 100 เด้งก็ตาม 


คนโลภจะวิ่งเข้าใส่โดยไม่เคยคิดเลยว่าโอกาสที่จะทำได้มีอัตราส่วนน้อยขนาดไหน

******


การเพิ่มทุนแบบ PP เป็นอะไรที่เราไม่ชอบมากที่สุด เพราะมีโอกาสโดนเอาเปรียบมากที่สุด 


การจะไม่โดนเอาเปรียบจากการเพิ่มทุน คือ ราคาเพิ่มทุนจะต้องใกล้เคียง หรือ มากกว่าราคาตลาด 


ลองคิดดูหากคนที่ซื้อหุ้นเพิ่มทุนสามารถซื้อได้ในราคาที่ต่ำกว่าตลาดมากๆ  เขาสามารถขายทำกำไรได้ทันที รายย่อยมีแต่เสียเปรียบ โดยเฉพาะการเพิ่มทุนแบบเจาะจง PP เท่ากับรายย่อยไม่มีสิทธิ์ในการซื้อหุ้นเพิ่มทุนนั้นเลย มีแต่เป็นเป้านิ่งให้เค้าชก  


แต่หากราคาเพิ่มทุนสูงกว่าราคาตลาด  แน่นอนว่าอันนี้รายย่อยไม่เสียเปรียบ แถมบริษัทยังได้เงินเข้ามาเป็นสินทรัพย์เพิ่มขึ้นมากด้วย ซึ่งการเพิ่มทุนที่ราคาจองซื้อสูงกว่าราคาตลาดนั้นมักจะเป็นลักษณะการออกวอแรนท์ เพราะบริษัทจะมีเวลาในการดำเนินกิจการให้ดียิ่งขึ้น เพื่อให้ ราคาหุ้นสูงขึ้น มากกว่าราคาแปลง ทำให้คนอยากแปลง วอร์แรนท์เป็นหุ้นสามัญ  ซึ่งวิธีนี้จะเห็นได้ว่าผู้บริหารจะมุ่งมั่นทำให้กิจการดีขึ้น ต่างจากวิธีแรก ที่รายย่อยโดนมัดมือชก

******


ไม่เคยเจอนักลงทุนเก่งๆคนไหน ที่อ่านน้อยเลย 


(หมายถึง การอ่านทุกอย่าง ทั้งหนังสือ ทั้งข่าวสาร ทั้งบทวิเคราะห์ต่างๆ รวมถึงข้อมูลต่างๆที่หาเพื่อคลายข้อสงสัย)

*******

ความสามารถในการสร้างอัตราผลตอบแทนที่ดีที่ดี จะเกิดขึ้นได้จากความรู้และประสบการณ์ ซึ่งเกิดจากการเรียนรู้ ของเหล่านี้ไม่มีใครรู้มาตั้งแต่เกิด


เงินต้นที่มี  แน่นอนว่าถ้าฐานะทางบ้านดีก็ช่วยส่งเสริมได้แต่ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งหลักๆแล้วอยู่ที่ความประหยัด เก็บออม นักลงทุนหลายคนฐานะทางบ้านไม่ดีมากๆ แต่มีความสามารถในการเก็บออมสูง ใช้จ่ายอย่างประหยัดทำให้เงินต้นเหลือสำหรับลงทุน และเมื่อบวกกับความสามารถในการลงทุนที่พยายามสะสมเพิ่มที่พยายามเรียนรู้เพิ่ม ทำให้หลายหลายคนกลายเป็นคนมีฐานะ 


ซึ่งความสามารถในการสร้างผลตอบแทนและ การสะสมเงินต้นมาลงทุนนั้นหากเริ่มได้เร็วเท่าไหร่ก็จะมีระยะเวลาในการลงทุนมากขึ้นเท่านั้น 


เมื่อรวมกันทั้งสามสิ่งจะส่งผลให้ประสบความสำเร็จได้อย่างแน่นอน


*******^^

หลักสำคัญในการลงทุนอย่างหนึ่งของเรา คือเวลาต้องอยู่ข้างเดียวเรา 


เราไม่ลงทุนในหลักการที่มีเวลาอยู่ฝั่งตรงข้ามกับเรา


******


ถ้ายังยึดติดกับราคาหุ้นมากกว่ามูลค่าและกระแสเงินสดที่บริษัทสร้างได้ เวลาเจอตลาดหมี คุณจะร้อนรน คุณจะไม่มีวันเพิกเฉยต่อข่าวร้ายได้


เปรียเสมือน ถ้าคุณเปิดร้านอาหารที่มีลูกค้าแน่น และร้านสร้างกระแสเงินสดให้คุณต่อเนื่อง  แล้วมีคนบ้ามาเสนอซื้อร้านในราคา 50% 


ถ้าคุณยึดติดกับราคา คุณจะหัวฟัดหัวเหวี่ยง ใจเสีย ที่มีคนมาเสนอราคาเพียง 50% 


แต่ถ้าคุณยึดคิดกับสิ่งที่ร้านมี เช่น ลูกค้าจำนวนมาก(มันคือส่วนสำคัญของมูลค่าของร้าน) กระแสเงินสดที่ร้านสร้างได้  คุณจะหัวเราะใส่คนที่มาเสนอราคา แล้วคุณจะเพิกเฉยมันไปได้อย่างง่ายดาย