วันอังคารที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2566

หลักคิด 32

 หุ้นที่จะกินเงินรายย่อยแบบฟาดฟัน มักจะมีท่าประจำแนวๆนี้ อย่างใดอย่างนึง หรือหลายอย่างร่วมกัน


- มีหนี้สินสูงๆ แต่มีขาดทุนสุทธิ


- มีข่าวตื่นเต้นให้เล่น


- ตกแต่งบัญชี แต่งยอดขายรายได้ พวกนี้มักไม่ปันผลเพราะกำไรเป็นเงินสดไม่มีอยู่จริง


- ท่าประจำ ท่าไม้ตาย ที่เห็นบ่อยที่สุดก็คือ ลากราคาสูงปรี๊ด เพราะการลากราคาสามารถดึงรายย่อย ให้สนใจและแห่เข้าตามได้มาก และเป็นท่าที่กินเงินรายย่อยได้ง่าย


- มีมาร์เก็ตแคปไม่ใหญ่จนเกิน ทำให้สามารถคอนเนอร์หุ้นได้ง่าย


*********


3 มุมที่ต้องตรวจดูก่อนจะซืัอหุ้น

- คุณภาพของ บริษัทว่ามั่นคงแค่ไหน

- การเติบโต บริษัทมีโอกาสเติบโตแค่ไหน

- ราคาหุ้นขณะที่จะซื้อ สมเหตุสมผลไหม


ถ้ามี 2/3 อาจพอลงทุนได้

แต่ถ้ามี 3/3 นับได้ว่าเป็นโอกาสทอง แต่จะมองเห็นโอกาสไหม นี่คือจุดสำคัญ


********

ก่อนที่จะเกิดปรากฏการณ์ตลาดหุ้นพังทลาย มันจะต้องเกิดภาวะฟองสบู่ก่อนทุกรอบ


ส่วนภาวะฟองสบู่จะค่อยๆก่อตัวจากความโลภและความอิจฉา


******


การลงทุนถึงแม้ไม่ใช่ง่าย แต่มันก็ไม่ได้ยากมากนัก


โดยหลักคือการ หาความรู้ หาข้อมูล และตัดสินใจอย่างมีเหตุผล


แต่โดยมาก  ขี้เกียจหาความรู้ ขี้เกียจหาข้อมูล ตัดสินใจด้วยอารมณ์


หากทำเช่นนี้แล้วเมื่อเกิดความเสียหายขึ้นก็คงต้องโทษตัวเอง

**********


การรับผิดชอบต่อตัวเองเป็นสิ่งสำคัญ หากตัดสินใจอะไรผิดพลาด ก็แค่ยอมรับมัน ไม่ใช่ตีโพยตีพายโทษนั่นโทษนี่


การไม่ยอมรับความผิดพลาด คือการปิดประตูที่จะพัฒนาตัวเอง 


เมื่อรู้และยอมรับว่าความผิดพลาดคืออะไรแล้วแก้ไข นั่นแหละคือการพัฒนาตนเอง


******


การจัดพอร์ตจะโฟกัสมากแค่ไหน ขึ้นอยู่กับความเสี่ยง ของหุ้นที่ซื้อ


ถ้าหุ้นตัวนั้นมีความมั่นคงสูงมีหนี้สินต่ำ มีโมเดลธุรกิจและสินค้าที่มี moat สูงและอยู่ในจังหวะที่ราคาต่ำมากจนมี margin of safety สูงมากๆ บนการประเมินอย่าง conservative แล้ว


การจัดพอร์ตแบบโฟกัสอาจเป็นเรื่องที่ดีกว่า


*********


หากมองภาพเศรษฐกิจมหภาพออก การลงทุนในพันธบัตร แม้ดอกเบี้ยจะน้อยนิด แต่สามารถได้ผลตอบแทนที่เหนือกว่าเงินเฟ้อโดยรวมได้ จากการเพิ่มขึ้นของ NAV 


แต่จะต้องมีการกระจายความเสี่ยง จัดสัดส่วนอย่างเหมาะสม และมองภาพใหญ่ให้ออก ดังนั้นกองทุนพันธบัตรอาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการจัดเอง


จังหวะการซื้อนั้นไม่ได้ซื้อได้ตลอดเวลา เพราะหวังที่การเพิ่มขึ้นของ NAV เป็นสำคัญไม่ใช่มองที่ดอกเบี้ยแต่เพียงอย่างเดียว


เหมาะสำหรับแบ่งเงินบางส่วนที่จะรอลงทุนในหุ้นในอนาคตหลายปีข้างหน้า ไม่เหมาะที่จะใช้เป็นการลงทุนหลัก


เช่น ถ้าได้อัตราดอกเบี้ยจากกองทุนพันธบัตรสัก 4.xx% และระยะยาวสมมติ 12 ปี ได้กำไรจาก NAV 50% (คิดเป็น irr 3.44%)


เท่าจะได้ผลตอบแทนทบต้นที่ 4.xx% + 3.44% = 7.44% บนความเสี่ยงที่ต่ำ


อย่างไรก็ตามด้วยอัตราผลตอบแทนที่ต่ำกว่า 10% จึงไม่เหมาะที่จะเป็นการลงทุนหลัก


แต่สำหรับการจัดสรรเงินในระยะยาว 10 ปีข้างหน้า ก็อาจจะใช้กองทุนพันธบัตรเป็นทางเลือกในการพักเงินได้ ประเด็นหลักคือต้องมองภาพ Macro Economic ให้ออก ถึงจะสามารถหาผลตอบแทนจากพันธบัตรได้อย่างที่ว่า


*******


การคัดเลือกหุ้น ให้ปลอดภัยจากการทำงบการเงินฉ้อฉล

- เลือก บ.ที่มีหนี้สินต่ำ (สำคัญมาก)

- มีการจ่ายปันผลอย่างต่อเนื่อง

- ตรวจสอบลูกหนี้การค้าจะต้องไม่มากผิดปกติ

- ระยะเวลาในการเก็บหนี้ไม่พุ่งพรวดแบบผิดปกติ

- บริษัทก่อตั้งมานาน ดำเนินการมานาน ไม่ใช่เทคโอเวอร์ หรือ Back door มา (ไม่ได้บอกว่าบริษัทที่เทคโอเวอร์มาจะฉ้อฉลเสมอไป แต่ บ.ที่ก่อตั้งมาเองตั้งแต่ต้นและดำเนินการมานานจนเติบใหญ่ได้ เจ้าของจะรักกิจการมาก ทำให้โอกาสในการฉ้อโกงลดลง)

- เจ้าของ/ผบห อยู่ในธุรกิจเดิมมานานพอสมควร (ช่วยลดการเข้ามาฉาบฉวยชั่วคราวแบบคิดสั้นได้)

- ธุรกิจที่ติดต่อและมีรายได้ รายจ่ายกับ บ.ต่างประเทศ ต้องระวังให้มากเป็นพิเศษ

- ต้องระลึกเสมอว่า บ. ที่ขายสินค้าให้ ตปท สามารถ ตั้ง บ.นอมินี มาสั่งซื้อสินค้า เพื่อสร้างยอดขายเทียม, ทำโปรโมชั่นให้ซัพพลายเออร์สั่งสินค้าเพิ่มชั่วคราว เพิ่มสตอก ดังนั้นหากจะลงทุนใน บ.เหล่านี้ ต้องมั่นใจว่าสามารถเช็คยอดขายของ บ.ได้จริง ถ้าไม่มั่นใจ ให้เลี่ยงไว้ก่อนจะปลอดภัยกว่า


- บ.ที่ค้าขายในประเทศ จะตรวจสอบได้ง่ายกว่า ทั้งสินค้าว่าขายดีตามยอดในงบไหม เป็นที่นิยมจริงไหม ถ้าสินค้าไหนที่ไม่ถนัดในการตรวจสอบของจริง เลี่ยงได้ย่อมปลอดภัยกว่า


แน่นอนว่าเกณฑ์เหล่าจะทำให้พลาดไปหลาย บ. แต่ก็จะลดความเสี่ยงลดได้มากเช่นกัน


ทุกอย่างมี trade off กันไป


เกณฑ์การคัดเลือกต่างๆเหล่านี้ช่วยลดความเสี่ยงลงได้มากแม้จะไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ก็ตาม


***********


ทำไมบริษัทที่ทุจริตต้องปลอมยอดขายปลอมรายได้ให้สูง 

เพราะ เมื่อปลอมยอดขายแล้วก็จะทำให้ตัวเลขกำไรดูดีขึ้น ได้เครดิตเรทที่สูงขึ้น ซึ่งสามารถนำตัวเลขไปใช้

- ออกหุ้นกู้

- กู้เงินธนาคาร

- ออกหุ้นเพิ่มทุน

- สร้างราคาหุ้น


*******


เราทุกคนมีอคติเป็นของตัวเองเสมอ


*********


ถ้าคุณซื้อคอนโดห้องนึง ในราคาตลาด สมมติ ซื้อมาราคา 5 ลบ ปล่อยเช่าได้ผลตอบแทน 4% (ได้ค่าเช่าปีละ 200,000 บ)


แล้ววันนึงข้างห้องคุณ ร้อนเงิน ต้องการจะขายในราคา 4 ลบ โดยที่มีคนเช่าห้องอยู่และได้ค่าเช่าปีละ 200,000 เหมือนกัน


คุณต้องรีบไปขายแข่งกับข้างห้องในราคาขาดทุนไหม ???


หรือจะซื้อห้องข้างๆในราคา 4 ลบ แล้วเก็บค่าเช่าต่อที่ปีละ 200,000 มาถัวกับห้องเดิม ที่ราคา 5 ลบ ได้ค่าเช่าปีละ 200,000


นี่คือความสำคัญของเงินปันผล ที่จะทำให้คุณ อดทนได้นาน และเงินปันผลเปรียบเสมือน ฝนที่โปรยปราย ให้ฉุ่มฉ่ำหัวใจ ในยามที่ตลาดหุ้นแผดเผาเหมือนแดดที่ร้อนแรง


ปล. แต่ถ้าคุณซื้อ w มันไม่มีปันผลนะะะ 😆ร

**********


เงินปันผลไม่ได้บอกถึงรายได้หรือยอดขาย บางปีที่บริษัทมีรายได้ตกต่ำ อาจเพิ่ม Dividend payout ratio ทำให้การจ่ายเงินปันผลดู smooth ได้


******


ถ้าเกณฑ์คัดเลือกหุ้นของคุณเข้มงวดมาก คุณก็สามารถลงทุนแบบโฟกัสได้


แต่ถ้าเกณฑ์คัดเลือกหุ้นของคุณเป็นแบบหลวมๆ คุณก็ควรจะกระจายความเสี่ยงให้มาก


******


ถ้าคุณซื้อหุ้นได้ในราคาต่ำกว่ามูลค่าและมีปันผลที่ดี เมื่อหมีมา การขาดทุนจากราคาหุ้นจะเป็นเรื่องชั่วครว


แต่ถ้าคุณซื้อหุ้นในราคาที่ลอยสูงจากมูลค่าไปมาก การขาดทุนของคุณจะกลายเป็นเรื่องถาวร


********


สัญญาณอย่างหนึ่งที่บอกว่าภาวะตลาดกระทิงใกล้จะสิ้นสุดแล้วคือมีการเสนอขายหุ้น ipo ของบริษัทขนาดเล็กจำนวนมาก ในราคาที่สูงกว่า หุ้นของบริษัทขนาดกลาง ที่มีประวัติยาวนานและอยู่ในตลาดอยู่แล้ว


********


ในบางบริษัทที่มีหนี้สินต่ำ แล้วดูเหมือนสภาพคล่องทางการเงินต่ำ (เช่น ดูจากอัตราส่วนทางการเงินต่างๆ) อาจเป็นเพราะ นำเงินสดไปลดหนี้ โดยบริษัทอาจพิจรณาแล้วว่าการคงสภาพคล่องไว้สูงอาจไม่มีความจำเป็นในขณะนั้น สู้ไปลดหนี้ดีกว่าจะได้ลด คชจ ดอกเบี้ย และเพิ่มกำไร


แต่บริษัทที่น่ากลัวคือ บริษัทที่มีสภาพคล่องต่ำแต่มีหนี้สินสูงมาก


การดูอัตราส่วนทางการเงิน ไม่ใช่ดูแต่ตัวเลขเดี่ยวๆ โดยไม่พิจารณาด้านอื่นเลย จะทำให้พลาดโอกาส หรือเกิดความเสียหายได้



******


คำพูดเย้ยบอกว่า “ไม่ขายไม่ขาดทุน” นั้น มีความจริงอยู่ครึ่งนึงและความเท็จอยู่ครึ่งนึง 


ถ้าซื้อหุ้นได้ในราคาที่ต่ำกว่ามูลค่า การขาดทุนก็จะเป็นเรื่องชั่วคราวไม่ขายก็ไม่ขาดทุน


หากซื้อหุ้นในราคาที่สูงกว่ามูลค่าไปมาก การขาดทุนจะกลายเป็นเรื่องถาวร ไม่ขายไม่ขาดทุนจึงเป็นเรื่องไม่จริง


*****


นักลงทุน ยังจำความกังวลใจแบบหนักใจสุดๆ ที่เพิ่งเป็นเมื่อวานกันได้อยู่ไหม


ลองเอะใจ แล้วถามตัวเอง ความกังวลใจเมื่อวานที่เกี่ยวกับหุ้นที่ถือ ที่มีคำถามเกี่ยวกับบริษัทผุดขึ้นมามากมายในหัว  ทำไมวันนี้มันหายไปไหน ทั้งๆที่บริษัทก็ไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงและเพิ่งผ่านมาแค่ข้ามวันเท่านั้น


ตลาดหุ้นที่ลงต่อเนื่องมา 7-8 วัน มันส่งผลต่อความคิดและอารมณ์ของเราอย่างไร


ตลาดที่บวกเขียวเกือบยี่สิบจุดเพียงวันเดียว มันส่งผลต่อความคิดและอารมณ์ของเราอย่างไร


******


คนที่ตัดสินใจอย่างมีเหตุผล ได้อย่างคงเส้นคงวาในทุกเหตุการณ์ ในที่สุดแล้วย่อมไปถึงเป้าหมาย


******


อเมริกามีธนาคารเยอะมาก นั่นเป็นสาเหตุให้มีธนาคารล้ม ในช่วงที่มีวิกฤติเศรษฐกิจ


เวลาธนาคารล้มถ้าหากรัฐบาลไม่เข้ามาอุ้ม  คนที่เจ็บตัวก็คือประชาชน แต่ถ้าหากรัฐบาลเข้ามาอุ้ม ก็ใช้ภาษีจากประชาชนอยู่ดี


แนวทางที่ดีคือ ไม่จำเป็นต้องมีจำนวนธนาคารมากเกินไป แต่ต้องมีความแข็งแกร่งสูงมาก


จำนวนธนาคารยิ่งมากยิ่งแข่งขันกันสูง เมื่อแข่งขันกันสูงก็จะเกิด ความเสี่ยงสูงมากตาม นั้นทำให้ สุดท้ายแล้วเวลาเกิดวิกฤติธนาคารก็จะล้ม


บางทีคนที่ไม่เข้าใจระบบเศรษฐกิจ คิดไปว่าธนาคารมีการแข่งขันสูงแล้วจะดี


ยิ่งแข่งขันกันสูงเท่าไหร่เงินฝากของประชาชนก็จะยิ่งมีความเสี่ยงมากขึ้นเท่านั้น


ระบบธนาคารไม่เหมือนระบบการค้า การค้ามีการแข่งขันสูงเป็นเรื่องดี หากล้มไปก็ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับประชาชน


แต่ ระบบธนาคารมีเงินฝากประชาชน ที่ต้องดูแลให้ปลอดภัยเป็นเรื่องสำคัญ


หัวใจหลักของธนาคารคือเงินฝากของประชาชนทุกคนจะต้องมีความปลอดภัยสูงสุด


ไม่ใช่ทำให้ธนาคารมีการแข่งขันสูงสุดแล้วเงินฝากของประชาชนมีความเสี่ยงสูงตาม


เพราะถ้าเป็นแบบนั้นวันดีคืนดี เงินเกษียณเงินบำนาญที่ฝากอยู่กับธนาคารหายไปทั้งก้อน จากแบงค์ล้ม ประชาชนก็จะเดือดร้อนกันทั้งประเทศ


****


JKN คาดว่าจะเสนอขายหุ้นกู้ ดอกเบี้ย 7-7.5% หุ้นกู้ไม่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ

จากงบ 1Q66

- หนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย ประมาณ 6,183 ลบ

- หนี้สินรวม 7,560.55 ลบ

- ส่วนของผู้ถือหุ้น 3,914.08 ลบ

- หนี้สินหมุนเวียน 3,897.46 ลบ

- สินทรัพย์หมุนเวียน 2,962.02 ลบ (เป็นลูกหนี้การค้าและลูกหนี้หมุนเวียน 1,958.20 ลบ)

- EBITDA 475.05 ลบ กลายเป็น เงินสดสุทธิจากกิจกรรมดำเนินงาน (-198.18) ลบ



***********


ตลาดหุ้นไทย ดัชนีไม่ค่อยไปไหนหลายปีแล้ว ดังนั้นการจัดพอร์ต  ส่วนตัวคิดว่าไม่ควรใช้เกณฑ์การลงทุนที่หยาบเกินไปแล้วกระจายความเสี่ยงหลายๆตัว 


เพราะการกระจายความเสี่ยงยิ่งมาก ก็จะได้ผลตอบแทนเข้าใกล้ดัชนี ซึ่งก็รู้กันอยู่ว่าดัชนีไม่ค่อยไปไหนไกล


ส่วนตัวชอบการลงทุนแบบโฟกัสมากกว่า โดยมีเกณฑ์ในการคัดหุ้นที่เข้มงวด แล้วถือหุ้นในพอร์ตน้อยตัว แล้วลงทุนยาวๆ ซึ่งจะสามารถเอาชนะดัชนีได้ไม่ยากนัก โดยที่ไม่เหนื่อยกับการเทรด


จะเรียกว่าพอร์ตคนขี้เกียจก็ได้  ครึ่งปีแทบไม่มีซื้อขายสักครั้ง ปีนึงอาจมีสับเปลี่ยนหุ้นไม่กี่ครั้ง


*******


เวลาภาพใหญ่ของตลาดไม่เอื้ออำนวย รายใหญ่และกองทุนต่างๆอยากจะลดพอร์ต ต้องการระบายของออก


ทางเดียวที่ทำได้ก็คือพยายามกระชากราคาหุ้นให้ดูน่าสนใจ เพื่อที่เทรเดอร์รายย่อยจะได้เข้ามาเล่น นั่นแหละจะเป็นจังหวะที่รายใหญ่และกองทุนสามารถค่อยๆรินของออกได้


********


ซื้อหุ้นเพื่อลงทุน ถืออย่างน้อยสามปีเพื่อให้บริษัทได้มีเวลาแสดงผลงาน แต่ก็ไม่ใช่ถือแบบหัวปักหัวปำไม่ดูอะไรเลย


ต้องคอยติดตามงบรายไตรมาส ว่าเดินตามเส้นทางที่เราได้คาดการณ์ไว้ หรือทำได้ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ 


หากงบรายไตรมาสมีความคาดเคลื่อนไปบ้าง  ก็ต้องตรวจดูสาเหตุ  ว่าเหตุการณ์นั้นจะมีผลกระทบต่อเนื่องในระยะยาวหรือไม่


*****


พยายามซื้อหุ้นที่ดีที่สุดเท่าที่โอกาสจะเอื้ออำนวย ปรับพอร์ตด้วยการคัดหุ้นที่ดีน้อยสุดในพอร์ตออก โดยกระบวนการนี้จะผ่านการกรองด้วยเรื่องราคา & มูลค่า รวมถึงพยายามอยู่ห่างจากหุ้นที่แย่ให้มากเอาไว้


******


ยึดมั่นในหลักการที่มีเหตุล

ทั้งในช่วงเวลาที่ดีและไม่ดี


*****


หน้าที่ของเรา คือบริหารจัดการการเงินของเรา เพื่อให้แน่ใจว่าจะยังเป็นผู้รอด เมื่อเกิดเรื่องไม่คาดฝัน


*****


สิ่งที่จะสร้างความเสียหายได้มาก คือสิ่งที่ทุกคนวางใจ สิ่งที่ไม่มีใครคิดถึงว่าจะกลายเป็นความเสียหายได้  ทำให้ไม่มีใครมีความพร้อมที่จะรับมือ


*****


สิ่งใดที่ถูกคาดการณ์ได้ สิ่งนั้นมักจะถูกป้องกันและถูกทำให้ความเสี่ยงลดลง


*****


หากทรัพย์สินใดที่กำลังอยู่ในความนิยม แล้วคุณต้องการจะเข้าไปมีส่วนร่วมด้วย ขอให้แน่ใจว่ามันเพิ่งจะได้รับความนิยม ก่อนที่จะเข้าไปมีส่วนร่วม


****


วิเคราะห์ธุรกิจ ลดความสนใจในความเคลื่อนไหวของราคาหุ้นในระยะสั้น


******


ตลาดหุ้นเป็นอะไรที่แปลก ยิ่งกระตือรือร้น ยิ่งใจร้อนอยากเร่งทำผลงานมากเท่าไหร่ ยิ่งมีโอกาสที่จะขาดทุนมากเท่านั้น 


ส่วนผลกำไรนั้นมักเป็นของคนที่อดทนได้ ใจเย็นและรอเป็น


อีกไม่นานงบก็จะออกแล้ว

เย็นให้พอ รอให้เป็น


*******


คนส่วนมากเลือกหุ้นถูกตัว เลือกหุ้นเป็น แต่ขาดทุนเพราะขาดความอดทนทั้งในตอนซื้อ ในตอนถือ และในตอนขาย


******


Holy Grail ของการลงทุน 

หาสินทรัพย์ที่ราคาต่ำกว่ามูลค่า  & ลงทุนโดยให้เวลาอยู่ข้างเดียวกับเรา

******

ถ้าคุณสามารถมองเห็นความผิดพลาดของตลาดได้ ก็เท่ากับคุณสามารถมองเห็นหนทางในการทำกำไรได้เช่นกัน


******

หุ้นเกือบทุกตัวที่เราซื้อแล้วมีกำไร เป็นหุ้นที่มันวิ่งเข้ามาหาเราเอง เป็นหุ้นที่มันวิ่งเข้ามาตรงกับหลักการของเราเอง ไม่ใช่หุ้นที่เราตั้งธงจะซื้อแต่แรก


*********


อดีตคือสิ่งที่เราไม่สามารถกลับไปแก้ไขได้ 


ตระหนักถึงสถานการณ์ในปัจจุบันให้มากหาความรู้หาข้อมูลให้มากเพื่อที่จะตัดสินใจได้ดีที่สุดให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันให้มากที่สุด นั่นคือสิ่งสำคั


********


การตีเบสบอลจะได้ผลลัพธ์ดีเมื่อเลือกตีเฉพาะจุดที่เข้ามาในโซนเท่านั้น แต่นักเบสบอลไม่สามารถรอเพื่อให้ลูกเข้ามาในโซนที่จะตีได้ตลอดเวลาเพราะหากปล่อยลูกให้เกิดการสไตรค์ติดกันสามครั้งก็จะถูกให้ออกจากสนาม


ในขณะที่นักลงทุนมีข้อได้เปรียบมากกว่า คือนักลงทุนไม่มีทางถูกเรียกออกจากสนาม พวกเขาสามารถปล่อยผ่านลูกเบสบอลไปได้ จนกว่าจะเห็นโอกาสที่ยอดเยี่ยมจริงๆเท่านั้น - วอร์เรน บัฟเฟตต์


*****


เหตุการณ์ของ STARK นั้น ไม่เพียงแต่ทำให้กองทุนที่ถือนั้นขาดทุน 


แต่ยังทำให้ผู้ถือหน่วยลงทุนเกิดความไม่ไว้ใจการบริหารกองทุนจนนำไปสู่การขาย/สับเปลี่ยน หน่วยลงทุน


ทำให้กองทุนต้องขายหุ้นอื่นๆออกมาเพื่อคืนเงินให้กับนักลงทุน เสมือนกองทุนเหล่านั้นโดน Force sell หุ้นต่างๆที่กองทุนถืออยู่

*****

การปล่อยผ่านการลงทุนที่อาจทำให้แพ้ มันป้องกันความเสียหาย แม้อาจจะทำให้พลาดการลงทุนที่ชนะไปบ้าง แต่มันก็คุ้มค่าเพราะยังมีการลงทุนที่ชนะอื่นๆให้เลือกลงทุนได้


******


ราคาหุ้นที่สูงขึ้นจะทำให้ผลตอบแทนลดลงและความเสี่ยงสูงขึ้น


******



ลงทุนระยะยาวมองข้ามความผันผวนระยะสั้น ถือเงินสดไว้เมื่อยังไม่มีโอกาสการลงทุนที่ดี อดทนให้มากรอให้นาน และลงทุนให้ไว ให้เต็มที่ เมื่อโอกาสมาถึง


*****



โอกาสการลงทุนที่ดีที่สุด คือเมื่อมีผู้ถือทรัพย์สินถูกบังคับขายในทุกราคา และในทุกวิกฤติจะมีผู้ถูกบังคับขายจำนวนมาก


******


หลายคนอาจเคยได้ยิน นักวิเคราะห์พูดคำว่า เบสิสพ้อยท์ แต่ไม่รู้ว่ามันคืออะไรกันแน่


มันคือ 

50 เบสิสพ้อยท์ เท่ากับ 0.50%

5 เบสิสพ้อยท์ เท่ากับ 0.05%


เค้าแค่พูดให้ฟังยากขึ้น จะได้ดูเท่ห์ 🤣