วันอาทิตย์ที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2557

เส้นอัตราผลตอบแทน (Yield Curve)

เส้นอัตราผลตอบแทน 

เส้นอัตราผลตอบแทน (Yield Curve)

          การวิเคราะห์อัตราผลตอบแทนมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการลงทุนในตราสารหนี้   เนื่องจากอัตราผลตอบแทนและราคาของตราสารหนี้นั้นมีความสัมพันธ์กันอย่างเป็นระบบ เมื่ออัตราผลตอบแทนหรือ Yield ในตลาดมีการเปลี่ยนแปลงก็จะส่งผลให้เกิดความผันผวนของราคา ซึ่งจะส่งผลต่อการตัดสินใจและการวางกลยุทธ์ในการลงทุน ในขณะที่ผู้ออกตราสารหนี้ก็สามารถใช้ประโยชน์จากเส้นอัตราผลตอบแทน ในการพิจารณาต้นทุนการออกตราสารหนี้ของตนเปรียบเทียบกับเส้นอัตราผลตอบแทน 

          • เส้นอัตราผลตอบแทน (Yield Curve) คืออะไร      

          เส้นอัตราผลตอบแทน หรือ ที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า Yield curve คือ เส้นที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างอัตราผลตอบแทนกับอายุคงเหลือ (Time to maturity)  ของตราสารหนี้  แต่ละจุดบน Yield curve จะบอกให้เราทราบว่า  อัตราผลตอบแทน หรือ Yield ที่ตลาดต้องการสำหรับตราสารหนี้แต่ละช่วงอายุเป็นเท่าไร  โดยปกติเราจะใช้อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาล ณ ช่วงอายุต่างๆ มาสร้างเป็น เส้นอัตราผลตอบแทนที่ปราศจากความเสี่ยงของการผิดนัดชำระหนี้ ที่เรียกว่า Risk-free yield curve ซึ่งเป็นอัตราผลตอบแทนพื้นฐานที่สามารถนำไปใช้คำนวณอัตราผลตอบแทนสำหรับตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงต่างๆได้       

          เส้นอัตราผลตอบแทนที่ ThaiBMA จัดทำและเผยแพร่ คือ ThaiBMA Government bond yield curve โดยจะเผยแพร่ในเวลาประมาณ 16.00 น. ของทุกวันทำการ และถือเป็นข้อมูลพื้นฐานที่ตลาดตราสารหนี้นำไปใช้อ้างอิงและใช้กันอย่างแพร่หลาย โดยสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในงานต่างๆ เช่น การกำหนดอัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรและหุ้นกู้เพื่อจำหน่ายในตลาดแรก การใช้เป็นเครื่องมือการคำนวณเพื่อหามูลค่ายุติธรรมในการบันทึกบัญชี   รวมทั้งเพื่อเป็นข้อมูลในการตัดสินใจดำเนินนโยบายและกลยุทธ์การลงทุน 

          • รูปร่างของเส้นอัตราผลตอบแทน         

          ปัจจัยทางเศรษฐกิจต่างๆ  เช่น ภาวะเงินเฟ้อ นโยบายทางการเงินของรัฐบาล สภาพคล่องในระบบการเงิน มีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของเส้น Yield curve และจะทำให้ Yield curve มีรูปร่างที่แตกต่างกันไปในแต่ละช่วงเวลา โดยรูปร่างของ Yield curve สามารถแบ่งออกเป็น 4 รูปแบบดังนี้ 

1. แบบปกติ (Normal yield curve or Upward sloping yield curve) มีลักษณะเป็นเส้นลาดชันขึ้นจากซ้ายไปขวา  คือ Yield ของพันธบัตรที่มีอายุคงเหลือสั้นจะต่ำกว่า Yield ของพันธบัตรที่มีอายุคงเหลือยาว  แสดงให้เห็นว่า ผู้ลงทุนต้องการผลตอบแทนที่สูงขึ้นเมื่อลงทุนในตราสารหนี้ที่มีอายุยาวขึ้น  ซึ่งเป็นเรื่องปกติ  เราจึงเรียกว่าเส้นอัตราผลตอบแทนแบบนี้ว่า  แบบปกติ 

2. แบบลาดลง (Inverted yield curve or Downward sloping yield curve) มีลักษณะตรงข้ามกับแบบปกติ คือ เป็นเส้นกราฟลาดลงจากซ้ายไปขวา พันธบัตรที่มีอายุคงเหลือยาวจะมีอัตราผลตอบแทนต่ำกว่าพันธบัตรที่มีอายุสั้น ซึ่ง Yield curve ลักษณะนี้จะพบเมื่อตลาดคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยในตลาดมีแนวโน้มลดลง  2. แบบลาดลง (Inverted yield curve or Downward sloping yield curve) มีลักษณะตรงข้ามกับแบบปกติ คือ เป็นเส้นกราฟลาดลงจากซ้ายไปขวา พันธบัตรที่มีอายุคงเหลือยาวจะมีอัตราผลตอบแทนต่ำกว่าพันธบัตรที่มีอายุสั้น ซึ่ง Yield curve ลักษณะนี้จะพบเมื่อตลาดคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยในตลาดมีแนวโน้มลดลง 

3. แบบหลังเขา (Humped yield curve)  เส้นจะลาดชันขึ้นจากซ้ายไปขวาและวกต่ำลงเมื่ออายุคงเหลือของตราสารหนี้เพิ่มขึ้น  

4. แบบแบนราบ (Flatted yield curve) เป็นลักษณะของอัตราผลตอบแทนที่เท่ากันทุกช่วงอายุของตราสารหนี้ 


ที่มา : ThaiBMA