วันอังคารที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2567

หลักคิด 45

 


รายได้ขึ้นอยู่กับ 

- การศึกษา 

- IQ และ EQ ของแต่ละบุคคล

- อุปนิสัย ความขยัน ความใส่ใจต่องาน ความมุ่งมั่น 

- โชค เช่น อาจมีจังหวะที่ดีผ่านเข้ามาแล้วสามารถคว้าไว้ได้ 

- การเตรียมความพร้อม การจะคว้าโชคไว้ได้ก็ต้องมีการเตรียมตัวให้พร้อมเสมอ

- หลายคนมีรายได้สูงแต่ใช้จ่ายเกินตัว ก็ไม่เหลือเหมือนกัน 


ไม่ได้แปลว่า ต้องมีแต่ละปัจจัยครบในคนที่ประสบความสำเร็จ แต่ต้องมีแบบลงตัว บางคนมีด้านนึงน้อยแต่อีกด้านนึงมากจนชดเชยกันได้  มันก็ลงตัวได้


@@@@@@


ตรรกะการลงทุน แนวคิดการลงทุนที่เราชอบมากที่สุด คือการมองหาสินทรัพย์ใดก็ตามที่มีการเติบโตต่อเนื่องและมีมูลค่าเพิ่มขึ้นได้ในอนาคต และระหว่างทางที่รอก็มีดอกเบี้ยหรือเงินปันผล ในปริมาณที่มากพอ หมายถึงอย่างน้อยประมาณซัก 3% ขึ้นไป 


แล้วถือสินทรัพย์นั้นระยะยาวเป็นปีๆ เพื่อรอมูลค่าเพิ่มขึ้น โดยที่ระหว่างทางที่รอก็ได้รับดอกเบี้ยหรือเงินปันผลเป็นผลตอบแทนรายปีไปด้วย ความเครียดมันจะน้อยกว่ามานั่งเทรด 


ซึ่งสินทรัพย์เหล่านั้นจริงๆแล้วก็มีหลายอย่าง  ไม่ว่าจะเป็น บ้านให้เช่า คอนโดให้เช่า เพียงแต่อสังหาให้เช่านั้นค่าเช่าโดยมากมักจะไม่เกิน 3-4% และต้องเสียเวลาในการดูแลและจัดการ แต่มีข้อดีคือ เงินต้นมักจะไม่หาย


แต่ที่เราชอบมากที่สุดก็น่าจะเป็นหุ้นปันผลที่มีการเติบโต   และล่าสุดก็เป็นพวกกองทุนพันธบัตร เพราะจะได้เงินปันผลในอัตราที่น่าพอใจระหว่างที่รอมูลค่ามันเพิ่มขึ้น 


สำหรับกองทุนพันธบัตรนั้นไม่ได้ซื้อได้เสมอไปในทุกช่วงเวลา  ช่วงจังหวะเวลาที่ดีที่สุดในการซื้อกองทุนธนบัตรคือช่วงเวลาที่ ธนาคารกลางสหรัฐกำลังจะเริ่มลดดอกเบี้ย เพราะมันจะเป็นจุดเริ่มต้นของมูลค่าหน่วยลงทุนที่เพิ่มขึ้นได้มากตามการลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ  ซึ่งแต่ละรอบกว่าเฟดจะเข้าสู่รอบขึ้นดอกเบี้ยหรือลดดอกเบี้ยนั้นแต่ละรอบจะใช้เวลาสี่ถึงห้าปีเป็นอย่างน้อยตามรอบวัฏจักรเศรษฐกิจ


พูดง่ายๆคือโอกาสดีๆแบบนี้ใช้เวลานานหลายปีกว่าจะมีสักครั้งหนึ่ง 


และโดยมากธนาคารกลางสหรัฐมักจะชอบให้การลดดอกเบี้ยหรือขึ้นดอกเบี้ยเป็นไปในทิศทางเดียวกันต่อเนื่อง  เพราะการลดดอกเบี้ยแล้วกลับลำมาขึ้นดอกเบี้ยแล้วต้องกลับลำมาลดดอกเบี้ยอีกรอบ  มันหมายถึงมุมมองที่ผิดพลาดต่อเศรษฐกิจของตัวธนาคารกลางสหรัฐเอง  คือ ถ้าทำงานพลาดแล้วเสียหน้านั่นเอง


@@@@@@@@@



เราพูดถึงกองทุนพันธบัตร เราชอบยกตัวอย่าง TLT  ซึ่งจริงๆแล้วก็มีกองทุนอื่นๆอีก เช่น BLV TMF แต่ในที่นี้จะยกตัวอย่างเป็น TLT ละกัน

ตามรูปจะเห็นว่ารอบขาขึ้นรอบที่แล้ว ของราคาหน่วยลงทุน TLT ใช้เวลาประมาณ 10 ปีมูลค่าหน่วยลงทุนเพิ่มขึ้นมาประมาณ 100%  (คิดเป็น IRR ที่ประมาณ 7%)

นี่ยังไม่รวมเงินปันผลระหว่างทางที่ได้ประมาณปีละ 3-4% (ถ้าคำนวนเป็น IRR จะได้มากกว่านี้เพราะเป็นเงินที่ทยอยรับทุกปี)

สรุป คำนวณแบบคร่าวๆ ผลตอบแทนของกองทุนพันธบัตรรอบที่ผ่านมาในอดีต แบบเฉลี่ยอยู่ที่ 13% ต่อปีเป็นระยะเวลาต่อเนื่อง 10ปี (หรือ หากคำนวณแบบ IRR คือประมาณ 10% ต่อปีเป็นเวลาต่อเนื่อง 10ปี)

ส่วนกองทุนอื่นๆก็อาจจะแตกต่างกันไปตามอายุของพันธบัตรที่กองทุนนั้นถือครอง 

เมื่อเทียบความเสี่ยง  ระหว่างกองทุนพันธบัตร กับหุ้น และผลตอบแทนแล้ว ต้องถือว่าผลตอบแทนของกองทุนพันธบัตรต่อความเสี่ยงถือว่าดีกว่าหุ้นหลายตัวเลยทีเดียว ถ้าหากเข้าซื้อกองทุนพันธบัตรได้ถูกจังหวะ

แน่นอนว่ากองทุนพันธบัตรก็มีความผันผวนไม่ต่างจากหุ้น  แต่มันไม่มีทางที่มูลค่าจะกลายเป็นศูนย์ ไม่ต้องกังวลว่าจะเจอผู้บริหารที่ไม่ดียักยอกเงินบริษัท ไม่ต้องคาดเดาทิศทางต่างๆของบริษัท ไม่ต้องกลัวพลาดซื้อหุ้นปั่น โดนรายใหญ่หรือเจ้ามือลากทุบหุ้น ไม่ต้องอ่านงบการเงินของบริษัทอีกด้วย 😄

@@@@@@@@@@

ฟังเรื่องเล่ามา 

ปู่คนนึงหลังเกษียณมีเงินพันกว่าล้าน เอามาเล่นหุ้น อยู่ในตลาดมาไม่น้อยกว่า 20 ปี เล่นแต่หุ้นปั่น หุ้นที่มีข่าววงใน อาศัยว่ามีคอนเน็คชั่นเยอะ  ไม่เคยซื้อหุ้นปันผลเลย แล้วก็คงจะลงทุนหุ้นปันผลไม่เป็น จะกลับแล้วมาลงทุนในหุ้นปันผลก็ทำไม่เป็นแล้ว  ตลาดหมีรอบที่ผ่านมาพอร์ตติดลบหลายร้อยล้าน ประกอบกับอายุมากเครียดจนต้องเข้าโรงพยาบาล 

อาม่าอีกคนนึง หลังเกษียณมีพอร์ตทุนพันกว่าล้านเหมือนกัน ทำงานเกี่ยวข้องกับตลาดหุ้นมาตลอด ซื้อหุ้นปันผลเต็มไปหมด ในพอร์ตมีแต่หุ้นปันผล อายุใกล้เคียงกับคุณปู่คนข้างบน  แต่อาม่าแกไม่ค่อยดูพอร์ตหุ้นแล้ว ดูแค่เงินปันผลที่เข้าบัญชี เฉลี่ยต่อเดือนไม่ต่ำกว่าห้าล้านบาท สิ่งที่แกดูมากที่สุดในตอนนี้ก็คือวันวันจะกินอะไรดี ตลาดหมีที่ผ่านมาหน้าทุเรียนพอดี แกคงจะกินเยอะไปหน่อย น้ำตาลขึ้นไปเกือบ 300 อยู่ รพ เหมือนกัน 

แล้วคุณล่ะอยากสร้างพอร์ตหุ้นแบบไหน ???

@@@@@@&&

หุ้นที่เป็นอัพเทรนด์ที่ดี ที่แข็งแรง ที่นำตลาดตัวจริง มักจะไม่ขอโอกาสจากคุณ มีแต่คุณที่ต้องรีบไปคว้าโอกาสจากมัน 

หุ้นที่ราคาขึ้นมาแล้วย่อลงมาจนหลุด stop จนคุณต้องให้โอกาสมันเพิ่มขึ้น นั่นไม่ใช่หุ้นนำตลาดตัวจริง หรืออาจจะกำลังหมดเทรนด์แล้ว

@@@@@@@@ 

หลังจากการขายหุ้นเพื่อตัดขาดทุน แล้วราคาหุ้นกลับวิ่งขึ้น เรื่องแบบนี้เกิดกับผมเป็นพันๆครั้ง แล้วผมก็ไม่ได้รู้สึกโง่ หรือรู้สึกโกรธแต่อย่างใด - Mark Minervini

@@@@@@@@@gmail.com

สำหรับการลงทุน แต่เดิมการกำหนดสัดส่วนสถานะหุ้นต่อพอร์ตรวมมักจะกำหนดเป็นเปอร์เซ็นต์เท่าๆกัน  แต่สามารถพิจารณาสัดส่วนของหุ้นในพอร์ตอาจแบ่งตามสถานะของตัวหุ้น เช่น

- หุ้นที่ราคาต่ำกว่ามูลค่า มีปันผลสูง หนี้สินต่ำมีความมั่นคงสูง มีการเติบโตปานกลาง สมมุติให้มีสถานะสัดส่วนอยู่ในพอร์ตที่ 10-15% ของพอร์ตรวม

- หุ้นที่ราคาพอๆกับมูลค่า มีหนี้สินปานกลางถึงสูง มีการเติบโตสูง มีปันผลต่ำ หากอยากจะนำเข้าพอร์ตอาจจะกำหนดสัดส่วนอยู่ที่ 5 ถึง 8% ของพอร์ตรวม  เพราะแม้จะมีการเติบโตสูงแต่ก็มีความเสี่ยงในด้านอื่นที่สูงกว่า ไม่ว่าจะเป็นราคาที่ไม่ได้มีส่วนเผื่อความปลอดภัย หรือ บ.มีหนี้สินที่สูงขึ้นมา 

การจัดพอร์ตลักษณะนี้มันจะค้านกับความโลภของคน  เพราะหลายครั้งที่เราเห็นหุ้นเติบโตสูงเราก็อยากจะเพิ่มสถานะของหุ้นตัวนั้นให้มาก แต่ลืมไปว่ามันมาพร้อมกับความเสี่ยงที่สูง การเพิ่มสถานะเข้ามาในพอร์ตมาก ก็แปลว่าแบกรับความเสี่ยงที่สูงมากตาม 

การจัดพอร์ตให้หุ้นมีสัดส่วนต่อพอร์ตรวมตามสถานะของตัวหุ้นนั้นเป็นการควบคุมความเสี่ยงของพอร์ตรวมไม่ให้สูงมากเกินไป 











วันเสาร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2567

หลักคิด 44

 


เรื่องของอนาคตไม่มีใครสามารถรู้ล่วงหน้าได้ ดังนั้นหลักการของคุณต้องสอดคล้องกับความเป็นจริงข้อนี้แล้วทำให้คุณได้เปรียบ


หลักการต้องสอดคล้องกับความจริงที่ว่า  อะไรก็เกิดขึ้นได้  และไม่จำเป็นต้องรู้ล่วงหน้าว่าจะเกิดอะไรขึ้น ก็สามารถที่จะสร้างผลตอบแทนได้


เช่น 


การลงทุน ซื้อหุ้นในราคาที่ต่ำกว่ามูลค่ามากพอ เป็นธุรกิจที่ดีมีการเติบโต  มีผู้บริหารที่ดี จ่ายเงินเงินปันผลในอัตราที่ดีทุกปีต่อเนื่อง ถ้าแบบนี้ได้เงินปันผลทุกปี บนตลาดที่เหมาะสมแก่การลงทุน ระหว่างรอ ที่เหลือก็แค่รอวันดีๆ ให้ราคาหุ้นพุ่งขึ้นอย่างที่ควรจะเป็นตามธุรกิจที่ดีที่เติบโตบนตลาดที่เติบโต


หรือสำหรับเทรดเดอร์ ไม่ใช่เทรดบนการคาดเดา แต่เป็นการเทรดบนหลักการที่มีอัตรากำไรต่อขาดทุนที่มากกว่าหนึ่งเท่า โดยอาศัยตลาดที่เอื้ออำนวย และการเลือกหุ้นของบริษัทที่เอื้ออำนวย เลือกบริษัทที่มีการเติบโตที่ดี


@@@@@@@@@


เวลาตลาดมันลง มันจะลงจนกว่า ผู้แพ้จะยอมศิโรราบทั้งหมด หุ้นจะคืนสู่มือเจ้าของตัวจริงจนครบจำนวน ตลาดหมีถึงจะยอมจากไป ผู้แพ้มักคิดว่าทนได้ ทนไหว แต่เชื่อเถอะ ผู้แพ้จะฝืนใจตัวเองไม่ไหว และจะยอมศิโรราบในที่สุด 


เมื่อผู้แพ้คนสุดท้ายยอมขายหุ้น  เมื่อนั้นแหละตลาดหมีถึงจะยอมจากไป


@@@@@@@@@@


ต้องรู้ว่าตลาดมีความผันผวนเอาแน่เอานอนไม่ได้ ดังนั้นจะต้องมีหลักยึด ไม่ว่าจะการเทรดหรือการลงทุนก็แล้วแต่ 


ต้องค้นหาหลักการ ที่มั่นใจอย่างแท้จริง และต้องเชื่อมั่นในหลักการนั้น  แล้วลงมือให้สอดคล้องกับหลักการนั้นด้วยความมั่นใจ 


อย่าปล่อยให้อารมณ์กลัวจากความไม่แน่นอนของตลาดเอาชนะจิตใจได้ เพราะมันจะส่งผลให้ action อย่างสะเปะสะปะ และทิ้งหลักการไป


จะต้องโฟกัสไปยังข้อมูลที่ช่วยระบุโอกาสในการทำกำไร  ไม่ใช่โฟกัสไปที่ความกลัวการขาดทุนที่ตลาดพยายามจะมอบให้



@@@@@@@@@


ต้องไม่ลืมว่านักลงทุนในตำนานของโลกแทบทุกคน ลงทุนในตลาดที่มีการเติบโตต่อเนื่อง ลงทุนในตลาดที่มีการเติบโตเป็นอย่างดี ไม่ใช่ลงทุนในตลาดที่มีแต่จะหดตัว หรือเติบโตต่ำ


แล้วอะไรใช้ในการดูตลาด  ว่าจะสามารถเติบโตได้ดีเติบโตต่อเนื่องหรือไม่ 


โดยหลักการแล้วก็คงจะเป็นจีดีพีของประเทศ  ถ้าประเทศมีจีดีพีที่เติบโตดี นั่นก็หมายถึงบริษัทต่างๆมีโอกาสเติบโตได้ดีด้วยเช่นกัน



@@@@@@@@@


ในการลงทุน ต้องใช้ความอดทน หากคุณประเมินความอดทนของคุณไว้มากเท่าไหร่ เวลาลงมือจริงให้หารสองไว้เสมอ 


เพราะคนเรามักจะประเมินความอดทนของตัวเองสูงกว่าความเป็นจริงไปมาก


ส่วนรูปนั้นไม่เกี่ยว  แค่เอามาให้ดูเฉยๆว่ามันเข้ากันดี 🤣🤣🤣



@@@@@@@@


ตอบก่อนซื้อหุ้น


1. หุ้นที่จะซื้ออยู่ในรายชื่อเฝ้าดูที่ผ่านการตรวจสอบงบการเงิน ตรวจสอบความน่าเชื่อถือของ ผบห แล้วหรือไม่


2. จุดซื้อเป็นไปตามหลักการหรือไม่ ถ้าใช่มันคือจุดไหน


3. ถ้าราคาหุ้นวิ่งไปตามที่คาด จะขายเมื่อไร เพราะเหตุผลอะไร


4. ถ้าราคาหุ้นวิ่งในทิศตรงกันข้ามจะทำอย่างไร จุด stop อยู่ตรงไหน เพราะอะไรถึงใช้จุดนั้นในการ stop


5. การซื้อครั้งนั้น คิดเป็นมูลค่าเท่าไรของพอร์ตรวม ทำไมถึงใช้สัดส่วนนั้น


6. จากราคาที่ซื้อ ถึงจุด stop จะขาดทุนกี่ % คิดเป็นเงินเท่าไร คิดเป็นอัตราส่วนต่อพอร์ตรวมเท่าไร



@@@@@@@@@@


เหตุผลในการซื้อหุ้นมีหลายแบบ ขึ้นอยู่กับมายด์เซ็ทของนักลงทุน ว่าเข้ากันได้กับแบบไหน


- ซื้อที่ราคาต่ำกว่ามูลค่า พยามซื้อให้ราคาต่ำที่สุด แบบนี้


ข้อดีคือได้ของต่ำกว่ามูลค่าเวลาราคาหุ้นกลับตัวจะได้กำไรค่อนข้างมาก 


ข้อเสีย ราคาหุ้นอาจจะไหลลงต่อ การพยายามซื้อที่ราคาต่ำสุดนั้นอาจจะเป็นการเข้าไปรับมีด เนื่องจากราคาที่ไหลลงแปลว่าต้องมีเหตุการณ์บางอย่างที่ไม่ดี ซึ่งหลายครั้งเหตุการณ์นั้นมักยืดเยื้อ กว่าราคาจะกลับตัวขึ้นมามักใช้เวลานานมาก

- ซื้อหุ้นที่ราคาเหมาะสม การซื้อแบบนี้มักจะซื้อเมื่อราคาผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วและกลับตัวมาแล้วพอสมควร จนราคาค่อนข้างจะเต็มมูลค่าณเวลาปัจจุบันนั้น แต่ซื้ออนาคต ซื้อการเติบโตในอนาคตเข้ามาชดเชย


- ซื้อโดยไม่สนใจเรื่องมูลค่า แต่พุ่งเป้าไปที่แรงซื้อหลักที่ถาถมเข้ามาในราคาที่แสดงออกในกราฟ การซื้อแบบนี้แม้จะซื้อ ในขาขึ้นของปัจจุบันก็ตามแต่ความเสี่ยงก็คือ มักจะเป็นราคาที่เกินมูลค่าไปพอสมควร หากแหล่งซื้อหดหายหรือมีเหตุการณ์มากระทบให้กลายเป็น Bear  มีโอกาสขาดทุนหนัก ดังนั้นจึงต้องมีสต็อปลอสเป็นสำคัญ


- ซื้อที่ราคา All time high การซื้อที่จุดนี้ว่ากันตามเทคนิคแล้วคือไร้แนวต้าน ราคาจะแพงกว่ามูลค่าค่อนข้างมากๆ แต่มันมีหลักคิดคือ หุ้นทุกตัวที่จะรันเทรนด์ของราคา ขึ้นไปตามการเติบโตของธุรกิจอย่างต่อเนื่องได้ยาวนานนั้นหุ้นทุกตัวจะต้องทำ All time high เสมอ นั่นหมายถึงหุ้นที่ทำ All Time high ในส่วนที่ไปต่อได้มีโอกาสจะรันได้ยาว ส่วนที่ไปต่อไม่ไหวมีโอกาสขาดทุนอย่างหนัก ดังนั้นการซื้อแบบนี้ต้องมีสต็อปลอสเป็นสิ่งสำคัญมาก 



@@@@@@


เวลาคัดเลือกหุ้นด้วยปัจจัยพื้นฐานได้แล้วเห็นหุ้นในราคาที่มีส่วนลดอย่างมีนัยสำคัญแล้ว


จุดซื้อก็เป็นเรื่องสำคัญเพราะในช่วงที่ราคามีส่วนลดอย่างมีนัยยะนั้นไม่ได้แปลว่า เป็นจุดซื้อที่ดีที่สุดในทุกช่วงราคา


คงไม่มีใครชอบ ที่ซื้อแล้วราคาร่วงต่อไปอีก 15%  20%


ดังนั้นสิ่งสำคัญ คือ

- การบริหารเงิน เช่นการแบ่งไม้ซื้อ 

- การใช้กราฟช่วย เพื่อหาจุดซื้อที่ดีที่สุด ซื้อแล้วราคาจะไม่ลงต่อ หรืออาจจะลงต่อไม่มากแล้ว


การหาจุดซื้อที่ดีปัจจัยพื้นฐานบอกได้แค่โดยประมาณ  แต่บางทีมันไถลลึกลงไปได้ 20 ถึง 50% 


เรื่องนี้กราฟเท่านั้นที่จะช่วยได้


ดังนั้น แม้จะเป็นนักลงทุน แม้จะลงทุนด้วยปัจจัยพื้นฐาน แต่การอ่านกราฟให้เป็น การมองกราฟให้ออก ก็เป็นเรื่องสำคัญ 


กราฟช่วยระบุถึง  แรงซื้อ แรงขาย ปริมาณหุ้น กราฟช่วยระบุถึงความต้องการในตัวหุ้น ไม่ว่าจะต้องการซื้อหรือต้องการขาย ซึ่งปัจจัยพื้นฐานไม่สามารถบ่งบอกได้


ดังนั้นนักลงทุนที่มีความรู้ทั้งการอ่านงบการเงินในแง่ปัจจัยพื้นฐานต่างๆของบริษัท และทั้งมีความรู้ด้านกราฟเทคนิคอล ก็ย่อมจะได้เปรียบ


ไม่ได้หมายถึงการใช้งบการเงินแต่เพียงอย่างเดียวจะลงทุนไม่ได้  แต่การรอบรู้มากขึ้นก็ย่อมจะได้ประโยชน์ที่มากขึ้น


แต่แน่นอนว่าต้องลำดับความสำคัญให้ถูกด้วย หาหุ้นด้วยปัจจัยพื้นฐาน คือหัวใจหลัก 


ส่วนกราฟนั้นเป็นเพียงใช้เพื่อหาจุดซื้อที่ดีเท่านั้น 


หลายหลายครั้งพอใช้กราฟไปนานๆเข้า ก็จะเกิดการไขว้เขวแล้วใช้กราฟเป็นหลัก ซื้อหุ้นทุกตัวแม้กระทั่งหุ้นปั่น  อันนี้คือเริ่มหลงทาง


@@@@@@@@


ช่วง 5 ปีแรก ที่เริ่มเล่นหุ้น ปีที่ซื้อหุ้นแล้วพอร์ตโตปีละ 70% 40% และ 30% มันง่ายมากๆเลย เพราะ


- สมัยนั้นเงินในพอร์ตไม่ใช่ทรัพย์สินทั้งหมดที่มี จริงๆแค่ส่วนน้อย

- ทำให้กล้าลงทุนแบบสุ่มเสี่ยงได้ โดยไม่เคยมองถึงความเสี่ยง 

- ประกอบกับโชคดีที่รอดมาได้ 

- แน่นอนว่าถ้าลงทุนแบบเสี่ยงสูงแล้วรอดมาได้ ผลตอบแทนย่อมมาก

- แต่โชคจะไม่ได้มีอยู่ตลอดไป และยังดีที่มองเห็นความเสี่ยงจึงทำให้ค่อยๆปรับเปลี่ยนวิธีการ

- ถ้าผลตอบแทนได้ระดับนั้นตลอดจริง คงรวยมหาศาล เก่งกว่า ปู่บัฟเฟตต์ หรือ ปีเตอร์ ลินซ์ เป็นนักลงทุนระดับโลกไปแล้ว 


แต่ความจริงคือ เราโง่เขลาเบาปัญญา มืดบอด หลงคิดว่าเพราะฝีมือ แต่ความจริงแค่โชคดี 


เปรียบเสมือน คนตาบอดที่เดินบนสะพานไม้แผ่นเดียว ที่พาดระหว่างตึก แล้วรอดมาได้ แล้วกล้าโอ้อวด 


ยิ่งมองย้อนหลัง ยิ่งเห็นว่า เคยกระจอกทางความคิดมากแค่ไหน 😆