วันศุกร์ที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565

หลักคิด 23

อย่าอิจฉากำไรของคนอื่นที่ลงทุนด้วยหลักการที่แตกต่างจากตนเอง ถ้าเลือกหลักการลงทุนนึง ก็ย่อมพลาดผลกำไรจากหลักการอื่น เป็นเรื่องปกติ  ยึดมั่นอยู่กับสิ่งที่ตนเองชำนาญ อย่าอิจฉาสนามหญ้าหน้าบ้านคนอื่น

*********

การคัดเลือกหุ้น โดยการหาเหตุปัจจัยที่ที่ทำให้บริษัทแข็งแกร่ง มั่นคง เติบโต จะทำให้มีโอกาสได้หุ้นที่เติบโต ที่ยอดเยี่ยม มากกว่า

หากคัดเลือกหุ้นที่เห็นปัจจัยอย่างที่ว่าแล้ว ในระยะยาว บริษัทที่เลือกมาย่อมมีอัตราที่จะประสบความสำเร็จได้สูงขึ้น 

เหตุปัจจัยที่ว่า เช่น ผู้บริหาร หนี้สินของบริษัท โมเดลธุรกิจ ธรรมาภิบาลที่เห็นแก่ประโยชน์ของผู้ถือหุ้นเป็นหลัก 

การคัดเลือกที่เหตุปัจจัยเหล่านี้ สามารถใช้การดูย้อนหลังประกอบการพิจารณาได้ 

เมื่อเลือกที่เหตุปัจจัยเหล่านี้แล้ว ตัวเร่งระยะสั้น แทบไม่มีความจำเป็นเลย (มีก็ดี ไม่มีก็ไม่ได้เสียหายอะไร) 

ที่บอกว่าตัวเร่งระยะสั้นแทบไม่มีความจำเป็น เช่น หากมีตัวเร่งระยะสั้นให้บริษัทมีกำไรเพิ่มขึ้นมาสัก 30% หากนำมาเฉลี่ยบนการลงทุนระยะยาวเช่น 10 ปี 15 ปีแล้ว จะส่งผล 2-3 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น แต่หากเห็นว่าไม่มีตัวเร่งระยะสั้นแล้วเลือกที่จะไม่ลงทุน ในบริษัทแบบนี้ ก็กลายเป็นว่า อาจจะเสียโอกาสที่มากกว่านี้เยอะมาก 

หลักการลงทุนลักษณะนี้ เป็นการโฟกัสมุ่งเน้นไปที่เหตุที่ส่งผลต่อธุรกิจในระยะยาว ให้มีการเติบโตต่อเนื่อง ค่อนข้างจะเหมาะกับการลงทุน ในแบบที่ชอบอยู่กับตัวเองเป็นหลัก ไม่ต้องอาศัยพรรคพวกเพื่อนฝูงมากมายช่วยกันค้นหา "ตัวเร่ง" 

มันเป็นแนวการลงทุนที่พึ่งตนเองเป็นหลัก อาศัยใจที่สงบค่อยๆค้นหา ไม่ต้องเร่งรีบแก่งแย่ง ธรรมดาที่บริษัทที่มี "ตัวเร่ง" ย่อมเป็นที่หมายตา ส่งผลให้ราคาสูงชั่วคราว เข้าช้าก็จะได้ของแพง แน่นอนว่ามันไม่ใช่การลงทุนแบบใจร่มๆ 

ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความชอบ ขึ้นอยู่กับจิตใจที่รักการแข่งขันของนักลงทุนแต่ละคน นักลงทุนไม่น้อยที่ชอบการลงทุนที่ตื่นเต้นหวือหวามากกว่าการลงทุนที่เนิบๆ อย่างไรก็ตามการเลือกหลักการลงทุนที่เข้ากับจริตของตนเองจะดีที่สุด

**********

หลักเกณฑ์ในการคัดเลือกหุ้นในการลงทุนนั้นมีหลากหลายวิธี 
- บ้างชอบหุ้นวัฏจักร ซึ่งในบ้านเรานั้นหุ้นวัฏจักรก็ค่อนข้างจะเป็นกลุ่มใหญ่ไม่ว่าจะเป็นพลังงาน ปิโตรเคมี เดินเรือ สินค้าเกษตร 
- บ้างก็ชอบหุ้นเติบโต ที่มีสตอรี่ ที่มี catalyst การมีสตอรี่ที่เป็นตัวเร่งเพื่อให้เป็นจุดสนใจ 
- บ้างก็เน้นแต่หุ้นปันผล บริษัทมั่นคงมากๆปันผลสูงๆโดยไม่สนใจการเติบโตมากนัก

แต่วิธีนึงที่เราคิดว่ามั่นคงมีความเสี่ยงต่ำและได้การเติบโตควบคู่กันไปด้วยในการลงทุนระยะยาว คือวิธีที่ใช้หลักการนี้ 
- มองหาหุ้นมั่นคง ในที่นี้หมายถึงต้องมีหนี้สินที่ไม่สูง เพื่อที่จะสามารถผ่านวิกฤตไปได้โดยไม่ต้องเพิ่มทุน อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนผู้ถือหุ้นควรจะต่ำกว่า 1.8 เท่า
- มีการเติบโตที่มากกว่าอัตราเงินเฟ้อ อย่างน้อยควรมีการเติบโต โดยเฉลี่ยอย่างน้อยที่สุดมากกว่า 3-4% ขึ้นไป ในส่วนนี้ก็เพื่อให้แน่ใจว่าในระยะยาวแล้วความมั่งคั่งของบริษัทจะเพิ่มมากขึ้น นั่นหมายถึงราคาหุ้นในระยะยาวอยู่ในแบนด์ที่เป็นขาขึ้น หากไม่ซื้อราคาสูงจนเกินไปการเติบโตนี้จะเป็นตัวที่ทำให้ การลงทุนระยะยาวมีโอกาสขาดทุนต่ำ
- มีทรัพย์สินของบริษัทรองรับราคาอยู่พอสมควรในจุดนี้เราพรีเฟอร์ที่ค่า PB ต่ำกว่า 1.6 เท่าเนื่องจาก 1.6 เท่านี้เป็นค่า PB ของ SET INDEX ดังนั้นการที่เราจะซื้อหุ้นที่มีทรัพย์สินมารองรับเราก็ไม่ควรจะซื้อแพงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาด และควรดูว่าไม่แพงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมควบคู่กันไปด้วย 
- เมื่อหาหุ้นที่เข้าหลักเกณฑ์ข้างต้นได้แล้ว ก็ยังมีจุดอ่อนตรงที่เราไม่รู้ว่าต้องรออีกนานแค่ไหนตลาดถึงจะเห็นคุณค่าของหุ้นตัวนี้ การรอโดยที่ไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเลยมันทำให้ใจเสียได้ มันส่งผลต่อ mindset แน่นอนหากต้องรอนานๆโดยยังไม่ได้ผลตอบแทนอะไรคืนมาเลย เพื่อเป็นการปิดจุดอ่อนในจุดนี้จึงควรเลือกหุ้นที่มีเงินปันผลมากกว่า 3% ขึ้นไป อย่างน้อยที่สุดอัตรานี้ก็ยังสูงกว่าการฝากเงินธนาคาร ทำให้ใจร่มมากขึ้นในการรอคอย ให้ตลาดเห็นถึงมูลค่าของหุ้นที่เราถือ 

แน่นอนว่าการเลือกหุ้นด้วยหลักการเหล่านี้ย่อมจะทำให้เราพลาดอุตสาหกรรมที่กำลังร้อนแรงในตลาด เพราะอุตสาหกรรมที่ร้อนแรงนั้นมักจะไม่ผ่านเกณฑ์เหล่านี้ 

การคัดเลือกหุ้นเหล่านี้เข้าพอร์ต จะต้องแน่ใจว่ามีความใจเย็นมากพอที่จะถือหุ้นในระยะยาวได้มากกว่า 3 ปีขึ้นไป (ถ้าหากตัวบริษัทไม่มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่แย่ลงอย่างถาวร) 

แม้จะไม่มีใครสามารถการันตีถึงความสำเร็จได้ทั้ง 100% ก็ตาม แต่หลักการเหล่านี้ช่วยลดความเสี่ยงลงได้มาก

วิธีการเหล่านี้เป็นเพียงหนึ่งในวิธีการคัดหุ้นจากหลายๆวิธี แต่ส่วนตัวคิดว่าน่าจะเป็นวิธีการพื้นฐานที่นักลงทุนควรจะต้องรู้จักและใช้ให้เป็น

และแน่นอนว่าหากสามารถหาหุ้นที่มีตัวเลขต่างๆดีกว่าหลักเกณฑ์เหล่านี้ได้มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเป็นเรื่องที่ดีขึ้นมากเท่านั้น

********
เมื่อไหร่ก็ตามที่เผลอทำให้การลงทุน กลายเป็นกิจกรรมที่ไม่ต้องใช้ความคิด ให้ระวังให้ดี

*******
ต้องระวังผู้บริหารที่รู้อยู่แก่ใจว่าการตัดสินใจนั้นส่งผลเชิงลบต่อนักลงทุนแต่ก็ยังจะทำ 

และต้องระวังผู้บริหารที่พยายามจะรายงานข้อมูลทางการเงินของบริษัทในรูปแบบที่ไม่สอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของบริษัท

*********

แนวทางลงทุนในหุ้นปันผล ควบคู่กับอสังหา โดยอย่างน้อยต้อง
-มีเงินต้น (ถ้าไม่มีเงินต้นก็ลงทุนไม่ได้)
-ความรู้ในการลงทุนประมาณนึง
-สนใจลงทุนในคอนโด

สมมติ มีเงินต้น 2ลบ และเข้าใจการลงทุนระยะยาวในหุ้นปันผล และต้องการซื้อคอนโดให้เช่า(สมมติคอนโดราคา 2ลบ)

ถ้าคนที่ไม่คิดอะไรมากก็จะซื้อด้วยเงินสดที่มี แล้วปล่อยเช่า

คอนโดราคา 2 ลบ สมมติได้ค่าเช่า 9,000 บ ต่อเดือน ปีนึงจะได้ 90,000 บ (หัก คชจ 2 เดือน)

แทนที่จะซื้อด้วยเงินสด ก็เป็นซื้อด้วยเงินกู้แล้วนำเงินสดที่มีไปซื้อหุ้นปันผล ที่ราคาไม่หวือหวาและ หาที่ได้ปันผลสัก 6% (มีหลาย บ.) เงินต้น 2ลบ ดาวน์คอนโด 20% เหลือเงิน 1.6 ลบ

นำเงินต้นที่เหลือ 1.6 ลบ ลงทุนในหุ้นปันผลได้ เงินปันผล 96,000 ต่อปี

***เท่ากับตอนนี้ฝั่งรายได้ ได้ค่าเช่าคอนโด 90,000 + เงินปันผล 96,000 = 186,000 ต่อปี (จากเงินต้นทั้งหมด 2 ลบ)

ฝั่งเงินกู้ ที่กู้ซื้อคอนโดราคา 2 ลบ จ่ายดาวน์ไปแล้ว 20% (สี่แสนบาท) เป็นเงินกู้แบงค์ 1.6 ลบ

เงินกู้ทุกๆ 1 ลบ ที่ ดบ 6% ผ่อน 30 ปี จะต้องผ่อนจ่ายเดือนละ 6,000 บ โดยประมาณ

***เงินกู้ 1.6 ลบ ต้องผ่อนธนาคารเดือนละ 9,600 บ เท่ากับปีละ 115,200 บ นี่คือฝั่งรายจ่าย 

ยังจำฝั่งรายได้ ได้ไหม ย้อนกลับขึ้นไปดูที่ทำดอกจันไว้ ฝั่งรายได้รวม 186,000 ต่อปี

เท่ากับจะเหลือเงินปีละ 70,800 บ ต่อปี

โอเค ก็จะมีคำถามประมาณว่า แล้วหากคนเช่าไม่เต็มหล่ะ ไม่มีคนเช่าหล่ะ ก็จะมีเงินจำนวนนี้เป็น Buffer 70,800 เทียบกับค่าเช่าห้อง ด.ละ 9,000 เท่ากับมี Buffer 7-8 เดือน (มีกันชนทางการเงิน)

หากมีเงินทุนมากกว่านี้ ก็คำนวณเป็นทวีคูณกันไป

อีกจุดนึงคือฝั่งเงินกู้ธนาคารส่วนใหญ่แล้วมักจะมีโปรโมชั่น โดย 3 ปีแรกอัตราดอกเบี้ยจะถูกเป็นพิเศษ เช่น 2% , 1.5% อะไรก็ว่าไป มันจะทำให้ 3 ปีแรก ฝั่งรายจ่ายน้อยกว่าที่คำนวณไว้ ทำให้ไม่น่ากลัวถ้าหากในช่วง 3 ปีแรกมีผู้เช่า น้อยกว่าที่คำนวณ เท่ากับเป็น Buffer ที่สอง

ที่เล่านี่คือเป็นหลักการ การคิดโดยคร่าวๆ หากลงทุนทำจริงๆมันก็จะพบในรายละเอียดปลีกย่อย มีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย ที่เราสามารถ ที่จะปรับปรุง แต่งเติมการลงทุนของเราให้ดีขึ้นได้อีก

จะลงทุนต้องมีเงินต้น ถ้าไม่มีเงินต้นก็คือไม่มีทุน จะเรียกว่าการลงทุนไม่ได้

**********

การลงทุนเน้นคุณค่าคล้ายกับการซื้อแบงค์ร้อยในราคา 70 บาท มันคือการหาบริษัทที่มีราคาต่ำกว่ามูลค่าอย่างมีนัยยะ
*****
พยายามวิเคราะห์โอกาสในการลงทุนด้วยตัวเองฟังความเห็นการลงทุนจากแหล่งต่างๆแต่นำมาวิเคราะห์เพื่อหาคำตอบด้วยตัวเอง พยายามสะสมหุ้นดีๆแต่ไม่มากตัวจนติดตามไม่ไหว
*****
การมีทัศนคติต่อการลงทุนที่ถูกต้องนั้นเป็นสิ่งสำคัญพอๆกับความมีวินัย

*********

ซื้อเพราะบริษัทมีความได้เปรียบในการแข่งขัน ขายเมื่อความได้เปรียบนั้นหมดไป

ซื้อเพราะมีโอกาสการลงทุนที่ดี ขายเมื่อการลงทุนอื่นมีโอกาสที่ดีมากกว่า 

ซื้อเพราะเป็นไปตามหลักการ ขายเมื่อรู้ตัวว่าทำผิดพลาดไปหรือคิดได้ว่าไม่ควรลงทุนแต่แรก

*********

หมั่นวัดความก้าวหน้าของการลงทุนเปรียบเทียบกับเกณฑ์การลงทุนของตนเองเสมอ

นักลงทุนที่ไม่มีหลักการของตนเอง ย่อมหาจุดซื้อ จุดขายไม่เจอ

*****
คนที่ไม่อดทน คนที่ใจร้อน คนที่ต้องการเห็นผลของการลงทุนแบบทันทีทันใด มักจะมีปัญหากับการลงทุนในแนวทางของ value investing (mindset ไม่ได้)
*******

เพื่อกำไรสุทธิหนึ่งบาทต่อปี เคยคำนวนไหมว่าจะยอมจ่ายเงินสูงสุดเท่าไร

**********

ในตลาดกระทิงคนที่ไม่กลัวจะเคาะขวาเพราะมีความเชื่อมั่นว่าราคาหุ้นจะขึ้นต่อได้และจะมีคนยินดีที่จะซื้อหุ้นต่อในราคาที่สูงขึ้น แต่ท้ายที่สุดแล้วมูลค่าคือสิ่งสำคัญ และคนที่ถือหุ้นราคาสูงคนสุดท้าย คือคนที่จะขาดทุน

*********
ความผิดพลาดที่พบเห็นได้บ่อยคือการมองข้ามความเป็นวัฏจักรของหุ้นโดยคิดว่ามันจะดีเหมือนปัจจุบันตลอดไป

******
เข้มงวดในหลักการกระบวนการในการค้นหาการลงทุน เพื่อให้เจอการลงทุนที่มีผลตอบแทนสูงกว่าค่าเฉลี่ย และเฝ้าดูบริษัทอย่างใกล้ชิด ให้เหมือนตอนที่ค้นหา

******
นักลงทุนที่ไม่มีหลักการของตนเอง ย่อมหาจุดซื้อ จุดขายไม่เจอ
**********

ความเข้าใจในงบการเงินจะทำให้ มีความอดทนมากขึ้นในการถือหุ้น

*********
การลงทุนเพื่อสร้างฐานะ ทุกคนมีเงินลงทุนจำกัด มีเวลาในการลงทุนจำกัด

ทัศนคติการลงทุนที่ถูกต้องคือ ลงทุนบนความเสี่ยงต่ำ แต่มีโอกาสได้ผลตอบแทนที่หักลบกับความเสี่ยงแล้วสูง (risk adjust return) 

ทัศนคติที่ว่า เสี่ยงสูง ผลตอบแทนสูง นั้นเป็นทัศนคติของนักพนัน ไม่ใช่นักลงทุน

*********
ทุกคนล้วนเคยทำผิดพลาดไม่ว่าจะเป็นคนฉลาดหรือคนโง่ แต่ต่างกันตรงที่คนฉลาดเรียนรู้จากความผิดพลาดส่วนคนโง่นั้นไม่
********
ต้องรู้ตั้งแต่ก่อนจะซื้อหุ้น ว่าจะขายเมื่อไรบ้าง และเมื่อซื้อแล้วก็แค่รอจนกว่าเหตุผลนั้นจะเกิดขึ้น
*********

หลักการขายจะประมาณ นี้

หุ้นมั่นคงเติบโตต่ำ ปันผลสูง ซื้อเมื่อราคาต่ำกว่ามูลค่ามากพอสมควร มีส่วนเผื่อความปลอดภัยสูง
- ขายเมื่อราคาเต็มมูลค่า
- ขายทันทีที่พื้นฐานกิจการเปลี่ยนไปในทางที่แย่ลงอย่างถาวร
- ขายเมื่อพบโอกาสอื่นที่ดีกว่า

หุ้นมั่นคงที่มีการเติบโตพอประมาณ ซื้อเมื่อราคาต่ำกว่ามูลค่า มีส่วนเผื่อความปลอดภัยพอสมควร 
- ขายเมื่อราคาสูงกว่ามูลค่า
- ขายเมื่อพื้นฐานกิจการเปลี่ยนในทางแย่ลงอย่างถาวร
- ขายเมื่อพบเจอโอกาสอื่นที่ดีกว่ามาก

หุ้นเติบโต ซื้อที่ราคาเหมาะสม การเติบโตจะเป็นส่วนเพื่อความปลอดภัยให้เอง 
- ขายเมื่อการเติบโตลดลงอย่างชัดเจนต่อเนื่องถาวร
- ขายเมื่อพบเจอโอกาสอื่นที่ดีกว่ามาก

แน่นอนว่าจะเป็นการขายโดยไม่มอง sunk cost 

#ขาย

********

ประโยชน์ของการมีเงินคือทำให้สามารถซื้ออะไรก็ได้ที่อยากได้ แต่ไม่ได้แปลว่าพอมีเงินแล้วจะต้องเปลี่ยนนิสัยให้กลายเป็นคนฟุ่มเฟือย หรือมีรสนิยมหรูหรา เงินแสดงนิสัยดั้งเดิมของคนให้เด่นชัดขึ้น

คนประหยัดตอนไม่มีเงินก็ดูไม่ออกว่าประหยัดหรือเป็นเพราะไม่มีเงิน แต่พอมีเงินเขาก็ยังประหยัดเหมือนเดิมทำให้เห็นได้ชัดว่าแม้จะมีเงินแต่มีนิสัยเป็นคนประหยัดไม่ฟุ่มเฟือย 

คนไม่มีเงินที่มีนิสัยฟุ่มเฟือย เขาก็ฟุ่มเฟือยไม่ได้เพราะมันไม่มีเงิน แต่พอมีเงินเขาจะแสดงนิสัยแห่งความฟุ่มเฟือยออกมาให้เห็นอย่างเด่นชัด ว่าเป็นคนฟุ่มเฟือย 

เงินไม่ได้เปลี่ยนนิสัยคน แต่เงินช่วยแสดงนิสัยดั้งเดิมให้เด่นชัดยิ่งขึ้น

*****

การลงทุน/การซื้อหุ้น คือการเอาเงินของตัวเองไปให้คนอื่นดูแล ดังนั้นอย่าลืมที่จะดูบุคลิกนิสัยของผู้บริหาร และมอบหน้าที่นี้ให้กับคนที่สามารถไว้วางใจได้เท่านั้น

ถ้าผู้บริหารชอบทำตัวเป็นเจ้ามือ ปั่นลากทุบเพื่อกินเงินนักลงทุนรายย่อย คุณจะไว้ใจผู้บริหารเหล่านี้ให้ดูแลเงินของคุณได้หรือ

********
เวลาเลือกหุ้นสำหรับลงทุน เราชอบที่จะเลือกเพื่อให้ เราไม่ต้องเดาอนาคตของ บ.มากเกินไป

การที่จะไม่ต้องเดาอนาคตของ บ.นั้นทำให้เราต้อง
- มองหาบ.ที่มีอดีตที่ค่อนข้างสม่ำเสมอ 
- ปัจจุบันของ บ.ไม่เปลี่ยนไปชนิดกระทันหัน
- บ.อยู่ในอุตสาหกรรมที่ไม่เปลี่ยนแปลงเร็วมากนัก

- บ.ที่มีการเติบโตได้ดีต่อเนื่องจากอดีตมาถึงปัจจุบัน และเทรนด์ในอนาคตยังไม่เปลี่ยนแปลง

หากเลือกบริษัทได้ตามนี้ ก็ยอมที่จะคาดหวังในภาพรวมได้ว่าบริษัทจะยังสามารถดำเนินธุรกิจด้วยปัจจัยแบบเดิมและเติบโตได้ดีต่อเนื่องไปในอนาคต โดยที่ไม่ต้องกังวลว่าบริษัทจะมี "ตัวเร่ง" หรือไม่

ถ้าเราเลือกองค์ประกอบต่างๆของบริษัทให้ดีเข้าไว้ และเลือกบริษัทลักษณะนี้หลายๆตัวเข้าพอร์ต โอกาสจะเจอบริษัทที่มีอนาคตเปลี่ยนแปลงไปในทางที่แย่ลงจะมีน้อย ภาพรวมของพอร์ตจะถูกพยุงด้วยบริษัทที่ดี เมื่อบริษัทไหนที่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่แย่ลง เราก็คัดออก หาตัวใหม่ทดแทน

สุดท้ายแล้วในพอร์ตก็จะถูกพยุงด้วย บริษัทที่ดีและมั่นคงในระยะยาวได้ ทำให้สามารถลงทุนระยะยาวได้อย่างสบายใจ ไม่ต้องคอยหาบริษัทที่มี catalyst อยู่ร่ำไป

******""

ในกิจการที่มี margin ดี การออก W จะเป็นสิ่งที่ไม่คุ้มค่าเลย เพราะถ้ากิจการมี ROI ที่สูง แล้วต้องการเงินทุนหมุนเวียนเพิ่มการกู้ยืมเป็นทางออกที่ดีที่สุดเนื่องจากจ่ายเพียงดอกเบี้ย 

บริษัทที่จะออก warrant มันอาจหมายถึง 
- มีหนี้สินในระดับสูงไม่สามารถกู้ยืมเพิ่มเติมได้แล้ว 
- ผลประกอบการมี ROI ที่ต่ำ ไม่คุ้มค่ากับการจ่ายดอกเบี้ย 
- ต้องการพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจ 

ภาพรวมคือ บ.ที่ออก W จะเป็นภาพที่แย่ในสายตาเรา (นลท แต่ละคนไม่จำเป็นต้องคิดเหมือนเรา) 

W มันคือการเพิ่มทุนอย่างหนึ่งที่สุดท้ายแล้วจะทำให้มีจำนวนหุ้นเพิ่มมากขึ้น 

จำนวนหุ้นที่เพิ่มมากขึ้นมันหมายถึง ตัวหารกำไรที่มากขึ้นด้วย กำไรต่อหุ้นก็จะถูกเจือจางลง

******
FTD : SET +1.x% OR MORE AND BIGGER VOLUME THAN PREVIOUS DAY

DD : SET -0.2% OR MORE AND VOLUME HIGHER THAN PREVIOUS DAY, DD 5-6 DAYS IN 4-5 WEEK ENOUGH TO TURN MARKET DECLINE

*****
ตลาดให้อิสระกับเราทุกอย่างไม่ว่าจะ อยากลงทุนเมื่อไหร่ อยากเข้าตลาดตอนไหนเวลาไหน เข้าตลาดไหน ซื้อหุ้นอะไร ซื้อที่ราคาไหน อยากขายเมื่อไหร่ อยากขายที่ราคาไหน อยากขายด้วยเหตุผลอะไร แม้แต่อยากขายเพราะเบื่อ 

ทุกอย่างตัวเราคือคนตัดสินใจ

ดังนั้นเวลาเราเสียเงินต้องยอมรับว่าเกิดจากการผิดพลาดในบางอย่างของเราเอง

หาความผิดพลาดนั้นให้เจอแล้วแก้ไข

การหาความผิดพลาดจะเป็นเรื่องง่ายถ้ามีหลักการตั้งแต่แรก เปรียบเสมือนการวางของให้เป็นระเบียบ พออะไรที่ผิดที่ผิดทาง ก็หาจุดผิดพลาดได้ง่ายทำให้แก้ไขได้ง่ายขึ้น

การแก้ไขจุดผิดพลาดทีละจุดนี่แหละที่สุดท้ายแล้วจะทำให้ข้อผิดพลาดค่อยๆหมดไป

**********

ถ้าเลือกบริษัทที่ดีพร้อมแล้ว
ไม่ว่าจะเป็นฐานะทางการเงิน ความเชี่ยวชาญของผู้บริหาร ความเชี่ยวชาญของทีมงาน ทรัพยากรที่มีอย่างเพียงพอในการประกอบธุรกิจ มีประวัติการสร้างผลงานที่ดีมาต่อเนื่อง มีความสามารถในการแข่งขันสูง ผู้บริหารให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ของนักลงทุน รวมถึงมีเป้าหมายการเติบโตในอนาคตที่ดีและชัดเจน 

สิ่งที่ต้องทำต่อจากนี้ คือควรถือหุ้นให้แน่นๆรอให้เป็น อย่าไขว้เขวไปกับเศรษฐกิจภาพรวมที่อาจจะมีขึ้นๆลงๆบ้าง 

ภาพรวมของเศรษฐกิจนั้นอาจจะมีกระทบกับทุกบริษัทมากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันไป แต่ในบริษัทที่มีความพร้อมอย่างที่กล่าวมานั้น จะสามารถรับมือกับเศรษฐกิจที่ลุ่มๆดอนๆชั่วคราวได้ รวมถึงพร้อมที่จะเติบโตไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วเมื่อเศรษฐกิจเอื้ออำนวย 

บางครั้งการใส่ใจในรายละเอียดกับผลการดำเนินงานที่โดนกระทบจากเศรษฐกิจภาพรวมมากเกินไป จะทำให้พลาดโอกาสที่ดีในระยะยาว

*********

การคิดที่จะหาเงินง่ายในตลาดหุ้น รับรองได้เลยว่าในระยะยาวจะต้องผิดหวังเสมอ ตลาดหุ้นเป็นที่รวมของคนเก่ง คนขยัน รวมถึง นลท รายใหญ่ และกองทุนต่างๆ ที่มีความพร้อมอย่างมาก พร้อมที่จะเก็บเกี่ยวผลกำไรจากอนาคตที่ดีของบริษัทและ เก็บเกี่ยวผลกำไรจากความผิดพลาดของ Player ทุกคนในตลาด 

ดังนั้นแวดวงนี้ การหาความรู้เป็นเรื่องสำคัญมาก อย่าคิดทำกำไรง่ายๆ จากความมักง่าย ซึ่งมันไม่มีกระเด็นเหลือมาถึงคนมักง่ายอย่างแน่นอน อาจฟลุ๊คบ้าง แต่สุดท้ายคนมักง่ายจะต้องจ่ายคืนให้ตลาดหนักกว่าที่ได้รับมาเสมอ